"เขียนภาษา Tacit"


จุดนี้แหละครับ...ที่อยากจะเชิญชวน "คุณอำนวย" ทุกท่านมาร่วมกันค้นหา "วิธีการสร้างภาษา Tacit"

ประกายความคิดจาก  ทรัพย์ไพรวัลย์  25 มิถุนายน 2548

หลายๆตลาดนัด  หลายๆ workshop  ของการจัดการความรู้ (KM)   พบประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ  ค่อนข้างสำคัญต่อ ผลผลัพธ์  ของแต่ละเวที   นั่นก็คือ   การดึงเอาความรู้ปฏิบัติที่ฝังลึกอยู่ในคน (Tacit Knowledge) ของแต่ละคนออกมา  และเขียนหรือบันทึกเป็น  ข้อความที่เราคิดว่าสามารถจะสื่อถึง  Tacit Knowledge มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

แต่หลายคราอีกเหมือนกัน  ที่พบว่า  ผลลัพธ์  ที่ออกมานั้นมักมีลักษณะคล้ายคลึงกับความรู้เดิมที่เราเคยเรียน  หรือบางท่านรู้สึกเหมือนว่าเคยอ่านจากตำราเล่มเก่ามาแล้ว   ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า  เอ๊ะ!  ถ้าอย่างนั้น  คงไม่ต้องทำ KM  ก็พอจะเขียนออกมาในลักษณะนี้ได้

จุดนี้แหละครับ...ที่อยากจะเชิญชวน  "คุณอำนวย" ทุกท่านมาร่วมกันค้นหา  "วิธีการสร้างภาษา Tacit"   ตอนนี้เราพอมีเครื่องมือตัวหนึ่งที่พอจะดึง Tacit knowledge ออกมาได้บ้าง (ถึงแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม)  นั่นก็คือ  "เรื่องเล่าความสำเร็จ (Storytelling)   เมื่อเราดึงความรู้ฝังลึกในคนออกมาได้บ้างแล้ว   ปัญหาถัดมาก็คือ  ตอนที่เรานำมาเขียนเป็น ขุมความรู้ (Knowledge Assets) หากเราไม่ระวังเรื่องของ  ข้อความถ้อยคำที่ใช้   ภาษาที่ออกมาก็มักจะกลายเป็น  ภาษาทางวิชาการ  หรือ ภาษาทางการบริหารจัดการ ซึ่งในที่สุด  ความเป็น Tacit ก็จะค่อยๆหายไปจนไม่เหลือร่องรอยไว้เลย  อุปมา Tacit knowledge คล้ายๆกับ วิตามินในผักบางประเภท  เมื่อถูกความร้อนก็ค่อยๆสลายตัวไป  Tacit knowledge ก็เช่นเดียวกัน 

ตรงนี้ยังพอจับจุดได้บ้างว่า  เทคนิควิธีการเลี่ยงอาการดังกล่าว  คือ  พยายามเขียนเป็น  ความรู้เล็ก..เล็ก ในเชิงปฏิบัติ   ถึงแม้จะดูเหมือนเป็น  ความรู้ท่อนเล็ก  ท่อนน้อยก็ตาม    โดยอย่ามัวไปกังวลว่า ความรู้ที่ว่านี้จะต้องทำให้เป็น  "ความรู้สากล"    ขยายความคือ  ทำให้เป็นความรู้เฉพาะเจาะจง  ชนิดของใครก็ของมัน   เพราะความรู้เล็กๆ ที่ว่านี้ ค่อนข้างจะผูกติดกับ  ความเชื่อ  วิถีชีวิต  วิถีปฏิบัติ  ความคุ้นชินของคนในแต่ละที่ซึ่งไม่เหมือนกัน  คงจะเสียเวลาเปล่ากับความพยายามที่จะทำให้เป็น  ความรู้ที่สามารถใช้ได้กับทุกที่ (หรือมีความเป็นสากลมากขึ้น  หรือสำเร็จรูปมากขึ้น)   เหตุผลอีกประการหนึ่ง ก็คือ  การจัดการความรู้ที่ดีนั้น  เจ้าของต้องทำเอง   ไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นจะทำให้ได้

 คุณอำนวยผู้ที่ผ่านขั้นตอนการปฏิบัติในเรื่อง  การทำ ขุมความรู้  มาก็คงจะพอเห็นปัญหาเรื่องนี้    ดังนั้น การใช้ภาษาที่สื่อถึงความรู้ปฏิบัติที่แฝงอยู่ในคนได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้กันต่อ    เรื่องการใช้ภาษา Tacit  จึงเป็น Tacit Knowledge  อย่างหนึ่งเหมือนกัน   หากคุณอำนวยท่านใด  มี success story ในเรื่องนี้  เล่าสู่กันฟังผ่านชุมชนคุณอำนวย ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อยเลยครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #learning
หมายเลขบันทึก: 523เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2005 02:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท