AAR การอบรม " การบริหารความเสี่ยง"


การบริหารความเสี่ยงว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน

"งวดนี้จะเสี่ยงเล่นเลขอะไรดีน้อ ? "

"นี่น้องงวดนี้ เลขอะไรเด็ดน่ะ บอกมั่งซี่ "

ดิฉันกลัวจะติดคุก ก็ขอบอกก่อนนะคะว่า หวยที่พูด ๆ กันน่ะเป็นการเล่นหวยบนดินนะค้า ไม่ใช่ใต้ดิน...ขอบอกนะขอบอก

แต่จะเล่นหวยบนดินหรือใต้ดินก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น เสี่ยงที่จะถูกหวยกินหมด  หรือเสี่ยงที่จะถูกรางวัลที่ 1 อันนี้ก็ต้องแล่วแต่โชควาสนานะ แต่ความเสี่ยงที่ดิฉันกำลังจะกล่าวต่อไปเป็นการบริหารความเสี่ยงในโรงพยาบาลเจ้าค่ะ

วันที่ 25 กันยายน 2549 เวลา 15.30 น. มีเสียงหลายเสียงแว่วมากระทบหู จ้อกแจ้ก ๆ เสียงดังกล่าวเขาพูดกันถึง คือ

เสียงที่ 1  "...สนุกดีเนอะ...ฟังเรื่องความเสี่ยงวันนี้...ไม่ง่วงเลย ...หมอเขาพูดเก่งดี"

เสียงที่ 2  "...โห...ฟังเรื่องความเสี่ยงวันนี้ ยังกะดูทอร์คโชว์แน่ะ...หมอนุ้ยน่ารักเนอะ"

เสียงที่ 3  "มันส์ดีง่ะ...สนุกดี หมอเขาเข้าใจพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย"

เสียงที่ 4  "ฉันรู้แล้วล่ะ ต่อไปจะต้องรายงานความเสี่ยงทุ้กความเสี่ยงเลย"

เสียงที่ 5  "...โง่มาตั้งนาน..คราวนี้ก็พอจะรู้แล้วล่ะว่าเราต้องมองตนเองให้มาก หาความเสี่ยงของตัวเองดีกว่า"

..และ....จ้อกแจ้ก ๆ ...เม้าท์...เม้าท์ อีกหลาย ๆ เสียงมากมายท่ามกลางผู้คนชาวบำราศ ที่พากันพูดถึงหมอนุ้ยอย่างชื่นชม

เอ๊ะ..!! ...แล้วเขาชื่นชมอะไรกันเหรอ ?

ก็สถาบันบำราศ ฯ น่ะซิ เขาจัดอบรมเรื่อง "การบริหารความเสี่ยง" ให้บุคลากรได้เข้าฟังทุกคน โดยแบ่งเป็น 3 รุ่น รุ่นละ ครึ่งวันบ่ายของวันที่ 25, 26, และ 27 กันยายน 2549

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากร

  1. เข้าใจความหมายของความเสี่ยง กระบวนการบริหารความเสี่ยง ระบบบริหารความเสี่ยง
  2. คุ้นเคยกับความเสี่ยงประเภทต่าง ๆ และสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงในหน่วยงานตนเองได้
  3. สามารถกำหนดแนวทางการป้องกันความเสี่ยงในหน่วยงานตนเองได้
  4. ตระหนักในความสำคัญและมีเจตคติที่ดีต่อการรายงานอุบัติการณ์
  5. ทราบแนวทางการบริหารความเสี่ยงในระดับโรงพยาบาลและวิเคราะห์ส่วนขาดในโรงพยาบาลของตนได้

สาเหตุที่ต้องมีการจัดอบรมการบริหารความเสี่ยงก็เนื่องจาก

  1. ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงยังมีความหลากหลาย ไม่ตรงกัน
  2. เจ้าหน้าที่หลายคนเข้าใจว่าความเสี่ยงเป็นเพียงเรื่องของคนที่พบเหตุการณ์ที่ต้องแก้ไขเท่านั้น

แม้กระทั่งในหน่วยงานของชุมชนคนชุดเขียวของดิฉันเองก็ยังมีเจ้าหน้าที่บางคนที่ไม่ค่อยยอมเขียนรายงานอุบัติการณ์ เพราะเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อแก้ไขไปแล้วก็ไม่ต้องรายงาน ซึ่งดิฉันเองก็ยอมรับว่าตนเองคงจะสื่อความหมายได้ไม่ลึกซึ้งพอ และขาดการทบทวนเคราะห์ตรงจุดนี้ไป เมื่อทราบว่าทางสถาบันจะจัดอบรมขึ้นจึงรู้สึกดีใจและมีใจจดจ่อมาก นึกครึ้มในใจว่า...เอาละคราวนี้เราจะได้ถือโอกาสทำความเข้าใจเรื่องการจัดการความเสี่ยงให้ตรงกันเสียที

ดิฉันได้เข้าฟังวันแรกนึกชื่นชม คุณหมอ ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ หรือหมอนุ้ย ที่สามารถบรรยายเรื่องที่น่าเสี่ยงให้กลายเป็นเรื่องที่ไม่เสี่ยงอย่างสนุกสนานและทำให้ทุกคนเข้าใจในการบริหารความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี จึงขอถือโอกาสทำ AAR การอบรม " การบริหารความเสี่ยง" ได้ดังนี้

สิ่งที่คาดหวัง

ได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง หวังว่าการอบรมครั้งนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนได้เข้าใจในเรื่อง

  • ความหมายความเสี่ยง
  • การค้นหาความเสี่ยง
  • ประเมินวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็น 
  • ความจำเป็นของการรายงานความเสี่ยง

สิ่งที่ได้พบและแตกต่างจากความคาดหวัง

ได้รู้ว่าคุณหมอ ปิยวรรณ หรือหมอนุ้ยของพวกเรา เป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำให้ 3 ชั่วโมงกว่านั้นเต็มไปด้วยสาระความรู้เรื่องความเสี่ยงอย่างเปี่ยมคุณภาพ เรื่องที่เราเคยมองว่าไม่ใช่ความเสี่ยงแต่เมื่อได้มาฟังคุณหมอนุ้ยแล้ว เราจะรู้ว่าความเสี่ยงเกิดได้ทุกที่ ทุกแห่ง ทุกคนมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงทั้งนั้น เช่น

  1. ผู้มารับบริการ
  2. บุคลากรโรงพยาบาล
  3. โรงพยาบาลหรือสถายพยาบาล
  4. หรือชุมชน

การให้ทุกคนได้ร่วมกันวิเคราะห์ความรุนแรงของอุบัติการณ์ ซึ่งถ้าตามทฤษฎีจะแบ่งการจัดระดับความรุนแรงเป็น 9 ระดับ และก็จะมีรายละเอียดว่าระดับใดคือหตุการณ์อะไร ซึ่งก็จะจำยากอีก แต่หมอนุ้ยได้ทำให้ทุกคนจำได้โดยการใช้เทคนิคของการใช้คำ เช่น 

  • ระดับ A คือ เหตุการณ์ซึ่งมีโอกาสก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อน ให้จำว่าเกิดที่นี่
  • ระดับ  B คือ เกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นแต่ยังไม่กึงกับผู้ป่วย  ให้จำว่าเกิดที่ไหน
  • ระดับ  C คือ เกิดความคลาดเคลื่อนกับผู้ป่วยแต่ไม่ทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตราย ให้จำว่าเกิดกับใคร
  • ระดับ  D คือ เกิดความคลาดเคลื่อนกับผู้ป่วย ส่งผลให้ต้องเฝ้าระวังต่อ ให้จำว่าให้ระวัง
  • ระดับ  E คือ เกิดความคลาดเคลื่อนกับผู้ป่วย ส่งผลให้เกิดอันตรายชั่วคราวและต้องมีการบำบัดรักษา ให้จำว่าต้องรักษา
  • ระดับ  F คือ เกิดความคลาดเคลื่อนกับผู้ป่วย ส่งผลให้เกิดอันตรายชั่วคราวและต้องนอนโรงพยาบาลหรือนอนนานขึ้น ให้จำว่าเยียวยานาน
  • ระดับ  G คือ เกิดความคลาดเคลื่อนกับผู้ป่วย ส่งผลให้เกิดอันตรายถาวรแก่ผู้ป่วย ให้จำว่าต้องพิการ
  • ระดับ  H คือ เกิดความคลาดเคลื่อนกับผู้ป่วย ส่งผลให้ต้องทำการช่วยชีวิต ให้จำว่าต้องการปั๊ม
  • ระดับ  I คือ เกิดความคลาดเคลื่อนกับผู้ป่วยซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ให้จำว่าจำใจลา

ก็ยิ่งทำให้ทุกคนเข้าใจเพราะหมอนุ้ยไม่ได้เอาตัวอย่างปัญหาอื่นมาให้ขบคิด แต่เป็นปัญหาที่พวกเรารู้จักคู้นเคย เช่น

  • การพบข้อผิดพลาดจากการจัดยาของพยาบาล เป็นความรุนแรงระดับ A เพราะเกิดที่นี่
  • ช่างซ่อมบำรุงขณะเปลี่ยนหลอดไฟแล้วเกิดบันไดล้ม ทำให้ขาหัก ต้องเข้าเฝือก  เป็นความรุนแรงระดับ E เพราะต้องรักษา

เห็นมั๊ยคะว่าทำให้เจ้าหน้าที่จำระดับต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้แม้กระทั่งการยกตัวอย่างความเสี่ยง ก็เป็นการยกตัวอย่างที่เป็นปัญหาใกล้ตัวก็ยิ่งทำให้มีความเข้าใจความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ....ยอดเยี่ยมจริง

แล้วจะทำอะไรต่อไปเพื่อพัฒนาหน่วยงาน

  1. เมื่อเจ้าหน้าที่อบรมครบทุกคนแล้ว เปิดเวทีให้ทุกคนได้ร่วมกันทำกิจกรรม AAR
  2. ให้ทุกคนประเมินตนเองและวิเคราะห์การบริหารความเสี่ยงของหน่วยงานว่าอยู่ในระดับใด
  3. ประเมิน Risk Profile ของหน่วยงานจัดลำดับความสำคัญ
  4. ทบทวนความเสี่ยงที่สำคัญมาวางมาตรฐานการควบคุม
  5. จัดทำแผนควบคุมความเสี่ยง

ก็ต้องบอกว่าขอขอบคุณ ท่านผู้อำนวยการ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และหมอนุ้ยคนเก่ง (หมอนุ้ยเล่าให้ดิฉันฟังว่าอุตส่าห์หาตำหรับตำรา ค้นคว้าศึกษาเรื่องความเสี่ยงเพื่อมาสอนโดยเฉพาะ ไดเฟงแล้วยิ่งชื่นชมจริง ๆ ค่ะ ) ที่ตั้งใจให้ชาวบำราศ ฯ ได้เข้าใจการบริหารความเสี่ยงว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่...เอ...หลังจากอบรมแล้วถ้าดัชนีความเสี่ยงพุ่งจู๊ดทะลุเพดานแล้วคณะกรรมการความเสี่ยงจะถือเป็นความเสี่ยงมั๊ยคะเนี่ย... คิก..คิก...คิก

หมายเลขบันทึก: 51983เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ขอบคุณหนูเล็กที่บันทึกไว้ค่ะ     ฟังไม่จบแต่อ่านจากblogทำให้จำระดับได้ดีขึ้นค่ะ
  • ขอบคุณผ.อ. ค่ะ 
  • เหตุที่ต้องบันทึกก็เพราะตนเองตั้งใจทำ AAR ซึ่งถ้าจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วยก็จะดีใจมากค่ะ
ตอนนี้ศูนย์พัฒนาคุณภาพเกิดความเสี่ยงในการตอบคำถามมากๆ เลยค่ะ ช่วยด้วยๆๆๆๆ
  • ถือว่าประสบความสำเร็จต่อการจัดอบรมนะคะพี่มอม
  • จำได้เลา ๆ ว่า ความเสี่ยงของศูนย์พัฒนาคุณภาพใน slide ของหมอนุ้ยไม่มีเลย จัดอบรมคราวนี้ก็จะได้มีบ้างไงคะ... คิก คิก

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ แต่สามารถทำให้เจ้าหน้าที่ สามารถเข้าใจได้โดยง่าย นับได้ว่า เป็นสิ่งเยี่ยมยุทธ์ค่ะ
  • ชื่นชมค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท