นิทานพื้นบ้าน - นายดั้น


นิทานพื้นบ้านภาคใต้-นายดั้น





เนื้อเรื่อง
       นิทานเรื่อง นายดั้น เขียนบันทึกลงในสมุดข่อย ต้นฉบับเป็นของวัดท่าเสริม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะเวลาที่แต่งนิทาน คงอยู่ในระยะรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ แต่งด้วยกาพย์ ๓ ชนิดคือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนาง ๒๘ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิง สวดอ่านนิทานในยามว่างนิทานเรื่องนายดั้น มีเนื้อเรื่องดังนี้นายดั้น เป็นคนตาบอดใส อยากได้นางริ้งไรเป็นภรรยา จึงส่งคนไปสู่ขอและนัดวันแต่ง โดยฝ่ายนางริ้งไรไม่รู้ว่าตาบอด เมื่อถึงวันแต่งงานนายดั้นพยายามกลบเกลื่อนความพิการของตนโดยใช้สติปัญญาและไหวพริบต่าง ๆ แก้ปัญหา เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าภาพขึ้นบนบ้าน นายดั้นกลับนั่งตรงนอกชาน เมื่อคนทักนายดั้นจึงแก้ตัวว่า”ขอน้ำสักน้อย ล้างตีนเรียบร้อย จึงค่อยคลาไคล ทำดมทำเช็ด เสร็จแล้วด้วยไว แล้วจึงขึ้นไป ยอไหว้ซ้ายขวา”
       ขณะอยู่กินกับนางริ้งไร วันหนึ่งนางริ้งไรจัดสำรับไว้ให้แล้วลงไปทอผ้าใต้ถุนบ้าน นายดั้นเข้าครัวหาข้าวกินเองทำข้าวหกเรี่ยราดลงใต้ถุนครัว นางริ้งไรร้องทักว่าเทข้าวทำไม นานดั้นจึงแก้ตัวว่า”เป็ดไก่เล็กน้อยบ้างง่อยบ้างพลีย ตัวผู้ตัวเมีย ผอมไปสิ้นที่ อกเหมือนคมพร้า แต่เพียงเรามา มีขึ้นดิบดี หว่านลงทุกวัน ชิงกันอึ่งมี่ กลับว่าเรานี้ ขึ้งโกรธโกรธา”วันหนึ่งนางริ้งไรให้นายดั้นไปไถนา นายดั้นบังคับวัวไม่ได้ วัวหักแอกหักไถหนีเตลิดไป นายดั้นจึงเที่ยวตามวัว ได้ยินเสียงลมพัดใบไม้แห้งชายป่า เข้าใจว่าเป็นวัว จึงวิดน้ำเข้าใส่เพื่อให้วัวเชื่อง นางริ้งไรมาเห็นเข้าจึงถามว่าทำอะไร นายดั้นได้แก้ตัวว่า”พี่เดินไปตามวัว ปะรังแตนแล่นไม่ทัน จะเอาไฟหาไม่ไฟ วิดน้ำใส่ตายเหมือนกัน ครั้นแม่บินออกพลัน เอารังมันจมน้ำเสีย”อยู่มาวันหนึ่งนายดั้นจะกินหมาก แต่ในเชี่ยนหมากไม่มีปูน จึงร้องถามนางริ้งไร นางบอกที่วางปูนให้
       แต่นายดั้นหาไม่พบ ได้ร้องถามอีกหลายครั้งแต่ก็ยังหาไม่พบ นายดั้นจึงร้องท้าให้นางริ้งไรขึ้นบ้านมาดู หากปูนมีตามที่บอก จะยอมให้นางริ้งไรเอาปูนมาทาขยี้ตานางริ้งไรจึงเอาปูนมาทาขยี้ตานายดั้นนายดั้นถือโอกาสจึงร้องบอกว่าตาบอดเพราะปูนทานางริ้งไรจึงต้องหายามารักษาจนตาหายบอดได้บวชเรียน



คติ / แนวคิด
นิทานเรื่องนายดั้น ให้แนวคิดดังนี้
๑. สะท้อนภาพของสังคมชนบทนครศรีธรรมราช ที่ชาวบ้านยึดถือความมีน้ำใจต่อกัน คอยช่วยเหลือกันโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย
๒.ลักษณะความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทที่เน้นความเรียบง่ายไม่มีพิธีรีตองให้ยุ่งยากถือเอาความสะดวกง่ายเป็นหลักมีการเล่นหัวหยอกล้อกันโดยไม่ถือสา
๓. ผู้มีปัญหาและปฏิภาณไหวพริบดี จะเป็นผู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆได้สำเร็จแม้จะประกอบกิจการงานใดก็จะสำเร็จด้วยดี



ที่มา:http://นิทานพื้นบ้าน.whitemedia.org/004/


คำสำคัญ (Tags): #นายดั้น
หมายเลขบันทึก: 520195เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2013 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2013 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท