ท ทหาร และ ฑ มณโฑในภาษาไทย


ท ทหาร เรารู้จักกันดี ใช้เขียนคำไทยและเทศ แต่ ฑ หัวแตก ใช้เขียนคำเทศโดยเฉพาะ

คำในภาษาไทยที่มี ฑ มณโฑ มักจะมาจากภาษาบาลี สันสกฤต แม้ภาษาเพื่อนบ้านเรา เช่น เขมร มอญ พม่า จะมี ฑ มณโฑ แต่ส่วนมากใช้ในคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตอีกนั่นแหละ

ทั้งสอง ทอ มักจะเขียนกันสับสน เช่น ฑูต (เอกสารเก่าใช้แบบนี้, ป้ายหน้าสถานทูตอเมริกาในกรุงเทพฯ ยังเขียนใช้ ฑ มณโฑ) ฑีฆายุโก มณเฑียร ฑัณฑสถานฯลฯ (ที่ยอมรับว่าถูกต้อง คือ ทูต ทีฆายุโก มนเทียร/มณเฑียร, ทัณฑสถาน)

คำที่เอ่ยข้างต้น ในภาษาบาลีและสันสกฤต ใช้ ท ทหาร คือ ทูต, ทีฆ- มันทิร, ทณฺฑ-

จริงๆ ก็น่าใช้สับสนปนกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะสมัยก่อนเราใช้ นาฑี (สันสกฤต ว่า นาฑี บาลีว่า นาลิ) แต่ปัจจุบันใช้ นาที ท ทหาร

ส่วนกรณีของ มนเทียรนั้นก็แปลก ศัพท์เดิม ใช้ น หนูและ ท ทหาร แต่ไทยเราใช้ทั้งสองแบบ คือใช้ ณ และ ฑ อีกแบบหนึ่ง ตามหลักออกเสียงภาษาบาลีสันสกฤต (อาจใช้การเทียบกับคำอื่น หรือยืมมาจากภาษาอื่นอีกที)

(ขอบคุณ ภาพจาก http://www.bangkokbiznews.com/home/media/2012/09/18/images/news_img_470514_1.jpg)

ฑ ในภาษาสันสกฤต

คำที่ขึ้นต้นด้วย ฑ ในภาษาสันสกฤตมีน้อยมาก เช่น ฑปิ (รวบรวม), ฑมรุ (กลองชนิดหนึ่ง) ฑลก (สาแหรก) คำเหล่านี้ไม่มีใช้ในภาษาไทยเลย

เสียง ฑ ที่ไม่ได้อยู่ต้นคำนั้น มีสองกรณี คือ

1. ตามหลัง ณ ทันทีโดยไม่มีสระคั่น, เช่น มณฑล, กาณฑ(บาลีใช้ กัณฑ์), กรณฑ์, มณฑูก(กบ), ไพรสัณฑ์, น้ำจัณฑ์, ขัณฑสกร ฯลฯ

2. คำที่เดิมใช้ ฬ ในภาษาพระเวท ต่อมาในภาษาสันสกฤตแบบแผนใช้ ฑ เช่น อีเฬ > อีเฑ, จูฬา > จูฑา (ภาษาบาลี จูฬา), ครุฬ > ครุฑ (ภาษาบาลี ครุฬ) เสียง ฑ เหล่านี้จะอยู่ระหว่างสระ คือ ข้างหน้ามีสระ ข้างหลังมีสระมาประสม

 

การสังเกต ท และ ฑ นั้น สำหรับกรณีที่ 1 ดูง่าย คือ ถ้าตามหลัง ณ จะต้องเป็น ฑ เสมอ, ส่วนในกรณีที่ 2 นั้นยากหน่อย. เอาเป็นว่า ถ้าไม่ได้ตามหลัง ณ แล้ว คำที่ใช้ ฑ มีน้อยมาก หากสงสัยต้องพึ่งพจนานุกรมสถานเดียว ;)

 


คำสำคัญ (Tags): #ท ทหาร#ฑ มณโฑ
หมายเลขบันทึก: 519829เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2013 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

... มี 2 ทอ .... เลยนะคะ    ท..ทหาร  ... ฑ = มณโท .....  ขอบคุณมากค่ะ 

So it seems ...สับสนปนกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ... Thais have been very carefree and not strictly under any "rule" for very long time. This may be the main cause of "exceptions" (special treatments/privileges or inequality and many cultural discrepancies) in Thai culture(s).

The mindset that --this applies to 'you all' but not to 'me'-- is prevalent and a major cause of setbacks in society. 

  • ขอขอบคุณในข้อสังเกตุที่นำมาแบ่งปันครับ

สวัสดีครับ พี่เปิ้ล อันที่จริงยังมี ทอ อื่นอีกเยอะเลยครับภาษาไทยเรา

สวัสดีครับ คุณ Sr จริงๆ แล้ว เรื่องการเขียนการสะกด ส่วนมากเราดูตามเอกสารที่พิมพ์แล้ว ถ้าได้อ่านต้นฉบับเก่าจริงๆ อาจได้ข้อมูลการสะกดอีกหลายๆ แบบก็ได้ครับ ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตมา ก็น่าจริงครับ ;) 

สวัสดีครับ คุณสามสัก ยินดีครับผม...

สวัสดีค่ะคุณครู

ตอนนี้หากไม่มั่นใจ ก็จะยึดพจนานุกรม เป็นหลักไว้ก่อน

และบางทีเมื่อหาคำตอบไม่ได้ ก็อ้างว่า...คงเป็นตามความนิยม... ค่ะ

ขอบคุณมากสำหรับข้อมูลความเป็นมา ที่ทำให้พอจะ "รู้เรื่อง" ขึ้นมาบ้าง  :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท