รู้จัก...สุวรรณภูมิ (ตอนที่ 1)


สุวรรณภูมิ...ดินแดนแห่งทองคำ

สวัสดีค่ะ  พบกับความรู้เรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร  กันอีกแล้วนะคะ   ตอนนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก  สุวรรณภูมิ ใช่ไหมค่ะ   

ในอดีต  คำว่า  สุวรรณภูมิ  เป็นที่รู้จักกันในกลุ่มนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์  โบราณคดี  และผู้ที่ศึกษาความเป็นมาของพระพุทธศาสนาค่ะ  แต่ในปัจจุบัน  สุวรรณภูมิ  ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยในชื่อ  ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือที่เรียกว่า  สนามบินสุวรรณภูมิ  สนามบินใหม่  ทันสมัย และเป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้นำเงินตราเข้าประเทศ  และในวันนี้ (28  ก.ย.49) ยังเป็นวันเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิอย่างเป็นทางการอีกด้วยค่ะ

แต่เพื่อนๆ เคยสงสัยไหมค่ะว่าชื่อ  สุวรรณภูมิ  หมายถึงอะไรและมีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างไร วันนี้เรามาทำความรู้จักกับสุวรรณภูมิ  ด้วยกันนะคะ  

คำว่า  สุวรรณภูมิ  แปลตามรากศัพท์ได้ว่า  ดินแดนแห่งทองคำ   โดยปรากฏชื่อในวรรณกรรมของตะวันตกและตะวันออกว่า  ดินแดนสุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่พวกพ่อค้าชอบเดินทางไปค้าขายเพื่อหวังความร่ำรวย และภัมภีร์มหาวงศ์ของลังกายังระบุว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูตมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิอีกด้วย

นักวิชาการได้ให้ข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับสุวรรณภูมิไว้ 3  ประการ  คือ

ประการที่  1.
สุวรรณภูมิ หมายถึง  ดินแดนที่อุดมไปด้วยแร่ทองคำ  เนื่องจากทองคำเป็นแร่ธาตุที่หายาก  ดังนั้นเมื่อมีข่าวลือว่ามีทองคำในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้พ่อค้าตื่อนตัวที่จะเดินทางมาค้าขายเพื่อแสวงหาทองคำ  ในเรื่องนี้ศาสตราจารย์ยอร์ช  เซเดส์ ได้ตั้งสมมุติฐานไว้ว่า เนื่องจากเกิดภาวะวิกฤตในแบคเตรียช่วงพุทธศตวรรษที่  4  ทำให้อินเดียไม่สามารถซื้อทองคำจากไซบีเรียได้  อินเดียจึงหันไปซื้อทองคำจากอาณาจักรโรมัน  ต่อมาในพุทธศตวรรษที่  6 - 7 จักรพรรดิโรมันสั่งห้ามไม่ให้ทองออกนอกอาณาจักรโรมัน  พวกพ่อค้าอินเดียจึงมุ่งไปทางดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแสวงหาทองคำ  อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีมาสนับสนุน แม้จะมีหลักฐานว่ามีเหมืองทองคำในมาเลเชียและเกาะสุมาตรา แต่ก็เป็นทองคำคุณภาพต่ำที่ถูกนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับด้วยเทคนิควิธีแบบพื้นบ้าน

ประการที่  2 
สุวรรณภูมิ  หรือดินแดนแห่งทองคำ  อาจหมายถึงดินแดนที่มีแหล่งผลิตเครื่องใช้สำริดที่มีส่วนผสมของดีบุกในปริมาณสูง  ซึ่งทำให้ผิววัตถุมีสีเหลืองคล้ายสีทอง  ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวอินเดีย  สันนิฐานว่าพื้นที่ด้านตะวันตกของภาคกลางประเทศไทย  น่าจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเครื่องใช้สำริด  เรื่องจากได้ขุดพบเป็นจำนวนมากจากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร  อ.พนมทวน  จ.กาญจนบุรี

ประการที่  3
 สุวรรณภูมิอาจสื่อความหมายในเชิงเปรียบเทียบว่าหมายถึง  ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องเทศและของป่า  ซึ่งจัดเป็นสินค้าที่มีราคาแพง  ดังนั้นเมื่อพ่อค้าเดินไปมาค้าขายในบริเวณนี้แล้วจะร่ำรวยกลับไป   จึงเปรียบเทียบว่า ดินแดนแห่งทอง
 

รู้จักความหมายของ  สุวรรณภูมิ  และข้อสันนิษฐานต่างๆ ไปบ้างแล้วนะคะ  คราวหน้าเรามาทำความรู้จักสุวรรณภูมิกันต่อค่ะ  สำหรับวันนี้ลาไปก่อน จนกว่าจะพบกันใหม่ค่ะ

เอกสารอ้างอิง

 - ผาสุข  อินทราวุธ, ศ.ดร. สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางโบราณคดี. ภาควิชาโบราณคดี  คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2548.

หมายเลขบันทึก: 52279เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2006 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
คนลาวก็เชื่อว่า ดินแดนลาวคือสุวรรณภูมิด้วย

ดินแดนในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ คือ สุวรรณภูมิ ที่อินเดียกล่าวถึงค่ะ  เนื่องจากพบหลักฐานทางโบราณคดีในหลายๆ ประเทศ  เช่น ไทย  พม่า  ลาว  เป็นต้น

หลักฐานที่พบก็  คือสินค้าออกของอินเดียในสมัยนั้นอย่างเช่น  ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน  อาเกต ฯลฯ หรือจะเป็นสินค้าของเปอร์เซีย หรือโรมัน  ที่อินเดียนำเข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายกับชาวสุวรรณภูมิ  สินค้าของเราก็พวกของป่า  เครื่องเทศ กระวาน ไม้หอม  เป็นต้นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท