วิวัฒนาการแนวความคิดสิทธิมนุษยชน ประเทศสหรัฐอเมริกา


(2) ประเทศสหรัฐอเมริกา

           ในยุคที่คนขาวอพยพจากยุโรปไปอยู่ในดินแดนอเมริกาอันเป็นดินแดนของชนเผ่าอินเดียแดงประชาคมคนขาวอยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของประเทศอังกฤษด้านความปลอดภัยยามเกิดศึกสงคราม ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลอังกฤษต้องเสียเงินที่ใช้ในการสงครามและเมื่อเสร็จสงครามก็ยังให้ทหารจำนวนหนึ่งอยู่รักษาความสงบต่อไป    เมื่อคนอังกฤษเกิดความบาดหมางกับคนฝรั่งเศสเรื่องแย่งการค้าขนสัตว์ จนนำไปสู่สงครามที่เรียกว่า French and Indian War (ค.ศ.1755 – 1759) สงครามครั้งนี้กินเวลายาวนานหลายปีและสิ้นสุดโดยการทำสัญญาสงบศึกที่ปารีส ค.ศ.1763  จึงเป็นจุดเริ่มต้นความบาดหมางระหว่างประเทศอังกฤษกับอาณานิคม เพราะรัฐบาลอังกฤษเกี่ยงให้อาณานิคมช่วยออกค่าใช้จ่ายสงครามและค่าที่ต้องมีกองทหารอังกฤษในดินแดนอาณานิคม  แต่ชาวอาณานิคมไม่ยอมช่วยออกเงินและพยายามเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่อังกฤษกำหนด เช่น การเสียภาษี  และการค้าผูกขาดโดยไม่ให้ขายแก่ชาติอื่น   จนรัฐบาลอังกฤษออกกฎหมายมาเก็บภาษีสินค้าเกี่ยวกับเครื่องแก้ว  กระดาษ  ตะกั่ว และใบชาภายในอาณานิคมที่เรียกว่า  “The Townsend Acts” (1767)  การต่อต้านรุนแรงถึงขนาดชาวอาณานิคมแต่งกายเป็นอินเดียแดงเข้าไปทำลายสินค้าใบชาของชาวอังกฤษเสียหาย หรือ Boston Tea Party  รัฐบาลอังกฤษออกพระราชบัญญัติ 4 ฉบับ เพื่อลิดรอนสิทธิของชาวอาณานิคมและลงโทษชาวอาณานิคมอย่างหนัก นำไปสู่ความเคลื่อนไหวเพื่อรวมตัวกันของอาณานิคมทั้ง  13  มลรัฐและประกาศว่า กฎหมายของอังกฤษละเมิดสิทธิประชาชนชาวอาณานิคมซึ่งเป็นพลเมืองอังกฤษ  ชาวอาณานิคมจึงเริ่มต่อสู้ทางเศรษฐกิจโดยไม่ซื้อสินค้าอังกฤษ  พ่อค้าชาวอังกฤษต้องขอร้องรัฐบาลให้ทบทวนกฎหมายเสียใหม่  แต่รัฐบาลอังกฤษกลับสั่งปิดเมืองท่าอาณานิคมทุกแห่ง  การต่อต้านจึงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนในที่สุดชาวอาณานิคมตัดสินใจแยกตัวออกจากประเทศอังกฤษอย่างเด็ดขาด โดยการประกาศอิสรภาพ (Declaration of Independence)  เพื่อเรียกร้องสิทธิเสมอภาคความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ [1]   จนนำไปสู่การรวมตัวกันเป็นชาติใหม่ของทั้ง 13 มลรัฐ  และเพื่อการคุ้มครองดูแลจึงมีการประชุมตกลงก่อตั้งระบบและวิธีการปกครอง  จัดตั้งรัฐบาลกลางโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักในปี ค.ศ.1789  ต่อมาปี ค.ศ.1791  มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองอเมริกันอีกหลายประการที่เรียกว่า บทแก้ไขสิบบทแรก The First Ten Amendments  เนื่องจากบทแก้ไขทั้งสิบบทเป็นเรื่องสิทธิทั้งสิ้นจึงรู้จักกันว่า บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิของอเมริกัน American Bill of  Rights [2]


[1] ข้อความสำคัญในคำประกาศอิสรภาพได้แก่ข้อความที่ว่า เราถือว่าความจริงประจักษ์ในตัวของมันเองว่า  คนเราถูกสร้างขึ้นมาเท่าเทียมกันโดยพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งได้ทรงให้สิทธิอันติดตัวและไม่อาจพรากจากมนุษย์ไปได้  ในบรรดาสิทธิต่างๆ เหล่านี้คือ สิทธิในชีวิต  เสรีภาพ  และการแสวงหาความสุข  เพื่อที่จะปกป้องและประกันการได้มาซึ่งสิทธิเช่นนั้น  จึงมีรัฐบาลซึ่งได้อำนาจอันชอบธรรมโดยความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง  ดังนั้น  เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลกลายเป็นผู้ทำลายจุดมุ่งหมายดังกล่าว ก็เป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มเลิก และก่อตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ให้ดำเนินตามหลักการเช่นว่า และให้มีอำนาจอันจะบันดาลความปลอดภัยและความผาสุกให้ได้มากที่สุด
[2] บทแก้ไขเกี่ยวกับการรับรองคุ้มครองสิทธิที่สำคัญได้แก่  (1) การประกันเสรีภาพด้านต่างๆ  เช่น  ศาสนา การพูด การพิมพ์ การโฆษณา การชุมนุมโดยสงบ และการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อรัฐบาล , (2) การอนุญาตให้ประชาชนมีและถืออาวุธได้ , (3) กองทหารจะเข้าไปอยู่อาศัยในเคหสถานบ้านเรือนของราษฎรโดยที่เจ้าของไม่ยินยอมไม่ได้ , (4) การตรวจค้นบุคคล เคหสถาน ทรัพย์สิน หรือเอกสารจะต้องมีหมายค้น , (5) การพิจารณาคดีอาญาที่มีโทษหนัก เช่น ประหารชีวิต จะต้องผ่านคณะลูกขุน  ความผิดอันเดียวกันจะมีการพิจารณาพิพากษาซ้ำอีกไม่ได้  บุคคลจะถูกบังคับให้ให้การปรักปรำตนเองไม่ได้  การลงโทษบุคคล  การจำกัดสิทธิจะต้องกระทำโดยกระบวนการของกฎหมาย  ทรัพย์สินส่วนตัว  ถ้าจะนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์จะต้องมีการตอบแทนอย่างเป็นธรรม , (6) การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาจะต้องไม่ล่าช้า  และต้องกระทำโดยเปิดเผย ณ ที่ที่ความผิดเกิดขึ้นโดยลูกขุนที่ไม่มีอคติ  บุคคลจะต้องได้รับแจ้งให้ทราบถึงลักษณะและเหตุที่กล่าวหาและให้ประกันเรื่องที่จะมีทนายแก้ต่าง  การสืบพยานจะต้องทำต่อหน้าผู้ต้องหา , (7) การกำหนดค่าปรับ  และการประกันตัวจะสูงเกินควรไม่ได้และห้ามการลงโทษที่ทารุณโหดร้าย , (8) จำกัดขอบเขตการใช้สิทธิมิให้ล่วงละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น , (9) เลิกการมีทาสและการบังคับใช้แรงงานโดยไม่สมัครใจ  ยกเว้นเป็นการลงโทษตามกฎหมาย , (10) ให้ความเสมอภาคแก่ประชาชนอเมริกัน ซึ่งแตกต่างกันในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว.
หมายเลขบันทึก: 51971เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากฮะ สำหรับข้อมูล

มีรายละเอียดที่น่าสนใจฮะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท