หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ปรากฏการณ์การขับเคลื่อน (กลั่นกรองแบบ ลปรร.)


ค้นพบในกระบวนการของการขับเคลื่อนด้านการบริการวิชาการแก่สังคมภายใต้แนวคิดหลักแบบ “เรียนรู้คู่บริการ” และการบูรณาการภารกิจแบบ “4 IN 1” ซึ่งนำการจัดการความรู้เข้ามาเป็นเครื่องมือในการพิจารณากลั่นกรอง ผ่านหัวใจหลักของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เสริมสร้างความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนมากกว่าการยึดหลักถ่ายทอดจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนแต่เพียงฝ่ายเดีย

ถอดบทเรียนย้อนหลัง :  เน้นการเปิดเวทีโสเหล่ร่วมกัน


การดำเนินงานด้านการบริการวิชาการ ภายใต้ชื่อโครงการ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  ในรอบปีงบประมาณ 2555 ที่ผ่านมา ก่อเกิดเป็นกระบวนการปฏิรูปการเรียนการสอนที่บูรณาการผ่านการบริการวิชาการแก่สังคมได้เป็นอย่างดี  รวมถึงในบางหลักสูตร หรือในบางโครงการสามารถบูรณาการทะลุถึงเรื่องการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการวิจัยไปพร้อมๆ กัน (Four in One : 4 In 1)


เมื่อย้อนกลับไปถึงระบบต้นน้ำของการขับเคลื่อน  พบว่ากระบวนการพิจารณากลั่นกรองได้กลายเป็นปรากฏการณ์อันสำคัญไม่แพ้การบูรณาการภารกิจ  (4 In 1)




ปลายปี 2554 – ผมมีโอกาสสัมภาษณ์เชิง “ถอดบทเรียน”  เหล่าบรรดาผู้รับผิดชอบโครงการของแต่ละหลักสูตร  ซึ่งตอนนั้นดำเนินการในภาพของ “1 คณะ 1 ชุมชน”  สิ่งหนึ่งที่ผมมองเห็นก็คือระบบการพิจารณากลั่นกรองโครงการ  ยังไม่ได้นำเอากระบวนการจัดการความรู้  (Knowledge Management)  เข้ามาขับเคลื่อนอย่างเท่าที่ควร   เพราะไม่มีเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร. Knowledge sharing)  ร่วมกันระหว่างคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกับผู้รับผิดชอบโครงการ 

กรณีดังกล่าวจะถูกดำเนินการโดยกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะต่างๆ มาทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรองโครงการ  โดยเน้นการพิจารณาใคร่ครวญจากเอกสาร หรือ โครงการที่แต่ละคณะได้นำเสนอเข้ามา 

การพิจารณาเช่นนั้นจะมุ่งไปสู่กระบวนคิด กระบวนการขับเคลื่อนกิจกรรมและงบประมาณโดยเสร็จสรรพ  จากนั้นจะส่งข้อเสนอแนะการกลั่นกรองกลับสู่ฝ่ายเลขานุการ  (กองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย)  เพื่อแจ้งกลับไปยังผู้รับผิดชอบแต่ละโครงการให้รับทราบ และนำกลับไปปรับแต่ง ก่อนส่งกลับมาทำสัญญากับทางมหาวิทยาลัยฯ





โดยส่วนตัวผมไม่ถือว่ากระบวนการกลั่นกรองเช่นนั้นผิดเพี้ยนหรอกนะครับ  เพียงแต่มองว่า  หากมีกระบวนการอื่นมาหนุนเสริมก็น่าจะดี  เช่น จัดเวทีให้ผู้รับผิดชอบหลักของแต่ละโครงการได้มาบอกเล่ารายละเอียดด้วยตนเอง  เพื่อให้กรรมการได้เข้าใจมากขึ้น  และสร้างสรรค์ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่ระยะต้นน้ำไปเลย  เพราะกระบวนการที่ว่านั้นมันสะท้อนถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  (participatory learning)  ดีๆ นั่นเอง 

ครับ-  เวทีที่ผมว่านี้  โดยเนื้อแท้นั้น  มีอานิสงส์มากมาย  เนื่องเพราะไม่ใช่แค่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกรรมการกับผู้รับผิดชอบโครงการเท่านั้น  แต่ยังทำให้ผู้ที่อยู่ในเวทีเดียวกัน ทั้งที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการจากหลักสูตรอื่นๆ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ย่อมได้ร่วมรับรู้รับฟัง หรือร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างเสร็จสรรพ  เป็นการพัฒนาคนในอีกมิติหนึ่งไปโดยปริยาย





จับมือ สกว.วิจัยเพื่อท้องถิ่นออกแบบกรรมการกลั่นกรอง


จากการที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. (ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) เพื่อขับเคลื่อนเรื่อง “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  โดยทาง สกว. มีศูนย์ส่งเสริมนักวิชาการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดมหาสารคามเป็นผู้ประสานงานหลัก   จึงมีการร่วมคิดร่วมออกแบบคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองโครงการให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ระบบและกลไกของการเรียนรู้ร่วมกัน 

คณะกรรมการดังกล่าวนี้  ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีประสบการณ์ในการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับ สกว. รวมถึงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการความรู้และการประกันคุณภาพ 




ในทางรูปแบบของการพิจารณากลั่นกรองนั้น  คณะกรรมการจะนำสำเนาโครงการไปอ่านล่วงหน้า  แบ่งเป็นสามกลุ่ม (กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ,กลุ่มวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี,กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)  เมื่อถึงวันที่กลั่นกรอง แต่ละหลักสูตรจะขึ้นนำเสนอเป็นรายโครงการ  คณะกรรมการจะร่วมแลกเปลี่ยนผ่านการตั้งคำถาม พูดคุยโสเหล่  รวมถึงชวนผู้ที่อยู่ในห้องได้ร่วมแสดงความคิดเห็น หรือให้ข้อเสนอแนะร่วมกัน –


ผมว่ากระบวนการเช่นนี้เป็นระบบและกลไกที่สำคัญมาก  ทำให้โครงการแต่ละโครงการมีความแจ่มชัดในเรื่องโจทย์และกระบวนการของการบริการวิชาการควบคู่กับการเรียนการสอน  หรือแม้แต่การบูรณาการภารกิจให้ครบในแบบ 4 In 1  แถมยังมีความชัดเจนในเรื่องของการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ใช่มุ่งเน้นการถ่ายทอดฝ่ายเดียวเหมือนในอดีต แต่เป็นการทำงานด้วยแนวคิด “เรียนรู้คู่บริการ”

ครับ- ถึงแม้กระบวนการกลั่นกรองเช่นนี้  จะยังไม่สัมฤทธิ์ผลเสียทั้งหมด  เพราะยังเป็นกระบวนการใหม่ที่อาจารย์หลายท่านยังไม่คุ้นชิน อีกทั้งยังต้อง “เปิดใจ”  เข้าหากันให้มากขึ้น 

ถึงกระนั้น  ผมก็ยังสุขใจเป็นที่สุด  เพราะเวทีการกลั่นกรองเช่นนี้คือหัวใจหลักของการหนุนเสริมกันและกันอย่างแท้จริง  ผมเห็นภาพของการรับฟัง  (Deep Listening)  เห็นภาพของการสนทนา  (Dialogue)  เห็นภาพของการเล่าเรื่อง (Story Telling) สู่กันฟังอย่างเป็นมิตร  ซึ่งจะผูกโยงไปสู่การลงพื้นที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองในภาพใหม่ นั่นก็คือ  “พี่เลี้ยง” ที่ต้องลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้และหนุนเสริมการทำงานร่วมกันอีกครั้ง   เรียกได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ปูพรมถางทางให้พี่เลี้ยงไว้ตั้งแต่ต้นน้ำเลยก็ว่าได้






สรุป


นี่คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์ของระบบและกลไกที่ถูกค้นพบในกระบวนการของการขับเคลื่อนด้านการบริการวิชาการแก่สังคมภายใต้แนวคิดหลักแบบ  “เรียนรู้คู่บริการ”  และการบูรณาการภารกิจแบบ “4 IN 1”   ซึ่งนำการจัดการความรู้เข้ามาเป็นเครื่องมือในการพิจารณากลั่นกรอง  ผ่านหัวใจหลักของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  เสริมสร้างความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนมากกว่าการยึดหลักถ่ายทอดจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนแต่เพียงฝ่ายเดียว  รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์  สร้างกลไกของการแบ่งปันประสบการณ์ และเตรียมความพร้อมให้กับคณะกรรมการพี่เลี้ยงได้ลงหนุนเสริมในพื้นที่ในระยะกลางน้ำ

และที่สำคัญก็คือ พัฒนาบุคลากรประจำในฝ่ายเลขานุการ อันหมายถึงกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการไปพร้อมๆ กัน  เพื่อให้เข้าใจถึงศาสตร์และศิลป์ของการขับเคลื่อนงานบริการวิชาการแก่สังคมไปในตัว

ส่วนในฝ่ายของคณะกรรมการกลั่นกรองนั้น  ก็ยังคงต้องเดินหน้าในการสร้างระบบและกลไกการกลั่นกรองให้ดูรื่นรมย์ สนุก เป็นกันเอง  เพื่อก่อให้เกิดมิติของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างแท้จริง


หมายเลขบันทึก: 519849เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2013 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2013 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

  • มาติดตาม มาร่วมเรียนรู้ถึงแนวทาง 4 in 1 ด้วยคนครับ

อยากไปคุยเรื่องนี้กับอ.แผ่นดินที่สารคามครับ ^^ จะได้เห็นของจริงจากโปรเจ็กต่างๆที่แต่ละคณะแยกไปทำด้วยครับผม ... ช่วงปิดเทอมนี้พอมีเวลาว่างไหมครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท