ท้องผูก


ผักผลไม้จึงได้ผลดีสำหรับผู้ที่ท้องผูกแบบถ่ายอุจจาระทุกวันหรือเกือบทุกวันอยู่แล้วแต่อุจจาระแข็งหรือมีปริมาณน้อย จะมีโอกาสชื่นใจที่ได้เห็นปริมาณอุจจาระมากขึ้นและนิ่มกว่าเดิมทำให้ถ่ายสะดวก แต่ผู้ที่ท้องผูกแบบหลายๆวันถ่ายสักครั้ง ยากนักที่จะหวังให้ถ่ายบ่อยครั้งกว่าเดิม

คนทั่วไปมักจะคิดว่าการถ่ายอุจจาระปกติคือ ถ่ายวันละหนึ่งครั้งและควรเป็นเวลาเช้าด้วย(หนังสือสุขศึกษาก็ว่าอย่างนั้น แม้ฉบับ พ.ศ.2548) ผมเคยศึกษาด้วยการใช้แบบสอบถามกับคนไทยหลายกลุ่มจำนวนกว่าพันคนเมื่อ พ.ศ. 3531 พบว่ามีคนที่ถ่ายวันละครั้งจริงเหมือนในหนังสือสุขศึกษาเพียงร้อยละ51 (เสียดายที่ไม่ได้ถามว่าถ่ายเวลาไหนกันบ้าง) นอกนั้นก็ต่างๆกันไป แต่ก็สรุปเป็นภาพรวมได้ว่า ร้อยละ 98 ถ่ายไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และถ่ายไม่มากกว่าวันละ3 ครั้ง (ถ้าเข้าใจยากก็โปรดอ่านทวนอีกสักรอบสองรอบ) หรือกล่าวอีกอย่างก็ว่า จำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระของคนทั่วไปมีต่างๆกันไปตั้งแต่สัปดาห์ละ 2 ครั้งจนถึงสัปดาห์ละ 21 ครั้ง (ก็คือวันละ 3 ครั้ง) ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับฝรั่ง (อังกฤษและอเมริกัน)ก็ปรากฏว่า ไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน

ถ้าถือว่าเกณฑ์ข้างต้นเป็นภาวะปกติ คนที่ถ่ายน้อยกว่าสัปดาห์ละ2 ครั้งน่าจะถือได้ว่าท้องผูก (เรียกว่าท้องผูกแบบถ่ายน้อยครั้ง) จากแบบสอบถามพบว่ามีคนท้องผูกแบบนี้ร้อยละ 1.7 แต่ถ้าถือว่าท้องผูกคือการถ่ายอุจจาระลำบากต้องออกแรงเบ่งมากกว่าที่ควร (เรียกว่าท้องผูกแบบถ่ายลำบาก) ก็มีคนตอบว่าถ่ายลำบากร้อยละ 5.1 แต่ถ้าถามกันตรงๆว่า“คุณท้องผูกหรือเปล่า” มีคนตอบว่า “ท้องผูก” ถึงร้อยละ 24 จำนวนคน“ท้องผูก” สูงจนน่าตกใจ เป็นเหตุให้ต้องศึกษาซ้ำอีกครั้งด้วยการสัมภาษณ์เนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดจากความบกพร่องของแบบสอบถามที่แปลมาจากภาษาฝรั่ง ผลที่ได้ก็ยังเหมือนเดิมคือเมื่อถามชาวบ้านอำเภอขลุงจังหวัดจันทบุรี (สัมภาษณ์โดยพยาบาลในพื้นที่) ก็ได้คำตอบเหมือนถามพนักงานโรงแรมโอเรียนเตลในกรุงเทพ (สัมภาษณ์โดยพยาบาลประจำโรงแรม) บางคนถ่ายวันละ 3-4ครั้งก็ยังยืนยันว่าท้องผูกกับเขาเหมือนกัน ดูแล้วคงจะใช้คำว่า “ท้องผูก” ในความหมายว่ายังไม่ “พึงพอใจ” กับการถ่ายอุจจาระ  

เมื่อถามถึงเรื่องการใช้ยาระบาย (หมายถึงคนที่ใช้บ่อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง) พบอัตราต่ำสุดร้อยละ 4.8 ในนิสิตจุฬาฯ และสูงสุดร้อยละ14.2 ในสมาชิกชมรมผู้สูงอายุในกรุงเทพ ซึ่งบ่อยกว่าฝรั่ง (เฉลี่ยร้อยละ 3) อย่างชัดเจน เหตุผลประการหนึ่งน่าจะเป็นการใช้ยาระบายเพื่อเพิ่มความ“พึงพอใจ” จากการถ่ายอุจจาระ นอกเหนือไปจากอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาว่าคนไทยชอบใช้ยาเสียดายอีกเหมือนกันที่ไม่ได้ถามเรื่องการสวนอุจจาระสมัยนั้นยังไม่ฮิตกันเหมือนเดี๋ยวนี้ 

ต่อไปขอกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับ “ท้องผูก”ที่ได้รับคำปรึกษาบ่อยๆ และเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สมควรแก่การนำมาเล่าสู่กันฟังสักสามประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง คนจำนวนหนึ่ง (พยายามจะไม่เรียกว่าคนไข้) เกือบทั้งหมดเป็นหญิงสาว (และเกือบทุกคนน่าจะเรียกได้ว่าสวย)แวะมาปรึกษาเพราะถ่ายอุจจาระเพียงสัปดาห์ละครั้ง (บางครั้งเว้นถึงสองสัปดาห์) จุดประสงค์หลักเพื่อถามว่าเป็นอะไรไหมคะในที่สุดผมก็ได้แนวทางมาตรฐานสำหรับกรณีนี้ ดังต่อไปนี้ 1) ย้อนถามก่อนว่า“คุณรู้สึกว่ามีอะไรที่ไม่สบายบ้างไหม” จะได้คำตอบว่า “สบายดี” ไม่มีใครบ่นเรื่อง“ปวดท้อง แน่นท้อง อึดอัดในท้อง ท้องใหญ่โป่งพอง”2) ตรวจท้อง แล้วชี้ให้เจ้าของดูด้วยว่า ท้องแฟบแบนและ 3) พาไปส่องกระจกดูหน้าเพื่อยืนยันว่าสิวแม้สักเม็ดก็ไม่มี4) สรุปให้ฟังว่า “คุณคือคนธรรมดาเรื่องการถ่ายถ้าคุณไม่เดือดร้อนก็ไม่มีโทษอะไรแต่เป็นธรรมดาของคนที่ไม่ค่อยถ่ายจะผายลมบ่อยหน่อย (มีเรื่องผายลมอยู่อีกบทหนึ่งต่างหาก)แต่ถ้าสนใจอยากถ่ายบ่อยขึ้นบ้างก็จะบอกให้”

“สนใจค่ะ” 

ก่อนอื่นคนที่หลายๆวันถ่ายครั้งไม่ควรตั้งความหวังที่จะถ่ายทุกวันขอให้ถ่ายบ่อยขึ้นก็น่าจะพอใจแล้ว เช่น เคยถ่ายสัปดาห์ละครั้งก็เพิ่มเป็นสัปดาห์และสองครั้ง หรือมากที่สุดก็วันเว้นวัน มิฉะนั้นจะผิดหวังหรือไม่ก็เคี่ยวเข็ญตนเองจนเกิดความเดือดร้อนวิธีที่ง่ายและเป็นธรรมชาติที่สุดอย่างหนึ่งคือ ดื่มนมสดพร่องมันเนย (มีเรื่องนมอยู่อีกบทหนึ่งต่างหาก) ในนมสดมีน้ำตาลนม (แล็กโตส) แต่คนไทยกว่าร้อยละ80 ขาดน้ำย่อยที่ใช้ย่อยน้ำตาลชนิดนี้ส่วนอื่นของนมย่อยได้หมดและนำไปใช้ประโยชน์ได้หมด น้ำตาลนมที่ย่อยไม่ได้ก็เหลืออยู่ในลำไส้ถูกแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ย่อยต่อผลผลิตก็ดูดซึมไม่ได้จึงพาน้ำออกมากับอุจจาระ อุจจาระมีน้ำมากขึ้นปริมาณจึงมากขึ้น  ทำให้ถ่ายบ่อยขึ้น แต่ต้องดื่มนมสดในปริมาณที่มากพอจึงจะได้ผลปริมาณที่มากพออยู่ระหว่าง 1-2 แก้ว (แก้วละ240 ซีซี) ถ้าใจร้อนก็ลองดื่มสองแก้วพร้อมกัน(ในช่วงที่ท้องว่างๆ) ส่วนมากจะได้ผลเป็นการถ่ายเหลวอาจมากกว่าหนึ่งครั้ง หากเป็นเช่นนั้นครั้งต่อไปลองหนึ่งแก้วถ้าไม่ได้ผลต่อไปก็ลอง 1 ½ แก้ว ปรับจนได้ขนาดที่ทำให้ถ่ายครั้งเดียวสะดวก ไม่แข็งและไม่เหลวจนเกินไป สังเกตระยะเวลาตั้งแต่ดื่มจนถ่ายไว้ด้วยต่อไปจะได้กำหนดเวลาดื่มเพื่อให้ถ่ายในเวลาที่สะดวก เหตุผลสำคัญที่ไม่อาจทำให้ถ่ายทุกวันก็คือถ้าถ่ายจนไม่มีเนื้ออุจจาระเหลืออยู่ก็จะไม่มีอะไรให้ถ่ายถ้าเคี่ยวเข็ญจนถ่ายก็จะมีแต่น้ำ และเหตุผลที่แนะนำนมพร่องมันเนยก็เพราะบางคนกลัวไขมันสูงนมเปรี้ยวใช้ไม่ได้ผล เพราะนมเปรี้ยวไม่มีน้ำตาลนม นมถั่วเหลืองก็ไม่ได้ผลเพราะไม่มีน้ำตาลนมคนที่ใช้นมสดไม่ได้ผล (น้อยกว่าร้อยละ 20) เป็นเพราะโชคร้ายที่บังเอิญมีน้ำย่อยน้ำตาลนมเหลืออยู่เพียงพอ

ถามว่า ใช้อย่างอื่นแทนนมสดได้ไหม ตอบว่า ได้ที่ใช้แทนได้เลยคือ ยาน้ำที่เรียกว่า มิลค์ออฟแมกนีเซีย เป็นยาสามัญประจำบ้านราคาถูกดีด้วย แต่รสไม่อร่อย และอาจรังเกียจว่าเป็นยาถ้าใช้ในระดับที่ทำให้ถ่ายแบบที่แนะนำข้างต้น มีความปลอดภัยสูง ยกเว้นคนที่เป็นโรคไตวายห้ามใช้  มียาที่ออกฤทธิคล้ายน้ำตาลแล็กโตส เหมือนกันชื่อว่าDuphalac,Hepalac และ Forlax รสอาจจะดีหน่อยแต่ราคาก็แพงหน่อย  

ถามว่า มีคำแนะนำให้รับประทานผักผลไม้มากๆจะช่วยแก้ท้องผูกแต่ลองดูแล้ว ทำไมไม่ได้ผล ตอบว่า คำแนะนำนี้มาจากเหตุผลที่ว่า ผักผลไม้มีกากน่าจะทำให้มีเนื้ออุจจาระมากขึ้นแต่ผลที่เกิดขึ้นได้จริงจากผักผลไม้ (รวมทั้งเม็ดแมงลักและยาอื่นๆที่ว่าช่วยเพิ่มกาก)คืออุจจาระมีปริมาณมากขึ้นและนิ่มลงเพราะมีน้ำเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย(เท่านั้น) แต่ไม่มีผลทำให้จำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระเพิ่มขึ้นอย่างจริงจังนักผักผลไม้จึงได้ผลดีสำหรับผู้ที่ท้องผูกแบบถ่ายอุจจาระทุกวันหรือเกือบทุกวันอยู่แล้วแต่อุจจาระแข็งหรือมีปริมาณน้อยจะมีโอกาสชื่นใจที่ได้เห็นปริมาณอุจจาระมากขึ้นและนิ่มกว่าเดิมทำให้ถ่ายสะดวก แต่ผู้ที่ท้องผูกแบบหลายๆวันถ่ายสักครั้งยากนักที่จะหวังให้ถ่ายบ่อยครั้งกว่าเดิม หากเคี่ยวเข็ญด้วยการเพิ่มปริมาณขึ้นอีกก็อาจได้อาการใหม่แถมมาคือท้องอืดหรืออาหารไม่ย่อย (เรื่องอาหารไม่ย่อยก็ยิ่งใหญ่พอที่จะเป็นอีกบทหนึ่ง)จึงควรรับประทานผักผลไม้เพื่อความเป็นอาหาร (เรื่องผักผลไม้ก็จะเป็นอีกบทหนึ่ง) การถ่ายที่อาจจะดีขึ้นขอให้เป็นเพียงผลพลอยได้

ถามว่า ยาเม็ดแก้ท้องผูกทั่วไปใช้ไม่ได้หรือตอบว่า ใช้ได้และสะดวกดีด้วย แต่ยาเหล่านั้นเหมาะสำหรับใช้เป็นครั้งคราว (เช่นเดือนละครั้งสองครั้ง) ไม่เหมาะเป็นยาที่ใช้เป็นประจำ ยาเหล่านั้นมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้เมื่อใช้เป็นประจำ (ทุกวัน) จะเกิดภาวะดื้อยา ต้องเพิ่มปริมาณยาเพื่อให้ได้ผลเท่าเดิมจากเดิมที่ใช้ 1 เม็ดได้ผล เป็น 2,3เรื่อยๆ ……จนถึง 12 หรือแม้แต่24 เม็ดก็มี และในที่สุดแม้ 24 เม็ดก็ไม่ได้ผล(ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน แผนโบราณ หรือไม่ระบุแผนก็ตาม)

ประเด็นที่สอง ตรงข้ามกับประเด็นที่หนึ่งคนที่มาบ่นเรื่อง “ปวดท้อง แน่นท้อง อึดอัดรำคาญในท้อง ท้องใหญ่โป่งพอง” และโทษว่าเกิดจาก “ท้องผูก” พบว่าอยู่ในกลุ่มที่“ถ่ายไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง”(คือไม่น่าจะโทษว่าถ่ายน้อยครั้ง)มีไม่น้อยที่ถ่ายวันละครั้งหรือวันละมากกว่า 1 ครั้ง แม้แต่วันละ3-4 ครั้งก็มีแต่กรณีหลังนี้มักอยู่ในระยะที่รับประทานยาระบายอยู่ เมื่อถามว่ารับประทานยาอะไรอยู่หรือเปล่ามักตอบว่าเปล่า มิได้มีเจตนาปิดบัง แต่ยาระบายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเสียแล้ว จนลืมไปว่าเป็น“ยา” กรณีเหล่านี้จำเป็นต้องหาสาเหตุอื่นๆที่ทำให้“ปวดท้อง แน่นท้อง อึดอัดรำคาญในท้อง ท้องใหญ่โป่งพอง”เพราะการถ่ายหรือไม่ถ่ายอุจจาระมิใช่เหตุที่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้น แต่ “ท้องผูก” ถูกใส่ความว่าเป็นเหตุ และแทบทุกคนก็ได้ผ่านการพิสูจน์ด้วยตนเอง (แต่ไม่ยอมรับผลการพิสูจน์) แล้วว่าการถ่ายมิได้ทำให้อาการเหล่านั้นหาย (หรือดีขึ้นก็เพียงชั่วเวลาอันสั้นเท่านั้น)ผู้ที่มีอาการ “ปวดท้อง แน่นท้องอึดอัดรำคาญในท้อง ท้องใหญ่โป่งพอง” ที่หาสาเหตุไม่พบนี้อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวนหรือโรคลำไส้จั๊กจี้(ขอยกไปเขียนเป็นอีกบทหนึ่งต่างหาก)

ประเด็นที่สาม มีคนชอบถามว่า ท้องผูกนานๆแล้วจะทำให้เป็นมะเร็งหรือเปล่าตอบได้ว่า ไม่เคยมีหลักฐานว่าเป็นเช่นนั้น (มีคนพยายามหาแต่ไม่เคยหาพบ) คนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจมีอาการเกี่ยวกับการถ่ายเช่น ถ่ายลำบากหรือถ่ายบ่อยๆก่อนที่จะพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ กรณีเช่นนี้กล่าวได้ว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นเหตุและอาจมีท้องผูกเป็นผล (ไม่ใช่ท้องผูกเป็นเหตุและมะเร็งเป็นผล) ผู้ที่ไม่เคยท้องผูกเสียอีก ถ้าอยู่ๆท้องผูกโดยไม่มีเหตุควรสนใจประเด็นนี้แต่การมีอาการท้องผูกนานๆไม่เคยมีหลักฐานว่าเป็นเหตุทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แม้เพียงแต่จะหาว่าท้องผูกนานๆสัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่บ้างหรือไม่ก็ยังไม่พบว่ามีเลยจึงสรุปว่าไม่เกี่ยวกัน

อำนาจศรีรัตนบัลล์

19 กุมภาพันธ์ 2556

หมายเลขบันทึก: 520012เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2020 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 ปกติถ้าท้องผูกจะกินยาสมุนไพรและผลไม้

ขอบคุณมากๆๆครับสำหรับความรู้

ชอบผลการสำรวจที่อาจารย์นำมาเล่ามากเลยค่ะ เรามักจะไม่มีโอกาสได้ทราบเพราะมักจะอยู่แต่ในวารสารเฉพาะทางใช่ไหมคะ อาจารย์ ขออนุญาตเอาไปลิงค์ให้สมาชิกชาวคณะแพทย์ ม.สงขลานครินทร์เข้ามาอ่านกันด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท