ศรีธนญชัย


ศรีธนญชัยเป็นนิทานตลกขบขันที่ได้ชื่อมาจากตัวเอกเจ้าปัญญาแบบฉลาดแกมโกง 

นิทาน เรื่องศรีธนญชัยแพร่หลายทั่วไปในดินแดนประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้านใน ภูมิภาคอุษาคเนย์ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่านิทานเรื่องนี้กำเนิดที่ไหน? หรือแพร่หลายกระจายจากดินแดนแห่งใด? 

เมื่อเอ่ยชื่อ “ศรีธนญชัย” คนไทยทั่วไปจะรู้ทันทีว่าหมายถึงคนมีปฏิภาณเป็นยอด มีไหวพริบเป็นเยี่ยม แต่มากด้วยเล่ห์เหลี่ยมเป็นร้อยเล่มเกวียนจนยากที่ใครจะรู้เท่าทัน ลักษณะดังกล่าวชวนให้นึกถึงพวก “ตลกหลวง” ที่ทำหน้าที่ถวายเรื่องราวและการกระทำที่สนุกสนามให้พระเจ้าแผ่นดินสมัย โบราณทรงมีอารมณ์สดชื่นรื่นรมย์ 

ในกฎมณเฑียรบาลสมัยต้นกรุง ศรีอยุธยา มีชื่อตำแหน่งที่น่าสงสัยว่าจะเป็น “ตลกหลวง” อยู่ด้วย ๒ ชื่อ คือ “นักเทศ” และ “ชันที” บางแห่งเขียนติดกันว่า “นักเทศขันที” แต่หมายถึงเจ้าหนักงาน ๒ คน 

ชื่อ “นักเทศ” ชี้ชัดว่าหมายถึงชาวต่างชาติ คือไม่ใช่พวกสยามและน่าจะมีลักษณะพิเศษอยู่ด้วย คือเป็นพวกกะเทย เรื่องนี้มีร่องรอยหลายประการที่ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นพวกที่ราชสำนักกรุง ศรีอยุธยาซื้อมาจากอินเดียและเปอร์เซีย ส่วน “ขันที” คงเป็นผู้ชายจีนที่ถูกตอนแล้ว ทั้งพวกนักเทศและขันทีล้วนเป็นผู้ชายชาวต่างชาติ คือ “แขก” กับ “เจ๊ก” ที่ถูกตอนหรือหรือถูกทำให้เป็นกะเทย แล้วถูกซื้อ-ขายเข้ามารับราชการอยู่ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา และน่าเชื่อว่าจะอยู่ใกล้ชิดกับฝ่ายใน เพราะได้รับสิทธิพิเศษ 

น่า สงสัยว่าพวกนักเทศขันทีเหล่านี้แหละ ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมหมายกำหนดการเข้าเฝ้าและระเบียบการต่าง ๆ ในราชสำนักรวมทั้งถวายเรื่องราวอันรื่นรมย์ต่อพระเจ้าแผ่นดินด้วย 

บาง ทีพวกนักเทศหรือขันทีอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับนิทานเรื่องศรีธนญชัยก็ได้ เพราะนิทานเรื่องนี้มีแพร่หลายทั่วไปทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ ซึ่งน่าจะมีเค้ามาจากต่างประเทศ 

นิทานเรื่องศรีธนญชัยสมัยแรกเป็นคำ บอกเล่าปากต่อปากสืบ ๆ กันต่อมา ไม่รู้ว่าเริ่มจากไหนและแพร่หลายไปอย่างไรบ้าง สมัยแรก ๆ นี้ยังไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมามีผู้เอานิทานเรื่องศรีธนญชัยไปแต่งเป็นร้อยกรอง หรือเป็นกาพย์ กลอนแบบต่าง ๆ ที่นิยมตามท้องถิ่นนั้นเพื่อขับลำเล่านิทาน หรืออ่านเป็นทำนองให้ชาวบ้านฟัง 

ในประเทศไทย ทางภาคกลางและภาคใต้เรียกชื่อตัวเองว่า ศรีธนญชัย ส่วนภาคเหนือและภาคอีสานไม่เรียกว่าศรีธนญชัย แต่เรียกชื่อตัวเอกว่า เชียงเมี่ยง 

อาจารย์กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) เคยทำวิจัยศึกษาเปรียบเทียบเรื่องศรีธนญชัยฉบับต่าง ๆ ทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ แล้วเสนอข้อสรุปไว้ว่า  

“อย่างไรก็ตาม แม้นิทานเรื่องนี้จะมีปรากฏอยู่โดยทั่วไปหลายสำนวน แต่ก็มีลักษณะที่ร่วมกันหลายประการ โดยเฉพาะในด้านโครงเรื่อง พบว่ามีลักษณะที่เหมือนกัน คือเป็นการเล่าเรื่องราวชีวิตของชาวคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ปฏิภาณเอาตัวรอดหรือ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านพ้นไปได้โดยลำดับ นับตั้งแต่ชีวิตในวัยเด็กจนสิ้นอายุขัย นอกจากนั้นยังพบว่าในด้านแนวความคิดของผู้แต่งนั้นก็มีลักษณะที่คล้ายคลึง กันคือ เน้นในด้านความมีปฏิภาณไหวพริบต้องการแสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล และค่านิยมของสังคม ตลอดจนความคิดเรื่องการ “เสียหน้า” เหล่านี้เป็นสาระที่น่าสนใจและซ่อนไว้ในเนื้อหาที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันทั้ง สิ้น โดยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า นิทานศรีธนญชัยมิได้มีคุณค่าในด้านให้ความบันเทิงอย่างเดียวดังที่เคยเข้าใจ กันมาแต่ก่อน แต่ยังมีคุณค่าในด้านแนวความคิดต่าง ๆ อีกด้วย 

ส่วน ลักษณะที่แตกต่างกันนั้น พบว่ามีความแตกต่างกันเป็นส่วนน้อย เช่น การเรียงลำดับเหตุการณ์และในรายละเอียดของเนื้อหา เช่น การเรียงลำดับเหตุการณ์และในรายละเอียดของเนื้อหา ลักษณะการเล่าเรื่องของนิทานนี้มี ๒ แบบ คือ ตัวเอกอยู่กับพ่อแม่ มีชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้จนกลายเป็นเด็กที่มีปัญหา ทำให้ดูเสมือนเป็นคนโหดร้าย เจ้าคิด เจ้าแค้น อาฆาต พยาบาท มีบุคลิกเชิงก้าวร้าว และใช้ปฏิภาณเชิงลบ (ทำลาย) อีกแบบหนึ่งคือ ตัวเองได้รับความอุปถัมภ์จากพระเจ้าแผ่นดินชุบเลี้ยงให้เป็นราชบุตรบุญธรรม ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด พฤติกรรมต่าง ๆ จึงไม่รุนแรงเหมือนแบบแรก ลักษณะพฤติกรรมของตัวเอกในแนวนี้จึงเป็นเรื่องของการใช้ปฏิภาณและนิสัยที่ ติดตัวมาแต่กำเนิด 

อนึ่ง เรื่องศรีธนญชัยที่มีปรากฏในแถบประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง คือในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่ามีปรากฏในประเทศกัมพูชา เวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ จากการศึกษาพบว่าเรื่องธนัญชัยของกัมพูชาและเวียดนามคล้ายเรื่องศรีธนญชัย สำนวนของภาคกลาง ส่วนเรื่องเชียงเมี่ยงของลาวนั้นเหมือนเรื่องเชียงเมี่ยงของไทยภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ส่วนประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ พบว่ามีเนื้อหาคล้ายศรีธนญชัยของไทยบางตอนเท่านั้น กล่าวคือ เรื่องอาบูนาวัส (Abu Nawas) ของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเชีย และสิงคโปร์นั้น จะมีเรื่องราวเพียงตอนเดียวเท่านั้นที่เหมือนของไทย ส่วนประเทศฟิลิปปินส์นั้นพบว่ามีเนื้อหาคล้ายของไทยอยู่ ๒ ตอน 

จาก การศึกษาเปรียบเทียบนิทานศรีธนญชัยฉบับต่าง ๆ ในประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้นั้นพบว่ามีไม่มากตอนนักและไม่มีความซับซ้อนมาก เท่าเรื่องศรีธนญชัยที่มีปรากฏอยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ลักษณะของตัวละครที่มีปรากฏในประเทศดังกล่าวนั้นเป็นลักษณะที่สามารถพบเห็น ได้ทั่วไป เพราะเป็นลักษณะประจำของนิทานที่มีตัวเอกเจ้าปัญญาหรือฉลาดแกมโกง (Trickster tale) ซึ่งต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อค่านิยม ของสังคมระดับต่าง ๆ

แม้นิทานเรื่องนี้จะมีปรากฏเล่าสู่กันฟังหลาย สำนวนก็ตามด้านโครงเรื่อง แนวความคิด และตัวละครจะมีลักษณะที่คล้ายกันมาก ทั้งนี้คงเพราะนิทานเรื่องนี้มีจุดกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน ส่วนความแตกต่างในชื่อตัวละคร การเรียงลำดับเหตุการณ์ และรายละเอียดปลีกย่อยในเนื้อหาในแต่ละสำนวนนั้นมีปรากฏบ้างก็คงเนื่องมาจาก ความแตกต่างกันในด้านสภาพสังคม วัฒนธรรม ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนค่านิยมของแต่ละชาติแต่ละท้องถิ่นนั่นเอง"

นิทาน เรื่องศรีธนญชัยจงใจกำหนดบุคลิกของกษัตริย์ให้เป็นตัวตลก ต้องยอมจำนนต่อสติปัญญาเล่ห์เหลี่ยมของศรีธนญชัยเสมอ ลักษณะอย่างนี้มีอยู่ในนิทานพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยหลายเรื่อง ต่อมาก็นำไปแต่งเป็นบทละครนอก เช่น ท้าวสามลในเรื่องสังข์ทอง เป็นต้น เหตุที่ประเพณีพื้นบ้านพื้นเมืองกำหนดให้บุคลิกของกษัตริย์ในนิทานและในตัว ละครเป็นตัวตลกอย่างนั้น ดูเหมือนจะเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมและวัฒนธรรมเพราะตามปกติคน ทั่วไปไม่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินและไม่มีสิทธิล่วงเกินพระเจ้า แผ่นดินได้ ต่อมาเมื่อเล่านิทานหรือดูละครเท่านั้น สามัญชนจึงจะมีโอกาสละเมิดกฎเกณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ได้ 

คัดลอกมาบาง ส่วนจาก บทความเรื่อง “ศรีปราชญ์อยู่ที่ไหน ศรีธนญชัยอยู่ที่นั้น” ของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑           

แหล่งอ้างอิง: 

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/11/K4900851/K4900851.html

คำสำคัญ (Tags): #ศรีธนญชัย
หมายเลขบันทึก: 520068เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท