วิวัฒนาการแนวความคิดสิทธิมนุษยชน ประเทศฝรั่งเศส


(3) ประเทศฝรั่งเศส

 

ในศตวรรษที่ 18  พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 , 15 และ 16 ซึ่งเป็นกษัตริย์ของฝรั่งเศส มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ  เพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และขูดรีดภาษีจากคนบางกลุ่มเท่านั้น เช่นราษฎรที่ไม่ค่อยมีทรัพย์สินอยู่แล้ว   ส่วนพวกขุนนางกลับได้รับอภิสิทธิ์  ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง  การปกครองดำเนินไปตามพระทัยของกษัตริย์  ซึ่งได้รับการยุแหย่จากพวกประจบสอพลอ  ผู้ที่ขัดผลประโยชน์จะถูกจับ หรือคนที่มิใช่พวกของตนอาจถูกขังลืม  เป็นเหตุให้ประชาชนเกิดความเคียดแค้นเป็นอันมาก 

 

ช่วงเวลาดังกล่าวฝรั่งเศสได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดการปกครองแบบประชาธิปไตยของปรัชญาเมธีคนสำคัญ เช่น Montesauieu และ Rousseau    ประสบการณ์การต่อสู้ของประเทศอเมริกาเพื่อเรียกร้องอิสรภาพซึ่งฝรั่งเศสเคยส่งทหารไปช่วยรบ  และประเทศเพื่อนบ้านคือ อังกฤษก็มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย เหล่านี้เป็นมูลเหตุทำให้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส  โดยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านอำนาจกษัตริย์บุกเข้าทำลายคุก Bastille ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความขมขื่นสำหรับราษฎรผู้ต่ำต้อยและยากไร้  นำไปสู่การประหารชีวิตผู้ที่เคยกดขี่ข่มเหงประชาชน ทั้งกษัตริย์ ราชินี และขุนนางเป็นจำนวนมาก   หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง “Declaration des Droit de l’Homme et du Citoyen, 26 Août 1789” ซึ่งมีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้คือ

 

1) เน้นความเป็นอิสระและความมีสิทธิเท่าเทียมกันของมนุษย์

 

2) ให้คำจำกัดความของ เสรีภาพ ว่า เป็นอำนาจที่จะกระทำการสิ่งใดได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น

 

3) การรักษาไว้ซึ่งสิทธิธรรมชาติอันไม่อาจจะพรากออกไปจากมนุษย์ เช่น สิทธิในเสรีภาพ ทรัพย์สิน การตรวจค้น และการกดขี่

 

4) การรับรองสิทธิในการพูด การพิมพ์ การนับถือศาสนา และต่อภาวะที่ปราศจากการจับกุมตามอำเภอใจ

 

ปรากฏการณ์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนพลเมืองจากการถูกกดขี่ข่มเหงโดยผู้ปกครอง หรือรัฐมหาอำนาจในประเทศต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปรากฏการณ์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึงหลักการอันเป็นที่ยอมรับว่าคือ ข้อกำหนดมูลฐานว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสมัยใหม่  จะพบเห็นหลักการนี้ได้ในเนื้อความของประกาศอิสรภาพอเมริกัน ปี 1776  ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษย์และพลเมือง ปี 1789 และบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิ (อเมริกัน) ปี 1791 ซึ่งมีหลักการโดยสรุป  3  ประการคือ

 

ประการที่ 1  หลักการว่าด้วยสิทธิที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ดั้งเดิม (Principle of Universal Inherence)  มีสาระสำคัญว่า  มนุษย์ทุกคนมีสิทธิบางอย่าง  ซึ่งสามารถแจกแจงและให้ความหมายได้อย่างชัดแจ้ง  สิทธิเหล่านี้มิได้ทำขึ้นหรือหามาได้ด้วยการซื้อ  มิใช่สิ่งที่ได้รับมอบจากผู้ปกครอง  แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์มาแต่ดั้งเดิมโดยแท้จริง  อันเนื่องมาจากสถานภาพแห่งความเป็นมนุษย์เท่านั้น

 

ประการที่ 2  หลักการว่าด้วยสิทธิที่มิอาจโอนให้แก่กันได้ (Principle of Inalienability)  มีสาระสำคัญว่า  สิทธิที่มนุษย์มีอยู่นี้มิอาจจะพรากไปได้โดยผู้ปกครอง  และแม้แต่เจ้าของสิทธิเองก็ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่ผู้อื่นได้

 

ประการที่ 3  หลักนิติธรรม (Rule of Law)  มีสาระสำคัญว่า  เมื่อเกิดการขัดแย้งระหว่างสิทธิด้วยกันเอง  จะต้องมีการแก้ไขโดยนำกฎหมายที่เป็นธรรมมาปรับกับกรณีอย่างเป็นอิสระไม่เอนเอียง  และเป็นแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ ตามวิธีพิจารณาความที่เป็นธรรมด้วย

 

จากแนวความคิดในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่เกิดขึ้น  กลายมาเป็นพื้นฐานแห่งทฤษฎีและก่อกำเนิดรูปแบบสถาบันรัฐใหม่เพื่อใช้ทดแทนสถาบันกษัตริย์ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตย        นอกจากนี้แล้วสิทธิที่มีการกล่าวถึงก็เกี่ยวพันกับการประกันอิสรภาพ เช่น การประพฤติปฏิบัติในลักษณะต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของการวางระเบียบ  หรือการสอดเข้าเกี่ยวข้องโดยรัฐไม่ว่าโดยการออกกฎหมายหรือวิธีอื่นใดต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนหรือผู้ใต้ปกครอง   และเพื่อให้หลักการเหล่านี้มีผลจริงจัง  สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสได้ใช้วิธีจัดทำเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรขึ้น    รัฐธรรมนูญที่ถูกบัญญัติขึ้นจึงมีความมุ่งหมายให้บัญญัติภารกิจของสถาบันแห่งรัฐที่เกิดขึ้นใหม่  และมีการจัดทำบัญชีระบุสิทธิขั้นพื้นฐานบรรจุไว้ด้วย

        นับแต่นั้นเป็นต้นมา  หลักการและวิธีการเหล่านี้ก็ถูกถ่ายทอด และนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ อีกมากมายหลายประเทศ  เช่น  เนเธอร์แลนด์ ในปี 1789   สวีเดน ในปี 1809  สเปน ในปี 1812 เดนมาร์ก ในปี 1849  และ ฯลฯ 
หมายเลขบันทึก: 51972เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท