Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษา "ลุงตู่" นายชาญ สุจินดา : ตอนที่ ๕ : ข้อวิเคราะห์ทางกฎหมายว่าด้วยการเลือกกฎหมายที่มีผลกำหนดประเด็นเกี่ยวกับการทำงานของลุงตู่


กรณีศึกษา "ลุงตู่" นายชาญ สุจินดา : ตัวอย่างของคนที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายที่พบ ณ ตรอกตลาดนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. เพราะตกหล่นจากทะเบียนราษฎรตั้งแต่เกิดจนประสบปัญหาความไร้รากเหง้า โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ปรับปรุงล่าสุดในวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖

-----------

ข้อวิเคราะห์ทางกฎหมายที่ ๓ ในระหว่างนายทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายยังไม่รับรองสถานะคนสัญชาติไทยของนายชาญในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ลุงตู่ย่อมมีสิทธิทำงานในประเทศไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวและหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิในการประกอบอาชีพที่ผูกพันประเทศไทย

------------

ปัญหาสิทธิในการทำงานย่อมเป็นปัญหานิติสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน  ทั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐเจ้าของดินแดนที่มีการทำงาน ที่จะอนุญาตให้บุคคลใดทำงานบนดินแดนของตนหรือไม่และอย่างไร  หากปรากฏว่า นายชาญเป็นคนสัญชาติไทยก็จะมีสิทธิทำงานโดยไม่ต้องขออนุญาต สิทธิทำงานอันเป็นเรื่องของการประกอบอาชีพนั้นได้รับการประกันโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่หากนายชาญมีสถานะเป็นคนต่างด้าว เขาก็จะต้องขอร้องขออนุญาตทำงานตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ในปัจจุบัน ก็คือ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑

จึงต้องมาพิจารณาว่า นายชาญมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าว เราจะเห็นว่า แม้นายชาญจะมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดทุกจุดกับประเทศไทย แต่เมื่อกระบวนการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยยังไม่แล้วเสร็จ เขาจึงยังมีสถานะตามกฎหมายไทยเป็น “คนต่างด้าว” ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อสมมติของมาตรา ๕๗ วรรค ๑[1] แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  และตกเป็น “คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อสมมติของมาตรา ๕๘[2] แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ 

โดยสรุป หากยังไม่มีการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยให้แก่นายชาญในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย เขาจึงยังมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  นายชาญจึงมีหน้าที่จะต้องขออนุญาตใช้สิทธิทำงานในประเทศไทย เขาไม่มีเสรีภาพที่จะทำงานได้เลย และจะทำงานในสาขาอาชีพที่กฎหมายไทยห้ามมิได้

อนึ่ง มาตรา ๑๓  แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า

“คนต่างด้าวซึ่งไม่อาจขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๙ เพราะเหตุดังต่อไปนี้อาจขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนเพื่อทำงานตามประเภทที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติและผลกระทบต่อสังคม

(๑)   ถูกเนรเทศตามกฎหมายว่าด้วยการเนรเทศและได้รับการผ่อนผันให้ไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใดแทนการเนรเทศหรืออยู่ในระหว่างรอการเนรเทศ

(๒)   เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

(๓)   ถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ หรือตามกฎหมายอื่น

(๔)   เกิดในราชอาณาจักรแต่ไม่ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

(๕)   เกิดในราชอาณาจักรแต่ไม่ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

ประกาศตามวรรคหนึ่ง คณะรัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดไว้ด้วยก็ได้

การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เราอาจวิเคราะห์จากบทบัญญัติข้างต้นได้ว่า คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และอยู่ในระหว่างรอการส่งกลับออกนอกราชอาณาจักร หรือคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย หรือคนต่างด้าวโดยผลของการถอนสัญชาติไทย อาจทำงานได้ ภายใต้เงื่อนไข ๒ ประการดังต่อไปนี้ (๑) เป็นงานที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว และ (๒) ผู้ทำงานได้รับใบอนุญาตทำงานแล้วตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งผู้อนุญาตในปัจจุบัน ก็คือ อธิบดีกรมการจัดหางานหรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีมอบหมาย

ดังนั้น ตราบใดที่นายชาญยังถูกถือเป็น “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย” เขาจึงมีสิทธิที่จะร้องขออนุญาตทำงานตามกฎหมายดังกล่าว และจะเห็นว่า อาชีพกรรมกรเป็นอาชีพที่คนต่างด้าวตามมาตรา ๑๓ อาจร้องขออนุญาตทำงานได้ 

นอกจากนั้น ยังต้องตระหนักว่า การห้ามมิให้นายชาญทำงานเลยย่อมเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน เพราะการห้ามมิให้ทำงานก็จะทำให้มนุษย์ตกอยู่ในสภาวะไร้ความเป็นไปได้ที่จะทำมาหากินอย่างสุจริต การทำงานเป็นหนทางที่มนุษย์จะสร้างความอยู่รอดให้แก่ชีวิตและนำมาซึ่งคุณภาพในชีวิต

นอกจากนั้น การห้ามดังกล่าวอาจทำให้รัฐไทยตกเป็นผู้ละเมิดข้อ ๒๓ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งบัญญัติว่า

“(๑)

บุคคลมีสิทธิที่จะทำงาน, ที่จะเลือกงานอย่างเสรี, ที่จะมีสภาวะการทำงานที่ยุติธรรมและพอใจ  และที่จะได้รับความคุ้มครองจากการว่างงาน. (Everyone has the right to work, to free choice of employment, to just and favourable conditions of work and to protection against unemployment.)

(๒)

บุคคลมีสิทธิในการรับค่าตอบแทนเท่ากันสำหรับการทำงานที่เท่ากันโดยไม่มีการเลือกประติบัติใด ๆ. (Everyone, without any discrimination, has the right to equal pay for equal work.)

(๓)

บุคคลผู้ทำงานมีสิทธิในรายได้ซึ่งยุติธรรมและเอื้อประโยชน์เพื่อเป็นประกันสำหรับตนเองและครอบครัวให้การดำรงชีวิตมีค่าควรแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์, และถ้าจำเป็นก็ชอบที่จะได้รับความคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติม. (Everyone who works has the right to just and favourable remuneration ensuring for himself and his family an existence worthy of human dignity, and supplemented, if necessary, by other means of social protection.)

(๔)

บุคคลมีสิทธิที่จะก่อตั้งและเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของตน. (Everyone has the right to form and to join trade unions for the protection of his interests.)

(๑)

บุคคลมีสิทธิที่จะทำงาน, ที่จะเลือกงานอย่างเสรี, ที่จะมีสภาวะการทำงานที่ยุติธรรมและพอใจ  และที่จะได้รับความคุ้มครองจากการว่างงาน. (Everyone has the right to work, to free choice of employment, to just and favourable conditions of work and to protection against unemployment.)

(๒)

บุคคลมีสิทธิในการรับค่าตอบแทนเท่ากันสำหรับการทำงานที่เท่ากันโดยไม่มีการเลือกประติบัติใด ๆ. (Everyone, without any discrimination, has the right to equal pay for equal work.)

(๓)

บุคคลผู้ทำงานมีสิทธิในรายได้ซึ่งยุติธรรมและเอื้อประโยชน์เพื่อเป็นประกันสำหรับตนเองและครอบครัวให้การดำรงชีวิตมีค่าควรแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์, และถ้าจำเป็นก็ชอบที่จะได้รับความคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติม. (Everyone who works has the right to just and favourable remuneration ensuring for himself and his family an existence worthy of human dignity, and supplemented, if necessary, by other means of social protection.)

(๔)

บุคคลมีสิทธิที่จะก่อตั้งและเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของตน. (Everyone has the right to form and to join trade unions for the protection of his interests.)”

และขอให้ตระหนักว่า การประกันสิทธิในการทำมาหาเลี้ยงชีพดังกล่าวยังได้รับการรับรองในข้อ ๖[3] แห่งกติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งผูกพันประเทศไทยในสถานะของบ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะประเทศไทยได้ให้ภาคยานุวัติต่อกติกาดังกล่าวแล้ว

โดยสรุป ในระหว่างนายทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายยังไม่รับรองสถานะคนสัญชาติไทยของนายชาญในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย สิทธิทำงานในประเทศไทยของนายชาญย่อมตกอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  และโดยกฎหมายดังกล่าว นายชาญย่อมมีสิทธิร้องขออนุญาตทำงานเพื่อการทำมาหาเลี้ยงชีพได้

-----------

ข้อวิเคราะห์ทางกฎหมายที่ ๔ ในระหว่างนายทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายยังไม่รับรองสถานะคนสัญชาติไทยของนายชาญในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทยย่อมมีสถานะเป็นกฎหมายที่กำหนดความสามารถในการทำสัญญาเพื่อการทำงานของลุงตู่

-----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นิติสัมพันธ์ของเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และหากนิติสัมพันธ์ของเอกชนนั้นมีลักษณะเป็น “นิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ” นิติสัมพันธ์นี้ก็ย่อมตกอยู่ภายในกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายของรัฐที่มีการกล่าวอ้างความเป็นระหว่างประเทศของนิติสัมพันธ์ ทั้งนี้ ไม่ว่าคู่กรณีอีกฝ่ายจะเป็นรัฐหรือองค์กรของรัฐก็ตาม

ในกรณีที่มีการกล่าวอ้างความเป็นต่างด้าวของนายชาญ จึงจะต้องนำเอาหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมาใช้ในการพิจารณาความสามารถของบุคคลดังกล่าว ซึ่งกฎหมายนี้ก็รับรองให้ใช้กฎหมายขัดกันของรัฐที่มีการกล่าวอ้างนิติสัมพันธ์ เว้นแต่กรณีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

ในเมื่อมีการกล่าวอ้างความสามารถของนายชาญในประเทศไทย จึงจะต้องใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ในการเริ่มพิจารณานิติสัมพันธ์

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ความสามารถโดยทั่วไปของบุคคลตกอยู่ภายใต้มาตรา ๑๐ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งกำหนดว่า "ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น" ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้กฎหมายขัดกันไทย ความสามารถของบุคคลย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายสัญชาติของบุคคล หรือกล่าวอย่างชัดเจน ก็คือ กฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคล

แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายยังไม่ได้รับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยให้แก่นายชาญ เขาจึงยังถูกถือเป็นคนต่างด้าว ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อสมมติของมาตรา ๕๗ วรรค ๑[4] แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  และตกเป็น “คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อสมมติของมาตรา ๕๘[5] แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ 

เมื่อนายชาญยังไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทย และไม่มีรัฐใดเลยยอมรับสถานะคนสัญชาติ เขาจึงตกเป็น “คนไร้สัญชาติ”  จึงไม่อาจจะหากฎหมายสัญชาติมากำหนดความสามารถของเขาได้

ในกรณีเช่นนี้ จึงจะต้องใช้มาตรา ๖ วรรค ๔ ในการแก้ปัญหาการขัดกันแห่งสัญชาติของบุคคลธรรมดาในทางลบที่เกิดขึ้น (Negative Conflict of Nationalities) กล่าวคือ “สำหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ” ดังนั้น จึงต้องย้อนไปพิจารณาว่า นายชาญมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยหรือไม่

โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า แม้เขาจะไม่มีถิ่นที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญ เพราะไม่มีบ้านที่จะอาศัยอยู่ แต่เมื่อฟังข้อเท็จจริงได้ว่า เขาอาศัยอยู่ในบริเวณวัดแคนางเลิ้งในประเทศไทย โดยผลของมาตรา ๓๙ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทย จึงต้องถือว่า นายชาญย่อมมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนอยู่ในประเทศไทย ดังนั้น ความสามารถในทางกฎหมายของเขาจึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ทั้งนี้ โดยผลของมาตรา ๑๐ และมาตรา ๖ วรรค ๔ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ จึงต้องเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทยมาใช้ในการกำหนดปัญหาความสามารถของเขาได้เลย

จะเห็นว่า ในระหว่างนายทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายยังไม่รับรองสถานะคนสัญชาติไทยของนายชาญในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย  จะต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยกำหนดความสามารถในการทำสัญญาเพื่อการทำงานเก็บขยะระหว่างนายชาญและนางสุวัน แววพลอยงาม ในฐานะประธานชุมชนนางเลิ้ง

-----------

ข้อวิเคราะห์ทางกฎหมายที่ ๕ ในระหว่างนายทะเบียนท้องถิ่นเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายยังไม่รับรองสถานะคนสัญชาติไทยของนายชาญในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทยย่อมมีสถานะเป็นกฎหมายที่กำหนดความสมบูรณ์ของสัญญาเพื่อการทำงานในประเทศไทยของลุงตู่ เว้นแต่จะมีการแสดงเจตนาเลือกกฎหมายที่มีผลกำหนดสัญญา

-----------

ประเด็นที่จะต้องพิจารณาเป็นเรื่องของการเลือกกฎหมายที่มีผลกำหนดความสมบูรณ์ของสัญญา จึงเป็นเรื่องของนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน ซึ่งโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน ย่อมเป็นไปตามกฎหมายขัดกันของรัฐที่มีการกล่าวอ้างนิติสัมพันธ์ เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น

ไมว่าจะพิจารณาประเด็นภายใต้ระบบกฎหมายขัดกันแบบใด หากสัญญาจ้างทำในประเทศไทย และมีผลในประเทศนี้เช่นกัน กฎหมายที่มีผลบังคับ ก็ย่อมได้แก่ กฎหมายไทย

นอกจากนั้น โดยหลักการ เราอาจจะต้องยืนยันถึงการยอมรับหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนาเลือกกฎหมายอีกด้วย  หากมีเจตนาเรื่องกฎหมายของประเทศใดเป็นกฎหมายที่มีผล กฎหมายตามเจตนาของเอกชนคู่สัญญาจะได้รับการยอมรับในสถานะกฎหมายที่มีผลในประเด็นที่เกี่ยวความสมบูรณ์แห่งสัญญาทั้งในทางสาระหรือแบบก็ตาม ไม่ว่าสัญญานั้นจะมีลักษณะระหว่างประเทศแบบแท้หรือไม่ ก็ตาม ไม่ว่าการพิจารณาสัญญานี้จะพิจารณาโดยศาลในตระกูลกฎหมายขัดกันแบบ Civil Law หรือ Common Law ก็ตาม

สำหรับกฎหมายขัดกันไทยในเรื่องสัญญานั้น บทบัญญัติหลัก ก็คือ มาตรา ๑๓  แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑  ซึ่งเรื่องสาระปรากฏในมาตรา ๑๓ วรรค ๑ และ ๒ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑  ในส่วนแบบแห่งสัญญาที่ไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายที่มีผล ก็คือ มาตรา ๑๓ วรรค ๓  แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑  แต่ ในส่วนแบบแห่งสัญญาที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายที่มีผล ก็คือ มาตรา ๙ วรรค ๒  แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ 

โดยพิจารณามาตรา ๑๓ ซึ่งเป็นกฎหมายขัดกันไทยว่าด้วยความสมบูรณ์แห่งสัญญา เราอาจสรุปได้ว่า กฎหมายขัดกันไทยรับรองให้ใช้กฎหมาย ๔ ประเภทดังต่อไปนี้กำหนดความสมบูรณ์ของสัญญาจ้างแรงงานตามข้อเท็จจริง กล่าวคือ  (๑) กฎหมายแห่งเจตนาของคู่สัญญา (๒) กฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติอันร่วมกันของคู่สัญญา (๓) กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญาเกิด หากไม่มีเจตนาเลือกกฎหมาย และคู่สัญญามีสัญชาติต่างกัน และ (๔) กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญามีผลหากไม่มีเจตนาเลือกกฎหมาย และไม่อาจทราบถิ่นที่เกิดแห่งสัญญา 

หากเป็นสัญญาจ้างที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายที่มีผลบังคับต่อแบบแห่งสัญญา ก็ย่อมเป็นไปตามมาตรา ๙ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ กล่าวคือ จะต้องกำหนดความสมบูรณ์ทางแบบของสัญญาโดยกฎหมายของรัฐเจ้าของถิ่นที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ มิใช่กฎหมายตามที่มาตรา ๑๓ ระบุถึง

สำหรับกรณีความสมบูรณ์แห่งสัญญาจ้างแรงงานระหว่างลุงตู่และชุมชนนางเลิ้งจึงเป็นไปภายใต้กฎหมายไทย อันได้แก่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เช่นกัน

จะสังเกตว่า แม้ลุงตู่จะยังคงตกอยู่ในสถานะ “คนไร้สัญชาติ” ลุงตู่ก็เป็นผู้ทรงสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน กล่าวคือ เป็นคู่สัญญาในสัญญาจ้างแรงงานได้ และกฎหมายไทยก็คุ้มครองสัญญาของลุงตู่ในลักษณะเดียวกับคนมีสัญชาติ “อย่างไม่แตกต่าง”



[1] ซึ่งบัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย”

[2] ซึ่งบัญญัติว่า “คนต่างด้าวผู้ใดไม่มีหลักฐานการเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามมาตรา ๑๒ (๑) หรือไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามพระราชบัญญัตินี้และทั้งไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนต่างด้าวผู้นั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้”

[3] ซึ่งบัญญัติว่า

“๑.   รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิในการทำงาน ซึ่งรวมทั้งสิทธิของทุกคนในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพโดยงานซึ่งตนเลือกหรือรับอย่างเสรี และจะดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสมในการปกป้องสิทธินี้

๒.   ขั้นตอนซึ่งรัฐภาคีแห่งกติกานี้จะต้องดำเนินเพื่อให้บรรลุผลในการทำให้สิทธินี้เป็นจริงอย่างบริบูรณ์ จะต้องรวมถึงการให้คำแนะนำทางเทคนิคและวิชาชีพและโครงการฝึกอบรม นโยบายและเทคนิคที่จะทำให้บรรลุผลในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ และการจ้างงานอย่างบริบูรณ์และเป็นประโยชน์ภายใต้เงื่อนไขทั้งหลายที่เป็นการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล”

[4] ซึ่งบัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย”

[5] ซึ่งบัญญัติว่า “คนต่างด้าวผู้ใดไม่มีหลักฐานการเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามมาตรา ๑๒ (๑) หรือไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามพระราชบัญญัตินี้และทั้งไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนต่างด้าวผู้นั้นเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้”


หมายเลขบันทึก: 521755เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2013 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท