ผึ้ง : ราชินีของแมลง


ราชินี

 

มนุษย์รู้จักผึ้งและน้ำผึ้งมานานกว่า 7,000 ปีแล้ว ภาพวาดบนผนังถ้ำที่ Alto mira ในประเทศสเปนแสดงให้เห็นคนกำลังปีนต้นไม้เพื่อเอาไม้ตีรังผึ้ง และเก็บน้ำผึ้งใส่หม้อ กษัตริย์ Menes แห่งอียิปต์ ทรงโปรดให้ผึ้งเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งอาณาจักรของพระองค์ เพราะผึ้งช่วยผสมเกสรดอกไม้ ทำให้ผู้คนในแผ่นดินของพระองค์มีผลไม้บริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ และคนอียิปต์ก็รู้อีกว่านอกจากน้ำผึ้งจะมีคุณค่าทางอาหารแล้ว มันยังสามารถรักษาโรคบางชนิด และเป็นเครื่องสำอางได้ด้วย กษัตริย์โรมันในสมัยโบราณทรงโปรดปรานการดองศีรษะของศัตรูในน้ำผึ้ง เพราะน้ำผึ้งสามารถป้องกันของสดไม่ให้เน่าเปื่อยได้เป็นเวลานาน ประวัติศาสตร์ยังได้บันทึกอีกว่า ชาวอียิปต์เป็นชนชาติแรกที่รู้จักนำผึ้งมาเลี้ยง และจีนเป็นเอเชียชาติแรกที่รู้จักเลี้ยงผึ้งปัจจุบันคนไทยทั่วไป มักนึกถึงน้ำผึ้งเดือนห้า และรู้จักผึ้งในฐานะแมลงที่มีเหล็กในพิษ ซึ่งสามารถทำให้คนที่ถูกผึ้งต่อยรู้สึกเจ็บปวด ส่วนอีกหลายคนก็รู้ว่าผึ้งมีนิสัยรักสงบ ขยันทำงาน และสังคมผึ้งเป็นสังคมที่ไม่มีใครเอาเปรียบใคร เพราะอาณาจักรของมันมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ โดยไม่ต้องมีนายบังคับหรือสั่งให้ทำงานผึ้งที่พบในประเทศไทยมี 4 ชนิดคือ ผึ้งมิ้ม (Apis flora) หรือผึ้งแมลงวัน เพราะลำตัวผึ้งชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่าแมลงวันเล็กน้อย และมีนิสัยชอบดมของหวาน ท้องของผึ้งมิ้มเป็นปล้องสีดำสลับสีขาว ผึ้งชนิดที่สองคือผึ้งหลวง (Apis dorsata) ผึ้งชนิดนี้มีขนาดใหญ่ที่สุด และต่อยเจ็บที่สุด ท้องเป็นปล้องสีเหลืองสลับสีดำ ผึ้งหลวงผลิตน้ำผึ้งมากและชอบสร้างรังตามที่โล่งแจ้ง ส่วนผึ้งโพรง (Apis cerana) เป็นชนิดที่คนชอบนำมาเลี้ยงในหีบเลี้ยงผึ้ง มันมีขนาดเล็กกว่าผึ้งหลวง และชอบสร้างรังในโพรงไม้ และผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera) ซึ่งเป็นผึ้งที่มาจากยุโรปและแอฟริกา ผึ้งชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่าผึ้งโพรงเล็กน้อย และชอบสร้างรังในที่ทึบแสงเช่น ตามโพรงไม้มันสามารถหาน้ำหวานได้เก่ง แต่ไม่ดุร้ายเท่าผึ้งหลวงตามปกติผึ้งมักอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ในรัง โดยมีการแบ่งชั้นวรรณะ เป็นผึ้งนางพญา ผึ้งงาน และผึ้งตัวผู้ ในรังหนึ่งๆ จะมีผึ้งนางพญาเพียงตัวเดียวเป็นหัวหน้า ผึ้งนางพญามีขนาดใหญ่กว่าผึ้งงานหรือผึ้งตัวผู้ เพราะได้รับอาหารจากผึ้งงาน และมีผึ้งงานคอยปรนนิบัติรับใช้ หน้าที่หลักของผึ้งนางพญาคือวางไข่ ซึ่งตามธรรมดาจะวางได้ครั้งละตั้งแต่ 1,000-2,000 ฟอง ผึ้งนางพญามีอายุยืนประมาณ
2-3 ปี และขณะครองรังมันจะผลิตสาร pheromone ออกมาควบคุมความเป็นอยู่ และการทำงานของผึ้งทุกตัวในรัง ส่วนผึ้งงานนั้นมีขนาดเล็กกว่าผึ้งอีก 2 ชนิด และเป็นผึ้งเพศเมียที่ต้องทำงานตลอดชีวิต หน้าที่หลักของผึ้งงานคือซ่อมแซมรัง ทำความสะอาดรัง เป็นพี่เลี้ยงดูแลตัวอ่อนและทำงานก่อสร้างและพอมันมีอายุมากขึ้น ผึ้งงานก็จะทำหน้าที่ป้องกันรังเฝ้ายามและหาอาหารเช่น น้ำหวานจากดอกไม้ ในรังหนึ่งๆ อาจมีผึ้งงานมากถึงหมื่นตัว ผึ้งชนิดนี้จึงเป็นกำลังสำคัญของอาณาจักรผึ้ง และถึงแม้มันจะเป็นเพศเมีย แต่เมื่อมันมีรังไข่ที่เล็กเกินไป มันจึงไม่สามารถวางไข่ได้เหมือนผึ้งนางพญา ชีวิตของผึ้งงานนั้นสั้น คือประมาณ 7-8 สัปดาห์เท่านั้นเอง และผึ้งชนิดสุดท้ายคือผึ้งตัวผู้ ซึ่งไม่มีหน้าที่ใดๆ ในรังนอกจากจะผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญาเท่านั้นเอง ดังนั้น เมื่อมันได้กระทำภารกิจของมันเสร็จ ผึ้งงานก็จะหยุดป้อนอาหารมัน แล้วมันก็จะอดอาหารตาย การไม่มีเหล็กในทำให้มันต่อยไม่เจ็บ ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม เมื่อผึ้งนางพญารู้สึกว่าตนถึงวัยสืบพันธุ์ มันก็จะปล่อย pheromone ออกมาดึงดูดบรรดาผึ้งตัวผู้ ให้บินตามมันไปผสมพันธุ์กันกลางอากาศ ผึ้งตัวผู้ที่ได้ผสมพันธุ์แล้วจะหมดแรงตกลงมาตาย ตัวที่ไม่ได้ผสมพันธุ์ก็จะบินต่อไปจนหมดแรงหรือบางตัวก็หลงทาง ส่วนพวกที่บินกลับรังได้ก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่และถูกผึ้งงานไล่ออกจากรัง จนในที่สุดมันก็อดอาหารตายเพราะหาอาหารไม่เป็น
ศัตรูของผึ้งที่สำคัญได้แก่ มดแดงที่คอยจะแย่งน้ำหวาน ตัวต่อที่คอยโฉบจับผึ้ง แมงมุมที่คอยชักใยดักผึ้งงาน กิ้งก่า แมลงปอ ผีเสื้อกลางคืนและนกทุกวันนี้มนุษย์รู้ดีว่าผึ้งเป็นแมลงที่ช่วยขยายพันธุ์ไม้และดอกไม้โดยการนำเกสรตัวผู้ไปผสมกับเกสรตัวเมีย และน้ำผึ้งคือน้ำหวานที่ผึ้งเก็บจากเกสรดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมและมีสีเหลืองน้ำตาล ซึ่งผู้คนนิยมใช้เป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน ใช้ทำเครื่องสำอาง ขนม และเป็นยาสมานแผล พิษเหล็กในของผึ้งยังสามารถรักษาโรคปวดข้อได้บ้าง นักชีววิทยาชี้แจงว่า ตามปกติผึ้งเป็นสัตว์ที่รักสันติ มันจะต่อยศัตรูเพื่อป้องกันรังเท่านั้น และผึ้งที่ต่อยก็เป็นเฉพาะผึ้งงานและผึ้งนางพญา ส่วนผึ้งตัวผู้นั้นต่อยไม่เจ็บ เวลาผึ้งต่อยเหล็กในซึ่งมีปลายแหลมเหมือนลูกธนูจะถูกปล่อยออกมาทางท้อง ดังนั้น เวลาผึ้งดึงตัวออกปลายท้องมันจะแตกทำให้ผึ้งตาย ด้วยเหตุนี้ผึ้งจึงไม่ชอบต่อยใครนอกจากจำเป็นจริงๆ นักชีววิทยาได้สนใจศึกษาพฤติกรรมของผึ้งมานานนับพันปีแล้ว Aristotle ในสมัยก่อนคริสตกาล เคยเชื่อว่า ผึ้งมีภาษาที่ใช้ปกครองผึ้งด้วยกันในปี พ.ศ. 2512 บาทหลวง C.Butter ได้พบความจริงว่า ผึ้งที่ทรงอำนาจมากที่สุดในรัง คือผึ้งนางพญา และเมื่อ 28 ปีก่อนนี้ Karl von Frisch ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์และสรีรวิทยาร่วมกับ Konrad Lorenz และ Nikolaas Tinberger ในฐานะผู้ให้กำเนิดวิทยาการด้าน Ethology หรือบุคลิกภาพวิทยาที่ว่าด้วยบุคลิกภาพของสัตว์ ขณะรับรางวัล Von Frisch มีอายุได้ 86 ปีแล้ว และขณะทำงานที่มหาวิทยาลัย Munich นั้น เขาได้แสดงให้เห็นว่า ผึ้งใช้ลีลาเต้นรำในการสื่อความหมายกัน ยกตัวอย่างเช่น เวลาผึ้งงานเห็นอาหาร (น้ำหวาน) ในบริเวณใกล้รัง เวลามันบินกลับรัง มันจะบินวนเป็นวงกลม แล้วผึ้งตัวอื่นๆ ก็จะบินวนเป็นวงกลมเหมือนกัน จนกระทั่งผึ้งทั้งรังรับรู้ข่าวดี จากนั้นฝูงผึ้งก็จะบินตรงไปที่แหล่งอาหารนั้นๆ แต่ถ้าแหล่งอาหารอยู่ไกลรังมันก็จะบินวนเป็นเลขแปด เป็นต้น Von Frisch ยังได้พบอีกว่า ผึ้งแต่ละพันธุ์ใช้ภาษาในการสื่อสารไม่เหมือนกัน ข้อมูลนี้ทำให้ Von Frisch สรุปว่า ความสามารถในการเข้าใจภาษาของผึ้งสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม นอกจากนี้ Von Frisch ก็ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ผึ้งสามารถรู้ระยะทางที่มันบินจากรังไปถึงแหล่งอาหารได้ด้วย (แต่ Von Frisch ก็ไม่ได้ระบุชัดว่า ผึ้งวัดระยะทางดังกล่าวได้อย่างไร) หรือในวันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน ทั้งๆ ที่ผึ้งไม่สามารถเห็นดวงอาทิตย์ แต่มันก็สามารถบอกทิศของแหล่งอาหารได้ ทั้งนี้เพราะระบบประสาทของผึ้งสามารถรับแสงอาทิตย์ได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องเห็นดวงอาทิตย์ตรงๆ และถ้าเขาจับผึ้งใส่ในห้องที่มืดสนิท เขาก็พบว่าผึ้งจะหยุดเต้นรำทันที อย่างไรก็ตาม Von Frisch ได้พบว่า ผึ้งชอบออกหาอาหารในวันที่ท้องฟ้าสดใสมากกว่าในวันที่ฟ้ามืดครึ้ม และมันจะหยุดเต้นรำทันทีที่พระอาทิตย์ตกดินในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2545 G. Bloch และ G. Robinson แห่งมหาวิทยาลัย Illinois ที่ Urbana-Champaign ได้รายงานว่า ผึ้งงานที่ค่อนข้างอาวุโส ซึ่งตามปกติมีหน้าที่บินออกหาอาหาร และไม่มีหน้าที่ดูแลตัวอ่อน ซึ่งเป็นหน้าที่ของผึ้งงานสาวจะหวนกลับมาดูแลตัวอ่อน เมื่อรังของมันขาดแคลนพี่เลี้ยงดูแลตามความเข้าใจเดิมของนักชีววิทยา เวลาผึ้งงานมีอายุมากขึ้น มันจะปรับเปลี่ยนหน้าที่จากเดิมที่ต้องดูแลตัวอ่อน มันก็จะปรับพฤติกรรมไปทำหน้าที่หาอาหาร ซึ่งต้องทำทุก 22-25 ชั่วโมง แต่เมื่อรังของมันขาดแคลนคนดูแล ผึ้งตัวอ่อน ผึ้งงานชราก็จะปรับพฤติกรรมหยุดออกหาอาหารและปรับนาฬิกาชีวิตทำงาน เพื่อหวนกลับมาดูแลทายาทผึ้งแทนอีกนักชีววิทยากำลังงุนงงกับความสามารถในการปรับพฤติกรรมนี้ว่า ผึ้งสามารถทำได้โดยไม่มึนงง ง่วงนอนหรืออ่อนเพลีย ซึ่งถ้าเป็นคนการปรับเวลา ปรับนาฬิกา ใจ ไม่ทัน จะทำให้คนอ่อนเพลีย และนี่คือสาเหตุที่ทำให้คนขับรถหลับในบนถนนจนเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตนับพันคนในแต่ละปี ในการอธิบายความสามารถพิเศษนี้ E. Erichson แห่ง Carl Hayden Bee Research Center ที่เมือง Tucson ในสหรัฐอเมริกา คิดว่าต่อมฮอร์โมนในผึ้งงานชราคงเริ่มทำงานอีก ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายกับการที่สตรีวัยกลางคนได้ตั้งครรภ์อีกยังไงยังงั้นในวารสาร Journal of Experimental Bioloth ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 J. Tautz แห่งมหาวิทยาลัย Wiirzburg ในประเทศเยอรมนีได้รายงานว่า เวลาผึ้งงานพบอาหารแล้วบินกลับรัง มันส่งข่าวดีให้เพื่อนผึ้งรู้โดยการเต้นรำ แต่ผึ้งในรังมีนับหมื่นตัว การจะเห็นผึ้งตัวหนึ่งตัวใดเต้นรำนั้นเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้เสียงที่เกิดจากลีลาการเต้นก็ไม่สามารถกลบเสียงหึ่งในรังได้ และ Tautz ก็ได้พบว่า ผึ้งส่งสัญญาณโดยใช้รังผึ้งเป็นสื่อ เพราะรังผึ้งนั้นยืดหยุ่นได้ การเต้นรำของผึ้งที่มีข่าวดีจะทำให้ผนังของรังผึ้งในบริเวณที่มันเต้นรำสั่น เมื่อผึ้งในบริเวณใกล้เคียงเห็นผนังสั่นเข้าออกเป็นจังหวะมันก็รู้ข่าวดีนั้นทันที ในการทดลองโดยใช้แสงเลเซอร์และกล้องถ่ายภาพ Tautz ได้พบว่า ผึ้ง 132 ตัว สามารถส่งข่าวให้เพื่อนมัน 471 ตัวรู้ได้ โดยการเต้นรำ และนี่คือเทคนิคที่ผึ้งใช้ในการสื่อสารถึงกันครับ 
คำสำคัญ (Tags): #ผึ้งน้อย
หมายเลขบันทึก: 52579เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท