ประทับใจยิ่งนัก...“นักอนุรักษ์น้อย”…


ประทับใจยิ่งนัก...นักอนุรักษ์น้อย”…


แก้มใสใบหน้าเปื้อนคราบเหงื่อไหล ท่ามกลางความร้อนระอุ  ถุงในมือมีปลาหลายตัวยกชูขึ้นให้เห็น..  เมื่อถูกถามว่า ....“อาเด๊ะ”  ได้ปลาอะไรบ้าง..หลายตัวไหม๊??  ..รอยยิ้มบ่งบอกถึงความสุขในวันนี้ ... ส่งผ่าน“พลังความสุข” ที่เกิดขึ้นและรับรู้ได้  หากแต่นั่นไม่ใช่เฉพาะเด็กน้อยสองคนนี้  ยังส่งผลถึง“ความสุขในครอบครัว” ... ที่ยืนยันได้ว่า...มื้อใดมื้อหนึ่งในวันนี้ หลายชีวีที่บ้าน.. . มีอาหารอิ่มท้อง... ผลงานของ“นักอนุรักษ์น้อย”


วิถีชีวิตที่นี่ .. การดำรงชีพของผู้คนยังคงพึ่งพิงธรรมชาติอันเป็นแหล่งอาหารสำคัญ โดยเฉพาะชุมชนรอบอ่าวปัตตานี ที่มีรายได้น้อย...การจับปลา หาปลาด้วยวิธีต่างๆในแหล่งน้ำอาจจะเป็นเกมส์เพื่อความสนุกสนานสำหรับเด็กๆใน ครอบครัวที่พ่อแม่มีกำลังหามาให้มีกินครบทุกมื้อ  แต่ทว่าที่นี่ภาพชีวิตต่างไป ...เบื้องหน้าในสายตาที่เรามองเห็น หลายๆครอบครัวทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ ต่างทำหน้าที่ ทั้งลงไปแช่ในน้ำ ใช้มือจับกุ้ง  วางตาข่ายจับปลา  หา “สัตว์น้ำ” จากธรรมชาติ  เพียงเพื่อยังชีพแบบ “พอดี พอกิน” …เป็นการไหลเวียนของพลังงานเพื่อการดำรงชีพ ที่กินกันเป็นทอดๆโยงใยตามบทบาทของผู้ล่า/ผู้ถูกล่าในสายใยอาหารตามกฎแห่ง ธรรมชาติ



ตะวันฉายแสงแรงกล้า  เงาสั้นๆบ่งบอกได้ว่าอยู่ในยามไหนของวัน  ขณะที่เรา “ครูพื้นที่”และผองเพื่อนกำลังส่องกล้องทางไกล สำรวจและบันทึกการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชุ่มน้ำพร้อมกับนับนกไปด้วย  ไม่ไกลกัน ณ. มุมหนึ่งริมอ่าวปัตตานี ..“อาแบ และอาเด๊ะ”…(ภาษามลายูถิ่น..อาแบ- พี่ และอาเด๊ะ-น้อง)  ทั้งคู่มีสีหน้าเอาจริงเอาจัง ปนด้วยความสนุกขณะกำลังจับปลา ซึ่งมีหลายชนิดรวมถึง “ปลาหมอเทศ”  ตัวโตๆที่อาศัยอยู่ในโพรงขอนไม้ ...ต้นตาลผุๆ..ที่แช่อยู่ในร่องน้ำ     “ผู้พี่”..กลิ้งขอนไม้  ส่วน “น้องชาย” วิดน้ำ  ภาพการวิ่งกลับไป-มาระหว่างปลายแต่ละด้าน ขอนไม้ผุๆของตาลต้นใหญ่   หรือบางครั้งก็เปลี่ยนเป็นหาเศษไม้มาเคาะภายนอก จากนั้นก้มลงตัวดูตรวจสอบในโพรงไม้ภายใน ท่ามกลางความมืดภายใน..จะมีปลาอะไรบ้างซ่อนตัวอยู่??  เด็กน้อยทั้งสองฝึก “ทักษะชีวิต” ในการหาปลาแบบ.. รู้จักธรรมชาติของปลา...เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยพื้นฐานนั่นคืออาหารสำหรับ ยังชีพ..



เสียง...บ่งบอกความตื่นเต้น เมื่อปลาตัวที่หนึ่งถูกจับขึ้น  เก็บมาใส่ถุงพลาสติกที่เตรียมไว้..กำแน่นๆในมือ  เติมน้ำลงในถุง..ปลาตัวแล้วตัวเล่าถูกจับมาใส่  ..."เกมส์ชีวิต" ท่ามกลางดนตรีจากธรรมชาติ เสียงคลื่นลมทะเลผัดผ่านแนวสนทะเลริมฝั่ง เร่งเร้าให้ชวนตื่นเต้น.. ทั้งปลาและคน ต่างเล่นเกมส์ “ซ่อนหา” ที่เดิมพันด้วยชีวิตของปลา ซึ่งจะต้องเอาตัวให้รอดท่ามกลางภัยคุกคาม 



สีหน้า “อาแบ”...แน่ใจว่า..พอแล้ว...บอกน้องให้ยุติ.. พอใจจำนวนปลาเท่าที่ได้  จากนั้นทั้งสองพี่น้องต่างช่วยกันกลิ้งขอนไม้ตาลกลับลงไปแช่ในน้ำเหมือน เดิม..อากับกิริยาทั้งหมดนี้  ไม่มีใครสอน หากแต่เรียนรู้  ด้วยตนเอง  บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนและเข้าใจ  สะท้อนให้เห็นถึง..ชีวิตที่ต่อชีวิต ในสายใยอาหาร.. แม้เพียงเป็นเด็กแต่มีความรับผิดชอบไม่น้อยไปกว่าผู้ใหญ่  ..“อาแบ”  เรียนชั้น ป. 5  ขณะที่ “อาเด๊ะ” ชั้นป. 3  ที่โรงเรียน “ชุมชนบ้านยูโย”ใกล้บ้าน....เสียงที่สะท้อนออกมาไม่ว่าผู้ปกครองหรือครูทราบ ว่า การอ่านออกเขียนได้ของเด็กๆที่นี่อยู่ในเกณฑ์ไม่ดี  แต่ถ้าวัดกันด้วยทักษะชีวิต ยืนยันได้ว่ามีมากทีเดียว..การใช้ชีวิตในแบบอย่าง..พอดี พอกิน พออยู่..ซึ่งมีความสำคัญต่อการเข้าใจ/ดูแล/รักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ อย่างจำกัด ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน


ณ. ห้องเรียนชีวิตที่ไม่มีกรอบคิด...วัยเยาว์ ช่างมีสีสัน ...ณ เวลานั้น ภาพเด็กน้อยทั้งสองคนยืนประจำที่ปลายแต่ละด้านของขอนไม้  ผู้พี่ออกแรงมากกว่าผลักกลิ้งท่อนต้นตาลผุๆ  ลงไปแช่ในแอ่งน้ำเช่นเดิม หลังจากที่จับปลาจำนวนหนึ่งที่หลบซ่อนอยู่จนพอใจ ภาพทั้งหมดนี้  สะท้อนให้เห็นถึง ความจริงว่า หากไม่กลิ้งขอนไม้กลับไปไว้ที่เดิม  คราวต่อไปก็จะไม่มีแหล่งอาศัยให้ปลา  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีปลาให้จับเพื่อเป็นอาหารอีกต่อไป  ประสบการณ์สอนให้รู้ว่า  ภายในขอนไม้ “ต้นตาล”ที่ไส้กลวง เป็นแหล่งหลบซ่อนของเหล่าสัตว์น้ำเป็นอย่างดี  ปลาตัวเล็กเติบโตเป็นปลาตัวโตขึ้น จึงเลือกจับเฉพาะขนาดที่นำไปประกอบอาหาร  เป็นที่น่าชื่นชมนัก ทำหน้าที่เป็น “นักอนุรักษ์น้อย”  ที่รู้จักแก่นแท้ของการอนุรักษ์  ผ่านการเรียนรู้ ที่เตือนตนว่า …หากไม่ดูแล รักษา  เข้าใจ รู้จักธรรมชาติ  ปลาหรือสัตว์น้ำชนิดอื่นก็จะไม่มีหรือจำนวนน้อยลงไป


หากถูกถาม... เด็กน้อยคงตอบไม่ได้ว่า   "นิยาม" ความหมายของการอนุรักษ์คืออะไร และไม่เคยรู้ว่า นิยามเหล่านั้นจำเป็นต่อการดำรงชีพ  แต่ทว่าสิ่งที่ตนเองได้ปฏิบัติในชีวิต ขณะหาปลานั้น นำไปสู่ .."หัวใจของการอนุรักษ์"   และเป็นนักอนุรักษ์เต็มตัว ที่ทำไปด้วยทักษะ โดยไม่ยึดติดกรอบคิด ผ่านการพัฒนาทั้งฐานกาย ฐานใจ ฐานคิดไปพร้อมๆกัน  ปฏิบัติไปโดยไม่เคยเรียนในชั้นเรียน  ใช้การสังเกตและเรียนรู้จากธรรมชาติ  ทั้งการรักษาแหล่งอาศัยไว้ดั่งเดิม รวมถึงการจับสัตว์น้ำแต่พอเพียง ..

อันว่าโลกเรานี้  การรับรู้ (perception) และจิตสำนึกของการอนุรักษ์  ดูช่างจะเป็นภาพที่ตอกย้ำความแตกต่าง...

เด็กน้อยใน “มหาวิทยาลัยชีวิต”...ผู้ไม่สนใจนิยาม..ไม่สนใจความหมายของคำว่า “อนุรักษ์.” หากแต่วิถีชีวิตปฏิบัติแนวคิดการอนุรักษ์เพราะเห็นคุณค่าโดยเอาชีวิตเป็น เดิมพัน…  ส่วนการเรียนรู้ใน "ระบบการศึกษา..ไม่ว่าระดับใด แม้แต่มหาวิทยาลัย"  มักติดกรอบ ถูกพันธนาการทางความคิด  ... “รู้นิยาม" ถามก็ตอบได้ หากแต่ขาดความเข้าใจ/นำไปปฏิบัติ” หรือที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆการทำร้ายสัตว์ จับสัตว์ป่ามาขาย การตัดไม้ทำลายป่า แม้กระทั่งเร็วๆนี้ "พ.ต.ท"และคณะฯ กับหลักฐานซากสัตว์ที่เกิดจากการยิง ฆ่าสัตว์ในเขตป่าอทช. แก่งกระจาน ....

เฝ้าครุ่นคิด.. ฤา..วิกฤตจะมาถึงเร็วไป... หากคนไม่มีจิตสำนึกและขาดศีลธรรม?? เราคงต้องร่วมมือกันให้มากขึ้นเพื่อปลูกฝังสิ่งดีงามในใจคน..


...อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/1276



หมายเลขบันทึก: 520617เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2013 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2013 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

อ่านแล้ว...เห็นชีวิต

ข้อความนี้สะท้อนใจและความจริง (บางส่วน-ส่วนใหญ่?) ในสังคม  

"เด็กน้อยใน “มหาวิทยาลัยชีวิต”...ผู้ไม่สนใจนิยาม..ไม่สนใจความหมายของคำว่า “อนุรักษ์.” หากแต่วิถีชีวิตปฏิบัติแนวคิดการอนุรักษ์เพราะเห็นคุณค่าโดยเอาชีวิตเป็น เดิมพัน…  ส่วนการเรียนรู้ใน "ระบบการศึกษา..ไม่ว่าระดับใด แม้แต่มหาวิทยาลัย"  มักติดกรอบ ถูกพันธนาการทางความคิด  ... “รู้นิยาม" ถามก็ตอบได้ หากแต่ขาดความเข้าใจ/นำไปปฏิบัติ....” 

ขอบคุณค่ะ  :)

สวัสดีค่ะอาจารย์

อยากจะให้ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นต่อๆไป 

อาจารย์เป็นอย่างไรบ้าง พักนี้ข่าวปัตตานี ดังจังค่ะ ดังทุกวันเลยเชียว

ขอส่งกำลังใจไปถึงชาวเลตานี ด้วยนะคะ:)

ขอบคุณเรื่องราวน่ารักของอาแบ และอาเด๊ะ...นักอนุรักษ์ที่รักแบบไม่รู้ตัวค่ะ

ประทับใจมากค่ะ น้องๆ คงรู้สึกว่าธรรมชาติคือบ้านที่เราต้องรักษาไว้ ไม่ใช่ที่ที่ใครจะไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว

แววตาและรอยยิ้มสดใสบริสุทธิ์มากค่ะ อยากให้เยาวชนรู้สึกว่าทุกพื้นที่ที่เรายืนเหยียบบนผืนแผ่นดินคือบ้านจังเลยค่ะ ไม่มีใครอยากให้บ้านสกปรก ถูกทำลายและเสื่อมโทรมแน่นอนค่ะ

เป็นเรื่องราว และบรรยากาศที่ น่าประทับใจค่ะ 

อ่านแล้วประทับใจ เด็กๆมีทักษะชีวิตที่ดี

มีความสุขกับธรรมชาติ ทำให้คิดถึงตอนเด็กๆเลยครับ

    สวัสดีค่ะ อาจารย์   วรรณชไม  การถนัด

    มาชมภาพ  เกมส์ชีวิตค่ะ ที่ตื่นเต้นค่ะ

สวัสดีค่ะ  หยั่งราก ฝากใบ

 เช่นเดียวกันค่ะ สะท้อนสิ่งที่ดูจะแตกต่างกัน..... ในการดำรงชีวิตบน "ความพอ"....need VS greed...ขอบคุณค่ะที่ฝากความเห็นไว้ชวนคิด:-))

สวัสดีค่ะน้อง หนูรี

คิดถึงคนถ้ำทะลุเช่นกันนะค่ะ ..จากคนริมเลตานี...แฮ่ๆๆ ..หมู่นี้ไม่ได้เข้ามาแซวน้องหนูรี ด้วยผันตัวไม่ทัน..ค่ะภาพที่ปรากฏในบันทึกนี้ยังคงมีอยู่  และปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันของเ็ด็กน้อยที่นี่  ปลา หรือสัตว์น้ำต่างๆ ดูจะเชิญชวนให้ใช้ทักษะชีวิต ที่มีเดิมพันเป็นอาหาร  ..เทียบกันไม่ได้กับ tablet ซึ่งเด็กๆไม่คุ้นชิน  

อืมม์...ขอบคุณกำลังใจที่ส่งมาถึง ..คนริมเลตานีค่ะ..... ถึงมีเสียง ฮ. บินวน ต่ำๆ กลางวันบ้าง กลางคืนบ้าง ก็ยังหลับได้ดี ทันทีที่หัวถึงหมอน อิอิ..โดยเฉพาะภาระงานปลายภาค..

เช่นกันค่ะ ..ชาวถ้ำเดินทางไป-กลับ หาดใหญ่-ถ้ำทะลุ..หรือไปไหน-มาไหน!!  ขอให้ปลอดภัย..นะคะ:-))

สวัสดีค่ะ noktalay

ค่ะ..ครูนก...วันที่เจอกันกับ อาแบและอาเด๊ะ...รอยยิ้มสดใส..ถามชวนคุยก็ตอบ..เราไม่รบกวนมาก  ขณะที่สำรวจสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ  ก็เฝ้าสังเกตไปด้วย จนเมื่อเด็กๆสิ้นสุด เลยเข้าไปพูดคุย..ความสดใสที่มอบให้ ทักษะชีวิตที่ดี มีความรับผิดชอบ..ดูจะเป็นรางวัลที่ร่วมกันชื่นชม... ชีวิตวัยเยาว์..ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยการเคารพ สิ่งที่เป็น-อยู่-คือ... ในวันนั้นค่ะ ครูนก..ขอบคุณที่แวะมาฝากความเห็นไว้ค่ะ :-))

สวัสดีค่ะอาจารย์ Sila  Sila Phu-Chaya
สิ่งที่พบเห็น สร้างความจรรโลงใจ จริงๆในวันนั้นค่ะ ..เด็กน้อย พี่-น้อง คู่นี้เขามีมิติของคำว่า "บ้าน" ในมุมมองของเขา เป็นทั้งบ้านที่มีพ่อ แม่ พี่น้องแล้ว  ก็ยังมีบ้าน ที่หมายถึง... ระบบนิเวศ อันกว้างใหญ่ .. ที่ซึ่งอยู่ร่วมกันทั้้ง คน ทั้งปลา ทั้งนก ทั้งน้ำ/ฟ้า/อากาศ ...หรือ ย่อมๆ ลงมาก็ บ้านของปลา/สัตว์น้ำ ในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนั้น ที่หากไปรบกวนบ้านผู้อื่นแล้ว ก็ยังคงให้ความเคารพ จัดเก็บไว้ในสภาพเดิม..อย่างที่เด็กๆช่วยกันเข็น ขอนไม้ตาลผุๆ กลับไปที่เดิม....ช่วยกันรักษา และไม่ทำลาย..ค่ะ ..ขอบคุณที่แวะมาทักทาย ฝากความเห็นชวนคิดไว้คะ :-))

สวัสดีค่ะ น้อง พบ. ชลัญธร  น้องแอ๊ด.ขจิต ฝอยทอง..และครูทิพย์ครูทิพย์

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย..ร่วมประทับใจไปกับ วัยใสๆ ในธรรมชาติ ..ที่มีทักษะชีวิตดีๆ..ได้นำประเ็ด็นนี้มีชวนคุย กับพี่ๆนักศึกษา ว่าเห็นอะไรบ้างในพฤติกรรมของน้องๆ...ได้ความคิดหลากหลายค่ะ..ช่วยเชื่อมโยงประสบการณ์ให้ จากประเด็นเล็กๆแต่เป็นทักษะชีวิตที่ให้ข้อคิดที่น่าชื่นชมค่ะ  ขอบคุณที่แวะมาทักทายและฝากความคิดเห็นไว้

น้องแอ๊ด..คิดถึงวัยเด็กละซิค่ะ  คงซนไม่น้อยเช่นกัน เรื่องจับปลา  รู้สึกจะเป็นสิ่งที่คู่กันกับชีวิตของเด็กๆต่างจังหวัดนะค่ะ มีท้องทุ่ง ที่ให้เล่นเยอะไปหมด   :-))..

  • ประทับใจและขอชื่นชมจริงๆครับ

เห็นเด็กๆ แล้วชื่นใจค่ะ อนาคตประเทศไทยอยู่ในกำมือของพวกเขา อยากให้ปลูกฝังกันเยอะๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท