เรื่องเล่า ตลาดนัดความรู้ฯ นครพนม : ความประทับใจในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน


ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ใช่ว่าไม่ดูแลตนเอง แต่พวกเขาดูแลในแบบวิธีของตนเองจนเห็นว่าความพยายามของตนเองไม่ได้ผลแล้วจึงมาพบแพทย์

ความประทับใจในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน


             เนื่องจากประสบการณ์ในการทำงานมีไม่มากนัก แต่ก็ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานมาพอสมควร ทำให้ได้เรียนรู้ว่า มีผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมากในปัจจุบัน และผู้ป่วยแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิบัติตัวต่างๆ การควบคุมอาหาร การรับประทานยา ตลอดจนการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น
 การได้ดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานก็สร้างความประทับใจได้หลากหลายเช่นกัน ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ หรือตลอดจนบางเรื่องที่คาดไม่ถึงว่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ
            ผู้ป่วยเบาหวานที่มารับการรักษา หลายคนที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี ทั้งๆที่เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา การศึกษาค่อนข้างน้อยด้วยซ้ำ แต่คนเหล่านั้นตระหนักดีถึงความสำคัญของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ต้องการให้มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานเกิดขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะจดจำระดับน้ำตาลในเลือดในแต่ละเดือนของตนเองได้ดี และจะนำมาเปรียบเทียบกับระดับน้ำตาลในเดือนปัจจุบันที่มาตรวจทุกครั้ง โดยจะถามว่า “ คุณหมอ เดือนนี้น้ำตาลเท่าไรคะ / ครับ” พอทราบผลก็จะพูดทันทีว่า เดือนที่แล้วน้ำตาลเท่ากับ ....... เอง ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเดิมก็จะบ่นว่า “ทำไมสูงขึ้น ไม่ได้กินของหวานเลยนะเนี่ย ” ทั้งๆ ที่ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สูงขึ้นกว่าเดิมเพียง 5-10 mg/dl  เท่านั้น หลังจากที่ตรวจเสร็จ เมื่อเห็นว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีแล้วก็จะนัดติดตามการรักษาห่างขึ้นเพื่อความสะดวกในการเดินทางของผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยจะตอบว่า “คุณหมอ อย่านัดห่างเลย นัดเท่าเดิมเถอะ ไม่อยากห่างหมอ เดี๋ยวน้ำตาลจะสูงขึ้น” (ทั้งๆที่ ตัวแปรหลักในการควบคุมน้ำตาลคือ ผู้ป่วยเองก็ตาม) พอผู้ป่วยมาตรวจเบาหวานได้สักระยะหนึ่ง ก็จะเริ่มถาม “ คุณหมอ ไม่ตรวจดูไตเหรอ  กลัวเบาหวานลงไต” สิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยมีความรู้เรื่องเบาหวานอยู่ระดับหนึ่งแล้ว จึงช่วยให้การควบคุมเบาหวานในผู้ป่วยกลุ่มนี้ง่ายขึ้น
             ในขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยอีกบางกลุ่มที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ เนื่องจากเหตุผลหลายอย่าง เช่น รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ ไม่ควบคุมอาหาร หรือรับประทานยาตามความพอใจของตนเอง (ปรับยาเอง / ไม่ได้ฟังวิธีรับประทานยาที่หมออธิบาย / ลืมว่าหมอให้ปรับยา ) หรือแม้กระทั่ง เอายาของผู้อื่นมารับประทาน เป็นต้น ผู้ป่วยบางคนก็ยังมีปัญหาเรื่องการดูแลสุขอนามัยของตน บางคนปล่อยให้เท้าเป็นแผลเหวอะหวะขนาดใหญ่เป็นเวลานานกว่าจะมาพบแพทย์ จนผลสุดท้ายต้องลงเอยที่การตัดเท้า/ขาทิ้ง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ใช่ว่าไม่ดูแลตนเอง แต่พวกเขาดูแลในแบบวิธีของตนเองจนเห็นว่าความพยายามของตนเองไม่ได้ผลแล้วจึงมาพบแพทย์
              ถ้าเราสามารถดูแลผู้ป่วยในกลุ่มหลังให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่ได้เหมือนผู้ป่วยในกลุ่มแรกได้ ก็คงจะสามารถรักษาผู้ป่วยเบาหวานให้มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น ผู้ป่วยเบาหวานก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานให้น้อยลง  ส่งผลให้ลดงานทางสาธารณสุขได้ด้วย      

ผู้เล่าเรื่อง  พญ.กมลรัตน์ บัญญัตินพรัตน์  โรงพยาบาลดงหลวง  จังหวัดมุกดาหาร

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 52449เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2006 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ความรู้อีกมาก ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท