การปรับปรุงและพัฒนา "สื่อการเรียนการสอน"


จากการที่ผมได้เคยสังเกตอากัปกิริยาต่าง ๆ ของนักศึกษา สีหน้า แววตา รวมถึงประสิทธิผลจากการทดสอบต่าง ๆ ทั้ง Pre-test และ Post-test เมื่อมีการเปลี่ยนไปใช้สื่อการเรียนการสอนรูปแบบต่าง ๆ แล้วนั้นพบว่า ประสิทธิผลของการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาตลอดทั้งภาคเรียนหรือตลอดรายวิชานั้นมีความแตกต่างกัน

ดังนั้นผมจึงได้เริ่มทดลองหาสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เกิดประสิทธิผลในการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของทั้งด้านเวลา สถานที่และตัวนักศึกษา

จากบริบทที่ผมปฏิบัติหน้าที่ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ในขณะนั้น Section ของนักศึกษาได้ถูกจัดและแบ่งออกตามขนาดส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 30-50 คนต่อห้อง หรือบางครั้งอาจจะมีการรวมห้องขนาดใหญ่บ้างเป็น 80 - 120 คน โดยส่วนใหญ่ห้องขนาดใหญ่จะเป็นวิชาพื้นฐานที่มีนักศึกษาลงเรียนกันเป็นจำนวน ซึ่งผมนั้นจะไม่ค่อยได้สัมผัสกับ Section ขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะรับผิดชอบบรรยายในวิชาเอกหรือวิชาเฉพาะของนักศึกษาแต่ละโปรแกรมซึ่งจะมีจำนวนไม่เกิน 40 คน

จากกลุ่มนักศึกษาที่มีจำนวนไม่เกิน 40 คนดังกล่าว ทำให้ผมได้รับการจัดห้องที่ไม่มีโสตทัศนูปกรณ์หรือสื่อทางการเรียนการสอนมากเท่ากับห้องเรียนขนาดใหญ่

ซึ่งห้องขนาดใหญ่จำนวนไม่เกิน 40 คนนั้น โดยปกติแล้ว จะมีอุปกรณ์ประจำห้องหรือสื่อที่ใช้ในการเรียนการสอนก็คือ

  1. กระดานไวท์บอร์ด
  2. เครื่องฉายแผ่นใส
  3. ไมค์พร้อมเครื่องขยายเสียง

ซึ่งจากการที่เฝ้าสังเกตสิ่งต่าง ๆ รวมถึงประสิทธิภาพในการเรียนสอนแล้ว พบว่า การสอนโดยใช้แผ่นใสมีประสิทธิภาพค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการใช้ Power point และโปรเจคเตอร์ รวมถึงการใช้แผ่นใสมีต้นทุนที่สูงในการเตรียมสูงกว่าการใช้โปรแกรมทางคอมพิวเตอร์

โดยในขั้นแรก ผมจึงพยายามที่จะขอใช้ห้องเรียนที่มีคอมพิวเตอร์และเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอน แต่การเปลี่ยนมาใช้สื่อคอมพิวเตอร์นั้น ก็มิได้ทำให้เกิดประสิทธิผลที่แตกต่างกันมากมายนัก เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนทั้งทางห้องและอุปกรณ์ต่าง ๆ

เพราะการมีสิ่งต่าง ๆ ที่สะดวกสบายขึ้น บางครั้งก็จะทำให้นักศึกษาขาดความกระตือรือร้นมากขึ้น และ "ขาดการมีส่วนร่วม" มากขึ้น มีการขอถ่ายเอกสารสื่อต่าง ๆ  (Power Point) จนบางครั้งนักศึกษาขาดการตั้งใจฟังเพราะว่ามีเอกสารอยู่ในมือ ในตอนนั้นก็ได้มีการปรับปรุงเรื่องเอกสาร (Power Point) มาเป็นระยะ ๆ ทั้งใช้รูปภาพมากขึ้นและใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น เพราะกระตุ้นในการสนใจฟังและจดตาม แต่เมื่อได้ลอง Pre-test ทั้งการทำแบบฝึกหัดและการสอบปากเปล่าแล้วพบว่า ประสิทธิผลในการเรียนการสอนยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร

ดังนั้นจึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้การสอนโดยใช้ เครื่องฉายแผ่นทึบ ใช้การบรรยายและเขียนไปพร้อม ๆ กัน ผลปรากฏว่า เมื่อมีการทดสอบหลังเรียนแล้ว นักศึกษามีประสิทธิผลในการเรียนสูงขึ้นกว่าเดิม

 

ผลการสรุปขั้นต้น สื่อการเรียนการสอนที่จะทำให้เกิดผลการเรียนการสอนสูงสุดก็คือ การสอนโดยใช้การเขียนหัวข้อต่าง ๆ ผ่านเครื่องฉายแผ่นทึบและใช้ร่วมกับสื่อคอมพิวเตอร์ + LCD เพื่อฉายรูปภาพและชาร์จต่าง ๆ

แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนห้องที่มีอุปกรณ์เช่นนี้มีค่อนข้างน้อย จึงไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ในทุกคาบจึงทำให้ต้องหาวิธีการสอนที่เหมาะสมกับบริบทกับทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ ตอนนั้นจึงได้เริ่มหันกลับมาใช้การเขียนบนเครื่องฉายแผ่นใส และฉายขึ้นไป ผลปรากฏว่า ประสิทธิผลการเรียนดีขึ้นเช่นกัน แต่มีผลเสียข้างเคียงเกิดขึ้นกับผู้สอน ก็คือ เรื่องของความร้อนของเครื่องฉายและแสงสว่างที่เวลาเขียนไปสอนเครื่องฉายนาน ๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหาทางสายตาได้

ดังนั้นทางออกหรือทางแก้ที่เหมาะสมกับบริบทในขณะนั้นมากที่สุดก็คือ การใช้ "กระดาษพรู๊ฟ" หรือกระดาษที่เราใช้ออกทำงานกับในที่ชุมชนต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในห้องนั่นเอง

(เวทีจัดการความรู้จากการวิจัยชุมชน นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์)

การนำกระดาษพรู๊ฟมาใช้ในการเรียนการสอนกับในห้องกับนักศึกษานั้น มีประโยชน์เกิดขึ้นหลายประการด้วยกันก็คือ

ประการที่ 1 ทำให้การบรรยายมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากผู้สอนเองสามารถปรับเปลี่ยนหัวข้อให้ยืดหยุ่นตามบรรยากาศของห้องและความเป็นไปในเรื่องราวที่กับกำลังคุยหรือเกิดการโต้ตอบกับนักศึกษาได้ มากกว่าการใช้แผ่นใสหรือ Power point

(เวทีจัดการความรู้จากการวิจัยชุมชน นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์)

ประการที่ 2 ต้นทุนต่ำ เมื่อเทียบกับเครื่องฉายแผ่นใส เครื่องฉายแผ่นทึบ คอมพิวเตอร์และโปรเจคเตอร์

ประการที่ 3 สามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานที่ แม้ในสถานที่ไม่มีไฟฟ้า

(เวทีสร้างเครื่องมือหรือแบบสำรวจชุมชน ของนักศึกษาโปรแกรมบัญชี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์)

ประการที่ 4 สามารถจัดกระบวนการให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนได้มากขึ้น โดยอาจจะให้นักศึกษาเป็นผู้ออกมาเขียนบนกระดาษ เพื่อฝึกทักษะความกล้าแสดงออก ฯลฯ

(การเรียนรายวิชา "บริหารการตลาด" ของนักศึกษาโปรแกรมธุรกิจบริการ กศ.บป. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตน่าน)

ประการที่ 5 สะดวกและมีประสิทธิภาพในการจัดกิจกรรมแบบ Work Shop ภายในชั้นเรียน หรือเมื่อมีการแบ่งงานให้นักศึกษาทำเป็นกลุ่มย่อยและออกมานำเสนอภายหลัง

(เวทีจัดการความรู้จากการวิจัยชุมชน นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์)

ประการที่ 6 สื่อที่ผ่านการเรียนการสอนในแต่ละครั้งแล้ว สามารถเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในคราวถัดไปได้ เมื่อเทียบกับการเขียนบนกระดานไวท์บอร์ด ซึ่งเมื่อเขียนแล้วหมดคาบหรือหมดชั่วโมงเรียนก็จะต้องลบทิ้ง

ประการสุดท้าย สามารถใช้ในการจัดตลาดนัดความรู้ หรือนำมาสรุปเพิ่มเติมในชั่วโมงสุดท้ายเมื่อมีการทบทวนถึงสิ่งที่เรียนไปทั้งหมด โดยการนำกระดาษชาร์จต่าง ๆ ที่เคยได้เขียนและทำกิจกรรมร่วมกันมาติดไว้รอบ ๆ ห้อง จะทำให้นักศึกษาจดจำ บริบท สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ทำร่วมกันได้มากกว่าจดจำเพียงแค่ "ตัวหนังสือ"


สิ่งเหล่านี้ก็คือ R2R แบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผมได้ทำขึ้นมาและพยายามสรุปและทดลองนำเสนอมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไปครับครับ

ถ้าท่านใดมีข้อคิดเห็น ข้อแลกเปลี่ยนหรือสิ่งต่าง ๆ ที่จะเติมเต็มและต่อยอดในประเด็นต่าง ๆ หรือเสริมเทคนิคต่าง ๆ บอกกล่าวได้เลยนะครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

 

หมายเลขบันทึก: 52474เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2006 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบคุณครับ
  • ผมและผู้ร่วมงานกำลังจะเริ่มต้นในเรื่องนี้ ในภาคเรียนต่อไปครับ
  • คงจะได้ ลปรร กันต่อไป
  • ต้องขอบพระคุณอาจารย์ Panda ด้วยเช่นกันครับ
  • ผมก็ได้ติดตามผลงานและเรียนรู้จากท่านอาจาจารย์เช่นเดียวกันครับ
  • ซึ่งผมจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์ไปต่อยอดด้วยเช่นกันครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท