ติวครูวิทย์ปูฐานระบบสุริยะใหม่


ติวครูวิทย์ปูฐานระบบสุริยะใหม่
ติวครูวิทย์ปูฐานระบบสุริยะใหม่

นักดาราศาสตร์ไทยเร่งให้ความรู้แก่ครูวิทยาศาสตร์ แนะถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับระบบสุริยะให้แก่นักเรียนโดยไม่ต้องรอตำรา หลังมติสมาพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติเปลี่ยนนิยามดาวเคราะห์ และปลดดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์น้อย

ระบบสุริยะจักวาล

ในการประชุมนักดาราศาสตร์ทั่วโลกเมื่อเดือนที่แล้ว ที่ประชุมสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้กำหนดนิยามเกี่ยวกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะใหม่โดยให้ดาวพลูโต ซึ่งเดิมเป็นดาวเคราะห์ดวงที่เก้าของระบบสุริยะ มีสถานะเป็น "ดาวเคราะห์แคระ" ร่วมกับเซเรส (Ceres) และอีริส (Eris) มติดังกล่าวส่งผลให้แบบเรียน และวิธีการสอนดาราศาสตร์ทั่วโลกจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่หมด

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราสาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า มติของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้กำหนดนิยามใหม่ของดาวเคราะห์ 3 ข้อว่า 1.ต้องเป็นวัตถุที่ไม่ใช่ดาวฤกษ์ และต้องโคจรรอบดาวฤกษ์หรือดวงอาทิตย์ 2.ต้องมีความเสถียร (กลม) มีมวลมากพอที่จะคงสภาพเป็นวัตถุทรงกลมอยู่ได้ และ 3.ต้องมีวงโคจรไม่ซ้อนทับวัตถุอื่นและเป็นวัตถุหลักในวงโคจรทั้งในแง่ขนาดและแรงโน้มถ่วงที่สามารถกำจัดวัตถุที่เล็กกว่าที่ร่วมอยู่ในวงโคจรออกได้หมด ซึ่งผลออกมาว่าพลูโตไม่ผ่านในข้อคุณสมบัติในข้อ 3

จากมติดังกล่าว สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมดาราศาสตร์ไทย และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ จึงได้เชิญครูวิทยาศาสตร์จากทั่วประเทศจำนวน 1,000 คน มาร่วมฟังการสัมมนาร่วมกัน เพื่อสามารถนำข้อมูลนี้ไปถ่ายทอดให้นักเรียน โดยไม่ต้องรอให้ตำราเล่มใหม่เสร็จ

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า เทคโนโลยีอวกาศทำให้เกิดความรู้ใหม่ตลอดเวลา ปัจจุบันมีกล้องดูดาวขนาดใหญ่และเครื่องวัดสัญญาณที่ทันสมัยเพิ่มขึ้นหลายแห่งบนพื้นโลก และยังมีกล้องโทรทัศน์อวกาศ เช่น กล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิล เป็นต้น นักดาราศาสตร์ใช้กล้องเหล่านี้ในการศึกษาระบบสุริยะในเชิงลึกอย่างละเอียด โดยเฉพาะบริเวณชายขอบของระบบสุริยะ ซึ่งพบว่าบริเวณที่เลยดาวเนปจูนออกไป ไม่ได้มีแค่ดาวพลูโต แต่ยังมีวัตถุน้อยใหญ่อีกมากมายให้ค้นหาอีก

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐ (นาซา) และองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ได้ส่งยานสำรวจไปเก็บข้อมูลดาวเคราะห์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นดาวอังคาร ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ ทำให้ได้ข้อมูลใหม่ที่ทำให้เข้าใจจักรวาลมากขึ้น และเมื่อต้นปีที่ผ่าน นาซาได้ส่งยานนิวฮอไรซอน ไปสำรวจดาวพลูโตแล้ว มีกำหนดเข้าใกล้ดาวพลูโตในอีก 9 ปีข้างหน้า

ที่มา : นสพ.คมชัดลึก

หมายเลขบันทึก: 52389เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2006 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท