กว่าจะมาเป็น Peer Assist ที่ เทพธารินท์


ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ใช้ความพยามในทุกรูปแบบที่จะทำให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล(ชุมชน) มีประสิทธิภาพมากที่สุด

           วันนี้เป็นวันที่ 3 หลังจากที่กลับจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบบเพื่อช่วยเพื่อ ที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์ซึ่งถึอว่าเป็นผู้แบ่งปันที่ยิ่งใหญ่ ส่วนผมและทีมจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ก็เป็นผู้ขอเรียนรู้ที่ชั่ง กระหายใคร่รู้เหลือเกิน ถึงแม้ผมจะไม่ได้บันทึกเรื่องราวทันที ที่กลับมาถึงที่ทำงานก็ตาม (ดร.วัลลา ลุ้นดูอยู่แน่ๆ  ผมรู้สึกอย่างนั้นครับ) แต่ทุกๆช่วงเวลาตลอด 2-3วันที่ผ่านมา กิจกรรมที่ได้จากเทพธารินทร์ทำให้ผมต้องรีบเล่าเรื่องราวที่ได้มาในวันนั้นที่เทพธารินทร์ เพื่อที่ว่า คนที่ได้อ่าน อาจเข้าใจได้บ้างว่าทำไมทีมของพวกเราถึงได้เกิดอาการร้อนรน เหมือนมีใครจุดไฟให้กับพวกเรา จนเกิดคำมั่นสัญญา ที่คุณหมอประกาศิต ผู้นำทีมของพวกเราบอกว่า อีก 2-3 เดือนรับรองได้เห็นผลงานของทีมธาตุพนมแน่ๆ

             ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ใช้ความพยามในทุกรูปแบบที่จะทำให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล(ชุมชน) มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะผู้ป่วยมันมากมายเหลือเกิน ซึ่งก็คงเหมือนกับทุกๆ โรงพยาบาลในประเทศไทย หรืออาจทั้งโลกก็ได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเราตั้งคณะกรรมการดูแลผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะ  มีกิจกรรมมากมายที่เกิดขึ้นภายในปีเดียว ทั้งในส่วนการดูแลรักษาพยาบาล และกิจกรรมเชิงรุกในการส่งเสริมป้องกันในชุมชน  อันอาจเนื่องมาจากที่โรงพยาบาลมีทั้งอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ เพิ่มขึ้น (น.พ.ปกรวิชย์ จิรัปปภา และ น.พ.ประกาศิต จิรัปปภา) รวมทั้งกระแสการส่งเสริมสุขภาพ และการจัดการความรู้ ที่กำลังมาแรง ประกอบกับที่พวกเราได้รับเชิญให้เข้าร่วม "ตลาดนัดความรู้ผู้ป่วยเบาหวาน ครั้งที่ 1" เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา นับจากวันนั้นเรามีกิจกรรม 1ตำบล1 ชมรมผู้ป่วยเบาหวาน มีกิจกรรมส่งต่อการรักษาให้ศูนย์สุขภาพชุมชน(PCU) มีกิจกรรม self healt group ในโรงพยาบาล ซึ่งล้วนแต่ได้แนวคิดมาจากการเข้าร่วมตลาดนัดในครั้งนั้นครับ

          ในกิจกรรมตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยวันนั้น มีการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "ธารปัญญา" ในการช่วยให้ทราบว่าโรงพยาบาลไหนพร้อมที่จะเป็นผู้แบ่งปัน และที่ไหนพร้อมที่จะเป็นผู้เรียนรู้  ซึ่งในวันนั้นทีมของพวกเราประเมินตนเองแล้วพบว่ายังไม่มีศักยภาพพอที่จะเป็นผู้ให้ แต่ครั้งนั้นมันทำให้ทีม และตัวผมเองได้รู้จักกับการจัดการความรู้มากขึ้น และที่สำคัญ ทำให้ได้รู้จักกับหลายๆโรงพยาบาลที่มีกิจกรรมดีๆ เกียวกับการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนั้น ร.พ.เทพธารินทร์ ซึ่งมี best practice ด้านการดูแลรักษา  ที่สำคัญยังเป็นทีมหลักที่มาแบ่งปันความรู้ให้พวกเรา ตั้งแต่ผู้อำนวยการ ศ.นพ.เทพ  หิมะทองคำ และ ดร.วัลลา  ตันตโยทัย ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ  รวมทั้งพยาบาลผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานอีกหลายท่าน ที่ชี้ให้ทีมของพวกเราได้เริ่มเห็นความสำคัญของ   DM foot care

           คุณหมอประกาศิต ซึ่งเป็นศัลยแพทย์คนเดียวของโรงพยาบาล(และเป็นพี่ชายของอายุรแพทย์ท่านเดียวของโรงพยาบาลด้วย) ซึ่งได้เข้ามาทำงาน และได้ดูแลผู้ป่วย DM foot ulcer (ประมาณ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา) ตลอดช่วงเวลาที่ผ่าน คุณหมอได้สอนเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลในหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพยาบาล ในองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับ DM foot ulcer โดยเฉพาะการได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดที่ว่า "แผลที่เท้าสามารถรักษาให้หายได้" ประกอบกับการพิสูจน์ให้เห็นในหลายๆ case ที่ให้การรักษาประกอบ  แต่อย่างไรก็ตามภาพที่ไม่น่าดูของผู้ป่วยที่เป็นแผลที่เท้า ก็ยังมักจะแวะเวียนมาให้เห็นโดยตลอดที่โรงพยาบาล  แถมยังกวนใจหลายๆคนว่าทำไมจึงกลับมาเป็นซ้ำได้อีก  น่าจะมีวิธีการที่ดีที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้  ซึ่งในที่ประชุมของทีมหลายๆครั้งก็ยังเห็นภาพไม่ชัดเจนในการร่วมกันดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งคุณหมอประกาศิตบอกทีเล่นทีจริงในหลายๆครั้ง ว่า "อย่างนี้มันต้องเห็นของจริง "  จนกระทั่งในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมามา ดร.วัลลา ตันตโยทัย ได้โทรศัพท์ไปสอบถามข่าวคราวกับผม ในฐานะที่ทีมโรงพยาบาลเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานอยู่ ผมก็เลยมีโอกาสได้เล่าให้อาจารย์วัลลาฟัง ถึงกิจกรรมที่เราพยายามทำอยู่ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคที่ยังมีอยู่ ซึ่งอาจารย์ได้กรุณาอย่างยิ่งที่ชวนพวกเรามาดูงานที่ ร.พ.เทพธารินทร์ พร้อมกับนำกิจกรรม Peer Assist ที่ทาง ส.ค.ส. ได้แนะนำไว้มาเรียนรู้ด้วย ซึ่งหลังจากที่ปรึกษากับทางทีมโดยเฉพาะคุณหมอประกาศิต พวกเรารู้สึกยินดีและดีใจที่จะได้ไปเห็นภาพการทำงานอย่างจริงๆจังๆ ดังที่ตั้งใจซะที

          ทีมโรงพยาบาลได้ประชุมกันเกียวกับการกำหนดกิจกรรม Peer assist ทั้ง 2 วัน ที่ ดร.วัลลา ในฐานะ"คุณอำนวย" ในกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนครั้งนี้ ได้จัดทำกำหนดการคร่าวๆไว้ว่าต้องทำอะไรบ้าง  รวบทั้งแจ้งให้พวกเราเตรียมตั้งแต่วัตถุประสงค์ของการขอเรียนรู้ที่ชัดเจน รวมทั้งการกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้าร่วม  และกำหนดตัวผม ให้เป็น"คุณลิขิต" ไว้ล่วงหน้า ซึ่งพวกเราก็แจ้งวัตถุประสงค์ในการขอเรียนรู้ดังนี้ครับ

1.เพิ่มองค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วย และการนำมาประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาล

1.1 การดูแลผู้ป่วยหลังจากที่แผลหายแล้ว ทั้งที่ safe limb ได้ และในกลุ่มที่ได้รับการ amputation

1.2 กลุ่มผู้ป่วย neuropathic ulcer ที่มีแผลเกิดขึ้นซ้ำๆ ได้อีก เนื่องจากยังขาดความรู้ ความเข้าใจในอุปกรณ์ขาเทียม รองเท้าที่เหมาะสม Total contact cast   

2.การดูแลรักษาที่โรงพยาบาลยังไม่มี และไม่เคยเห็น (วิวัฒนาการใหม่ๆ) เช่น Calcium alginate , PDGF และ Vaccum dressing device ในการช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นหลังจาก debridement แล้ว

3.การดำเนินงานของคลินิกสุขภาพเท้า ซึ่งโรงพยาบาลยังไม่มีการจัดบริการที่ชัดเจน รวมทั้งกิจกรรมในเชิงป้องกันของทีมสหวิชาชีพ เพื่อนำมาปรับใช้ในโรงพยาบาล

 

ผู้เล่าเรื่อง ภก.เอนก  ทนงหาญ เลขานุการทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม

 

 

    ทีมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนมเข้าร่วมตลาดนัดความรู้ผู้ป่วยเบาหวานครั้งแรกทั้งหมด 6 คน

 

 

 

บรรยากาศ การต้อนรับของ ศ.น.พ.เทพ หิมะทองคำ  ในการ Peer Assist ที่ ร.พ.เทพธารินทร์

คำสำคัญ (Tags): #เทพธารินทร์
หมายเลขบันทึก: 5254เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2005 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ต้องขอชื่นชมทีมของ รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ที่ active มากๆ ในทุกเรื่อง จะคอยเป็นกำลังใจให้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท