รู้ไว้ เพื่อความสามานฉันท์


การถือศีลอดเป็นพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า

 คำนิยาม
หนึ่งในข้อบังคับทางศาสนาที่จำเป็นต้องถือปฏิบัติในรอบปีเพื่อการขัดเกลาตนเองได้แก่ “การถือศีลอด” ซึ่งการถือศีลอดหมายถึง การที่บุคคลหนึ่งหลีกเลี่ยงจากสิ่งต่างๆ ที่ศาสนาได้บัญญัติไว้ตั้งแต่อะซานศุบฮิ์จนถึงมัฆริบ เพื่อปฏิบัติตามพระบัญชาของอัลลอฮฺ

 ประเภทของการถือศีลอด  

1) การถือศีลอดที่เป็นข้อบังคับ
การถือศีลอดเหล่านี้ถือเป็นข้อบังคับที่จะเป็นต้องปฏิบัติ 
      การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน 
     การถือศีลอดชดใช้สำหรับตนเอง 
     การถือศีลอดในฐานะเครื่องถ่ายโทษ (กัฟฟาเราะฮฺ) 
     การถือศีลอดอันเนื่องมาจากการบนบานตามหลักการอิสลาม 
     การถือศีลอดชดใช้ให้บิดามารดาโดยบุตรชายคนโต 
     ฯลฯ

2) การถือศีลอดที่ต้องห้าม 
     การถือศีลอดในวันอีดิลฟิตร์ 
     การถือศีลอดในวันอีดกุรบาน 
     การถือศีลอดอันเนื่องมาจากการบนบานในสิ่งที่ต้องห้าม 
     การถือศีลอดในวันตัชรีก (11, 12, และ 13 เดือนซุลหิจญะฮ์) สำหรับผู้ที่อยู่ในทุ่งมินา 
     ฯลฯ

3) การถือศีลอดอาสา
การถือศีลอดในวันต่างๆ ในรอบปียกเว้นวันที่ต้องห้ามและพึงหลีกเลี่ยงนั้น ถือเป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่วันต่างๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ได้รับการแนะนำไว้เป็นพิเศษสำหรับการถือศีลอด อาทิเช่น 
     ทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ 
     วันพุธแรกหลังจากสิบวันแรกของเดือน (ตามจันทรคติ) 
     วันอีดมับอัษ – แต่งตั้งท่านศาสดา (27 เราะญับ) 
     วันอีดเฆาะดีร (18 ซุลหิจญะฮฺ) 
     วันถือกำเนิดท่านศาสดาแห่งอิสลาม (17 เราะบีอุลเอาวัล) 
     วันอะรอฟะฮฺ (หากการถือศีลอดไม่เป็นอุปสรรคต่อการอ่านดุอาในดังกล่าว) 
     วันที่ 1 และ 3 มุหัรร็อม 
     ตลอดเดือนเราะญับและชะอฺบาน 
     13, 14, 15 ของทุกเดือน (ตามจันทรคติ) 
     ฯลฯ

4) การถือศีลอดที่พึงหลีกเลี่ยง 
     การถือศีลอดอาสาของแขกโดยไม่ได้รับอนุญาติจากเจ้าของบ้าน 
     การถือศีลอดอาสาของแขกโดยที่เจ้าของบ้านสั่งห้าม 
     การถือศีลอดในวันอาชูรอ 
     การถือศีลอดในวันอารอฟะฮฺ หากเป็นอุปสรรคต่อการอ่านดุอาในวันดังกล่าว 
     ฯลฯ

 การตั้งเจตนาในการถือศีลอด
1) การถือศีลอดถือเป็นอิบาดะฮฺประเภทหนึ่งซึ่งจะต้องกระทำด้วยเจตนาเพื่อปฏิบัติตามพระบัญชาของอัลลอฮฺ
2) การตั้งเจตนาสามารถกระทำได้ทุกค่ำคืนของเดือนรอมฎอนสำหรับการถือศีลอดในวันรุ่งขึ้น แต่เป็นการดีกว่าหากในคืนแรกจะตั้งเจตนาถือศีลอดตลอดทั้งเดือนควบคู่ไปด้วย
3) ในการถือศีลอดที่เป็นข้อบังคับนั้น หากปราศจากอุปสรรคใดๆ แล้ว ไม่อนุญาติให้ตั้งเจตนาหลังจากอะซานศุบฮิ์
4) ในการถือศีลอดที่เป็นข้อบังคับนั้น หากมิได้ตั้งเจตนาถือศีลอดเนื่องจากมีอุปสรรคเกิดขึ้น อาทิเช่น หลงลืมหรือการเดินทาง หากบุคคลดังกล่าวยังมิได้กระทำสิ่งที่ทำให้ศีลอดเป็นโมฆะ สามารถตั้งเจตนาถือศีลอดได้จนถึงเวลาซุฮริ์
5) ไม่จำเป็นต้องตั้งเจตนาด้วยวาจา

 สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ
ผู้ถือศีลอดจำต้องงดเว้นจากการกระทำสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้ มิเช่นนั้นแล้ว การถือศีลอดของเขาจะถือเป็นโมฆะ

1) การกินและการดื่ม
ก. หากผู้ถือศีลอดเจตนากินหรือดื่มสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศีลอดของเขาถือเป็นโมฆะ แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ใช่เครื่องบริโภคโดยปกติวิสัยก็ตาม อาทิเช่น ดินและน้ำมัน
ข. หากผู้ถือศีลอดเจตนากลืนเศษอาหารที่ติดอยู่ตามไรฟัน ศีลอดของเขาถือเป็นโมฆะ
ค. การกลืนน้ำลายแม้จะมากสักเพียงใดก็ตาม ไม่ทำให้ศีลอดเป็นโมฆะ
ง. หากผู้ถือศีลอดกินหรือดื่มสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความหลงลืม ศีลอดของเขาไม่เป็นโมฆะ
จ. ไม่อนุญาตให้ละศีลอดเนื่องจากความอ่อนแอ แต่หากความอ่อนแอมีมากจนไม่สามารถอดทนได้ การละศีลอดของบุคคลดังถือกล่าวไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ฉ. การฉีดยา หากมิใช่เป็นการทดแทนอาหาร ไม่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ แม้ว่าจะทำให้อวัยวะของร่างกายไร้ความรู้สึกก็ตาม

2) การสูดฝุ่นหนาลงสู่ลำคอ
ก. หากผู้ถือศีลอดสูดฝุ่นหนาลงสู่ลำคอ ศีลอดของเขาถือเป็นโมฆะไม่ว่าจะเป็นฝุ่นที่เป็นเครื่องบริโภค เช่น แป้ง หรือไม่ใช่เครื่องบริโภค เช่น ดินก็ตาม
ข. กรณีต่างๆ ต่อไปนี้ ไม่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ 
     • สูดฝุ่นบาง 
     • สูดไม่ถึงลำคอ 
     • สูดฝุ่นลงถึงลำคอโดยไม่เจตนา 
     • หลงลืมว่าตนเองกำลังถือศีลอดอยู่ 
     • สงสัยว่าสูดฝุนหนาลงถึงลำคอหรือไม่

3) การอ้างอิงสิ่งที่เป็นเท็จต่ออัลลอฮฺและท่านศาสดา
ในกรณีต่างๆ ต่อไปนี้ การอ้างอิงสิ่งที่เป็นเท็จโดยเจตนาต่ออัลลอฮฺ ท่านศาสดาหรืออิมามมะอฺศูม(รวมทั้งท่านหญิงฟาติมะฮฺและศาสนทูตท่านอื่นบนพื้นฐานของอิหติยาฏวาญิบ) ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ 
     ก. ในเรื่องที่เกี่ยวกับดุนยาและอาคิเราะฮฺ 
     ข. อ้างอิงสิ่งที่เป็นเท็จต่อคำพูดหรือการกระทำของบุคคลดังกล่าว 
     ค. อ้างอิงด้วยวาจาหรือข้อเขียนหรือด้วยการกระทำใดๆที่ส่อถึงการอ้างอิงสิ่งที่เป็นเท็จต่อบุคคลดังกล่าว 
     ง. อ้างอิงโดยตรงหรือเทียบเคียง 
     จ. การมดเท็จนั้นเป็นของตนเองหรือผู้อื่นก็ตาม 
     ฉ. การมดเท็จอยู่ในรูปของการบอกเล่าหรือตอบคำถามผู้อื่นก็ตาม 
     ช. ยืนยันความถูกต้องของการมดเท็จก่อนหน้านี้ เช่นกล่าวว่า สิ่งที่ฉันได้พูดไปแล้วนั้นถูกต้อง 
     ซ. ปฏิเสธความถูกต้องที่กล่าวไปก่อนหน้านี้

4) การดำน้ำ 
     ก. หากผู้ถือศีลอดเจตนาดำลงใต้น้ำบริสุทธิ์ (ไม่ใช่น้ำผสม) จนมิดศีรษะ ศีลอดของเขาถือเป็นโมฆะ 
     ข. ในกรณีต่อไปนี้ไม่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ 
          • ดำน้ำด้วยความหลงลืม 
          • ดำน้ำโดยไม่มิดศีรษะ 
          • ตกน้ำโดยไม่เจตนา 
          • บุคคลอื่นกดศีรษะของผู้ถือศีลอดลงใต้น้ำจนมิด 
          • สงสัยว่าศีรษะจมน้ำจนมิดหรือไม่

5) การอาเจียน 
     ก. หากผู้ถือศีลอดเจตนาอาเจียนแม้ว่าเนื่องจากความป่วยไข้ก็ตาม การถือศีลอดของเขาเป็นโมฆะ 
     ข. หากผู้ถือศีลอดหลงลืมว่าตัวเองกำลังถือศีลอดอยู่ หรืออาเจียนโดยไม่เจตนา การถือศีลอดของเขาไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด

6) การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง 
     ก. หากผู้ถือศีลอดสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง การถือศีลอดของเขาถือเป็นโมฆะ 
     ข. หากหลั่งอสุจิโดยไม่เจตนา เช่น ในการฝันเปียก การถือศีลอดของเขาไม่ถือเป็นโมฆะ

7) การคงสภาพยูนุบจนถึงอาซานศุบฮิ์ 
หากผู้มียูนุบมิได้ทำฆุสุล(หรือตะยัมมุมในกรณีที่จำต้องทำตะยัมมุม) จนถึงอาซานศุบฮิ์ การถือศีลอดของบุคคลดังกล่าวจะมีผลดังต่อไปนี้

หากเจตนาไม่ทำฆุสุล(หรือตะยัมมุมในกรณีที่จำต้องทำตะยัมมุม) จนถึงอาซานศุบฮิ์
     ก. ในการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน --------> การถือศีลอดเป็นโมฆะ 
     ข. ในการถือศีลอดชดเชย --------------------- -> การถือศีลอดเป็นโมฆะ 
     ค. ในการถือศีลอดประเภทอื่น ๆ ---------------> การถือศีลอดถูกต้อง

หากหลงลืมการทำฆุสุลหรือตะยัมมุมในการถือศีลอดในเดือนรอมะฎอน และนึกขึ้นได้ภายหลังจากนั้นวันสองวัน
     ก. ในการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ----------------> จะต้องชดเชยศีลอดของวันต่างๆ ดังกล่าว 
     ข. ในการถือศีลอดชดเชยเดือนรอมฎอน -----------> ตามหลักอิหฺติยาตวายิบจะต้องชดเชยศีลอดของวันต่างๆ ดังกล่าว 
     ค. ในการถือศีลอดที่นอกเหนือเดือนรอมฎอนและการชดเชยศีลอดเหล่านั้น เช่น การถือศีลอดเนื่องจากการบนบาน หรือเพื่อถ่ายโทษ (กัฟฟาเราะฮ์) ----------------> การถือศีลอดถูกต้อง

หากผู้มียูนุบในค่ำคืนของเดือนรอมฎอน มั่นใจว่าไม่สามารถตื่นขึ้นทำฆุสุลก่อนอาซานศุบฮฺได้ บุคคลดังกล่าวจะต้องไม่นอน หากเขานอนและไม่สามารถตื่นได้ทันเวลา การถือศีลอดของเขาถือเป็นโมฆะ

8) การคงสภาพเลือดประจำเดือนและเลือดหลังการคลอดบุตร
หากสตรีหมดประจำเดือนก่อนอาซานศุบฮฺ 
     ก. เจตนาไม่ทำฆุสุล(หรือตะยัมมุมในกรณีที่จำเป็นต้องทำตะยัมมุม) -------> การถือศีลอดของนางถือเป็นโมฆะ 
     ข. ไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับทำฆุสุล 
          • ในการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนและการชดเชยศีลอดดังกล่าว --------> จำเป็นต้องทำตะยัมมุม และการถือศีลอดของนางถือว่าถูกต้อง 
          • การถือศีลอดที่เป็นข้อบังคับอื่นๆ หรือการถือศีลอดอาสา -----------------> แม้ว่าการถือศีลอดของนางโดยปราศจากการทำตะยัมมุมจะถูกต้องก็ตาม แต่ถือเป็นอิหฺติยาฏมุสตะฮับในการทำตะยัมมุม 
     ค. หากสตรีหมดประจำเดือนใกล้อะซานศุบฮิ์และไม่มีเวลาเพียงพอในการทำฆุสุลหรือตะยัมมุม การถือศีลอดของนางถือว่าถูกต้อง 
     ง. หากหลังอาซานศุบฮฺ สตรีรู้ว่าตนเองหมดประจำเดือนก่อนอาซานศุบฮฺ การถือศีลอดของนางถือว่าถูกต้อง 
     จ. หากสตรีหมดประจำเดือนหลังอาซานศุบฮฺ การถือศีลอดของนางถือเป็นโมฆะ 
     ฉ. หากสตรีมีเลือดประจำเดือนหรือเลือดหลังการคลอดบุตรในตอนกลางวันแม้ว่าจะใกล้เวลามัฆริบก็ตาม การถือศีลอดของนางถือเป็นโมฆะฃ 
     ช. หากสตรีที่มีเลือดเสียได้ทำฆุสุลตามข้อบัญญัติที่ระบุไว้เกี่ยวกับเลือดเสีย การถือศีลอดของนางถือว่าถูกต้อง

 สิ่งที่ผู้ถือศีลอดควรหลีกเลี่ยง  
1) การกระทำสิ่งต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความอ่อนแอต่อร่างกาย อาทิเช่น การบริจาคเลือด
2) การสูดดมพืชหรือดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม (แต่การใส่น้ำหอมมิใช่สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงแต่ประการใด)
3) การทำให้เสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่เปียกชื้น
4) การแปรงฟันด้วยไม้เปียก
5) การถอนฟันหรือการกระทำอื่นๆ อันเป็นสาเหตุให้เลือดไหลออกมาจากปาก

 การถือศีลอดชดเชย
หากบุคคลใดละเว้นการถือศีลอดในเวลาของมัน จำเป็นต้องถือศีลอดชดเชยในภายหลัง

 เครื่องถ่ายโทษของการถือศีลอด  
กัฟฟาเราะฮฺ คือค่าปรับสำหรับการทำให้ศีลอดเป็นโมฆะ ซึ่งประกอบไปด้วย 
     • การปล่อยทาสหนึ่งคน 
     • การถือศีลอดสองเดือน ซึ่งสามสิบเอ็ดวันแรกจะต้องถือติดต่อกัน 
     • การเลี้ยงอาหารแก่คนยากจนหกสิบคน หรือให้อาหารแก่บุคคลจำนวนดังกล่าว คนละหนึ่งมุด

คนใดที่จำเป็นต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ จะต้องเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจากกัฟฟาเราะฮฺทั้งสามประการข้างต้น

แต่เนื่องจากในปัจจุบันนี้ ทาสในความหมายทางนิติบัญญัติได้หมดไปแล้ว ดังนั้น จึงให้เลือกกระทำในกรณีที่สองหรือสาม แต่หากไม่มีความสามารถจ่ายกัฟฟาเราะฮฺในกรณีใดได้เลย บุคคลดังกล่าวจะต้องให้อาหารแก่คนยากจนเท่าที่สามารถ แต่หากยังไม่สามารถกระทำสิ่งดังกล่าวได้อีก เขาจะต้องทำการลุกะโทษต่ออัลลอฮฺ

ในกรณีต่างๆ ต่อไปนี้ การถือศีลอดชดเชยถือเป็นสิ่งจำเป็นโดยไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ
1) เจตนาอาเจียน
2) ลืมการทำฆุสุลสำหรับผู้มียูนุบในเดือนรอมฎอนและได้ถือศีลอดในสภาพดังกล่าวหลังจากนั้นวันสองวัน
3) ในเดือนรอมฎอนได้กระทำสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะโดยไม่ได้สืบเสาะให้มั่นใจเสียก่อนว่าถึงเวลารุ่งอรุณหรือยัง หลังจากนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่ารุ่งอรุณแล้ว
4) บุคคลหนึ่งได้บอกแก่ผู้ที่ถือศีลอดว่ายังไม่ถึงเวลารุ่งอรุณ และเขาได้กระทำในสิ่งทำให้ศีลอดเป็นโมฆะเนื่องจากเชื่อในคำพูดของบุคคลดังกล่าว ซึ่งต่อมาภายหลังเป็นที่ชัดเจนว่ารุ่งอรุณแล้ว

หากเจตนาละทิ้งการถือศีลอดในเดือนรอมะฎอนหรือเจตนาทำให้ศีลอดเป็นโมฆะ บุคคลดังกล่าวจำต้องถือศีลอดชดเชยและจ่ายกัฟฟาเราะฮิ์ด้วย

กรณีที่ต้องจ่ายอาหารหนึ่งมุดแก่คนยากจนสำหรับแต่ละวันโดยไม่ต้องถือศีลอดชดเชย
1) ไม่สามารถถือศีลอดได้เนื่องจากความเจ็บป่วย และอาการป่วยของบุคคลดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงปีต่อไป และหากอาการป่วยของบุคคลดังกล่าวยังคงสภาพอยู่เช่นนั้นไปอีกหลายปีก็ตาม คนดังกล่าวจะต้องถือศีลอดชดเชยเฉพาะปีสุดท้ายเท่านั้น ส่วนในปีอื่นๆ ที่ผ่านมานั้นให้จ่ายอาหารหนึ่งมุดแก่คนยากจนสำหรับแต่ละวัน
2) ผู้ที่การถือศีลอดเป็นสิ่งยากลำบากสำหรับเขาอันเนื่องมาจากความชราภาพ และหลังจากเดือนรอมฎอนก็ไม่สามารถถือศีลอดชดเชยได้
3) เป็นโรคที่ทำให้กระหายน้ำมากอยู่ตลอดเวลา และการถือศีลอดเป็นสิ่งที่ยากลำบากสำหรับบุคคลดังกล่าว และภายหลังจากเดือนรอมฎอนก็ไม่สามารถถือศีลอดชดเชยได้

กรณีที่จำเป็นต้องถือศีลอดชดเชยควบคู่ไปกับการให้อาหารหนึ่งมุดแก่คนยากจนสำหรับแต่ละวัน
1) ไม่ได้ถือศีลอดเนื่องจากมีอุปสรรค และภายหลังเดือนรอมะฎอนอุปสรรคดังกล่าวได้หมดไปโดยที่บุคคลดังกล่าวเจตนาไม่ถือศีลอดชดเชยจนถึงเดือนรอมฎอนปีต่อไป
2) ไม่ให้ความสำคัญในการถือศีลอดชดเชยจนกระทั่งเวลาเหลือน้อย และในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดอุปสรรคขึ้นที่ทำให้ไม่สามารถถือศีลอดชดเชยได้
3) สตรีที่ใกล้กำหนดเวลาคลอดและการถือศีลอดเป็นอันตรายแก่ครรภ์ของนาง และไม่สามารถถือศีลอดได้
4) สตรีที่ให้นมบุตรโดยที่น้ำนมของเธอมีน้อย และการถือศีลอดเป็นอันตรายแก่บุตรของนาง

 การถือศีลอดของคนเดินทาง  
ผู้เดินทางที่จำเป็นต้องนมาซย่อ เขาจะต้องละเว้นการถือศีลอดในการเดินทางดังกล่าวนั้น โดยทำการชดเชยในภายหลัง ส่วนผู้เดินทางที่นมาซเต็ม เช่น ผู้ที่อาชีพของเขาคือการเดินทาง จำเป็นต้องถือศีลอดในการเดินทางดังกล่าว

ข้อบัญญัติเกี่ยวกับการถือศีลอดของผู้เดินทาง
เมื่อออกเดินทาง
1) ออกเดินทางก่อนเวลาซุฮฺริ์ เมื่อถึงจุดสุดเขตเมือง(ตะร็อคคุส) การถือศีลอดของเขาจะเป็นโมฆะ และถ้าหากได้ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะก่อนถึงเขตดังกล่าว ถือเป็นอิหติยาฏวายิบต้องจ่ายกัฟฟาเราฮฺควบคู่ไปกับการถือศีลอดชดเชย
2) ออกเดินทางหลังเวลาซุฮฺริ์ ในกรณีนี้ การถือศีลอดของเขาถูกต้อง

เมื่อกลับจากการเดินทาง
1) เดินทางถึงมาตุภูมิหรือสถานที่ที่ตั้งใจว่าจะพักอาศัยอยู่สิบวันก่อนเวลาซุฮฺริ 
     ก. หากยังมิได้กระทำสิ่งที่ทำให้ศีลอดเป็นโมฆะ จำเป็นต้องถือศีลอดในวันดังกล่าว และการถือศีลอดถือว่าถูกต้อง 
     ข. หากได้กระทำสิ่งที่ศีลอดเป็นโมฆะแล้ว การถือศีลในวันนั้นไม่เป็นข้อบังคับสำหรับบุคคลดังกล่าว แต่จะต้องถือศีลอดชดเชยในภายหลัง
2) เดินทางถึงหลังเวลาซุฮฺริ การถือศีลอดของเขาถือเป็นโมฆะและจำเป็นต้องถือศีลอดชดเชยในภายหลัง

อนึ่งการเดินทางในเดือนรอมฎอนไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด แต่หากเป็นการเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงการถือศีลอด ถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

 ซะกาตฟิตเราะฮฺ
หลังจากสิ้นสุดเดือนรอมะฎอนอันจำเริญ กล่าวคือในวันอีดิ้ลฟิตรฺ จำเป็นต้องจ่ายทรัพย์สินจำนวนหนึ่งแก่ผู้ยากไร้ในฐานะซะกาตฟิตเราะฮฺ

จำนวนของซะกาตฟิตเราะฮฺ
บุคคลหนึ่งจะต้องจ่ายอาหารประมาณสามกิโลกรัมสำหรับตนเองและผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแล อาทิเช่น ภรรยาและบุตรแต่ละคน

สิ่งที่นำมาจ่ายเป็นซะกาตฟิตเราะฮฺ
สิ่งที่สามารถนำมาจ่ายเป็นซะกาตฟิตเราะฮฺได้ อาทิเช่น ข้าวสาลี อินทผาลัม ลูกเกด ข้าวสารและอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันนี้
หากจ่ายเป็นจำนวนเงินก็ถือว่าถูกต้องเช่นกัน

 
หมายเลขบันทึก: 52455เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2006 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท