แนวคิดในการจัดระดับความเหมาะสมของสื่ออินเทอร์เน็ตและเกมคอมพิวเตอร์ ตอนที่ ๒


ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวของการจัดระดับความเหมาะสมของสื่ออินเทอร์เน็ตและเกมคอมพิวเตอร์ ดูเหมือนว่า การปฎิบัติการเกี่ยวกับการสร้างกระแสของการจัดการปัญหาเกมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุของเกมคอมพิวเตอร์จะเป็นการปฏิบัติการที่ได้รับการจัดการเป็นระยะ แต่ดูเหมือนว่า ความพยายามดังกล่าวจะมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย

แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ

อินเทอร์เน็ตและเกมคอมพิวเตอร์

การปฏิเสธของการจัดทำระบบการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ

   ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวของการจัดระดับความเหมาะสมของสื่ออินเทอร์เน็ตและเกมคอมพิวเตอร์ดูเหมือนว่าการปฎิบัติการเกี่ยวกับการสร้างกระแสของการจัดการปัญหาเกมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุของเกมคอมพิวเตอร์จะเป็นการปฏิบัติการที่ได้รับการจัดการเป็นระยะ แต่ดูเหมือนว่า ความพยายามดังกล่าวจะมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย

      ในขณะที่ การปฏิบัติการเพื่อนำมาซึ่งการจำแนกเนื้อหาของสื่ออินเทอร์เน็ตถูกมองข้ามและยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดดังกล่าวได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผลสำคัญ ๒ ประการ กล่าวคือ เหตุผลด้านแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นเสรีนิยมบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่อ้างถึงเสรีภาพของการใช้อินเทอร์เน็ตโดยปราศจากการควบคุม และเหตุผลทางเทคนิคที่อ้างถึงปริมาณของเว็บไซต์ในการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่มีจำนวนมากถึง ๓๕ ล้านเว็บไซต์ ทำให้หลายฝ่ายมีความวิตกถึงความเป็นไปได้ของการจัดระดับความเหมาะสมของสื่ออินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นแล้ว ความวิตกกังวลของผู้ประกอบการเว็บไวต์บางกลุ่มถึง การบังคับใช้ระบบของการจัดระดับความเหมาะสมของสื่ออินเทอร์เน็ตจะไม่มีผลใช้บังคับถึงเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย เพระเว็บไซต์เหล่านี้จะอยู่นอกกติกาของการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อทำให้เกิดปัญหาของความลักลั่นของระบบการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ

    นอกเหนือจากปัญหาที่เป็นคำถามสำหรับการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพเนื้อหาของอินเทอร์เน็ตแล้ว กรณีของการจัดระบบการจำแนกเนื้อหาของเกมคอมพิวเตอร์เองก็ประสบกับปัญหาใน ๒ ทิศทาง กล่าวคือ เกมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการจำแนกเนื้อหาอยู่แล้วจากต่างประเทศเมื่อมีการนำเกมดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องได้รับการจำแนกเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยอีกครั้งหรือไม่ ในขณะที่มีกระบวนการของการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเกณฑ์ของการจำแนกเนื้อหาเกมคอมพิวเตอร์ตามช่วงอายุที่มีในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ของการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุดังกล่าวยังไม่ได้เป็นคำตอบทั้งหมดของระบบการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ อีกทั้ง เนื้อหารายละเอียดของเกณฑ์ในการจำแนกเนื้อหาเกมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวยังไม่ได้ครอบคลุมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย เช่น เนื้อหาเรื่องเพศ ในแต่ละช่วงวัยควรเป็นอย่างไร เนื้อหาเรื่องความรุนแรงในแต่ละช่วงวัยมีขนาดของความรุนแรงได้เพียงใด จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนารายละเอียดให้มีความละเอียดของความเข้มข้นของเนื้อหาในแต่ละช่วงวัยอย่างชัดเจนและเป็นระบบ

จุดตั้งต้นของแนวคิดพื้นฐาน          

      ถึงแม้จะเกิดคำถามในเชิงปฏิเสธการจัดระดับความเหมาะสมของสื่ออินเทอร์เน็ตและเกมคอมพิวเตอร์ขึ้นหลายคำถาม แต่ในขณะเดียวกันเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบริโภคสื่ออินเทอร์เน็ตและเกมคอมพิวเตอร์ที่มีผลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็ก เยาวชน ทำให้มีความจำเป็นที่ะต้องกลับมาอธิบายถึงแนวคิดพื้นฐานของการจัดระดับความเหมาะสมของสื่ออินเทอร์เน็ตและเกมคอมพิวเตอร์เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนถึงเหตุผล ความจำเป็นของการพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้น

      ๑. การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อกับเป้าหมาย

          การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อมีเป้าหมายหลัก ๒ ประการ กล่าวคือ เพื่อเป็นเกณฑ์สำหรับมาตรการเชิงส่งเสริมเพื่อให้เกิดสื่อที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว และ เพื่อเป็นเกณฑ์สำหรับมาตรการเชิงควบคุมเพื่อปกป้องเด็ก เยาวชนและครอบครัวจากการนำเสนอของสื่อที่ไม่เหมาะสม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมในการเลือกรับสื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับวุฒิภาวะและวิจารณญาณของผู้ชมในแต่ละวัย

    การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อจึงเป็นเครื่องมือในการพิจารณาเพื่อการสนับสนุนให้เกิดสื่อที่สร้างสรรค์ และในเวลาเดียวกันการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อยังใช้เป็นเครื่องมือที่จะปกป้องคุ้มครองเด็ก เยาวชนจากการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย รวมทั้ง เป็นเครื่องมือในการสร้างความชัดเจนของเนื้อหาของสื่อที่จะต้องถูกปราบปราม นอกจากนั้นแล้ว การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อยังใช้เป็นเครื่องมือในการเลือกรับสื่อให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่งด้วย

      ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายดังกล่าว การจัดระดับความเหมาะสมของสื่ออินเทอร์เน็ตและเกมคอมพิวเตอร์ จึงจำเป็นที่จะต้องประกอบด้วย ๒ ระบบ กล่าวคือ ระบบการประเมินคุณภาพของเนื้อหาของสื่อ ในการที่จะพิจารณาว่าเนื้อหาเว็บไซต์หรือเกมคอมพิวเตอร์นั้นให้การเรียนรู้ในด้านใด และ ระบบการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุเพื่อที่จะพิจารณาว่าเนื้อหาเว็บไซต์หรือเกมคอมพิวเตอร์นั้นเหมาะสมกับเด็ก เยาวชนหรือไม่ และในช่วงวัยใด รวมไปถึงการปราบปรามเนื้อหาที่ถูกพิจารณาว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่สร้างสรรค์และเป็นภัยต่อสังคม

           การสร้างเกณฑ์ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย

      สำหรับคำถามที่ถูกตั้งต้นถามในตอนแรกถึงแนวคิดในการสร้างระบบการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ ในประเทศต่างๆการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อเป็นการพิจารณาในระบบของการจำแนกเนื้อหาของสื่อว่าสื่อนั้นๆเหมาะสมกับเด็ก เยาวชนหรือไม่ และในวัยใด ซึ่งการจำแนกเนื้อหาดังกล่าวเป็นการตอบคำถามด้านเดียวเท่านั้น ยังไม่ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับสื่อที่สร้างสรรค์และส่งเสริมการศึกษา การเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชนและสังคมไทยเป็นอย่างไรด้วยเหตุนี้เอง ความจำเป็นที่จะต้องสร้างเกณฑ์ของระบบการประเมินคุณภาพเนื้อหาขึ้นให้เกิดขึ้นตลอดจน การสร้างความชัดเจนถึงการใช้เกณฑ์ในการจำแนกเนื้อหาอินเทอร์เน็ต หรือ เกมคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศ และเมื่อนำเข้ามาในประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งทีจะต้องกำหนดรายละเอีดที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมไทย อันจะนำมาซึ่งการจัดระดับความเหมาะสมที่มีประสิทธิภาพ

       การสร้างรายละเอียดบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน และครอบครัว

     เพื่อให้เกณฑ์ในการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อทั้งในระบบการประเมินคุณภาพเนื้อหาและระบบการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุมีความสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย การสืบค้นรายละเอียดของเกณฑ์ทั้งสองระบบจากสังคมโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว ในฐานะของผู้บริโภค จะช่วยให้เกณฑ์มีความสอดคล้องกับสภาพสังคมมากที่สุด

       อีกทั้ง การสืบค้นเกณฑ์ดังกล่าวจากสังคม เป็นกระบวนการที่จะช่วยระบบของความคุ้มกัน หรือ วัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายของการทำงานได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะการจัดกิจกรรมร่วมกับสังคมเพื่อวิจัยในลักษณะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะทำให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นหน่วยที่สำคัญในฐานะของข้าวของเรื่องที่จะเข้ามาเป็นกรรมการภาคประชาสังคมได้เรียนรู้ถึงความจำเป็นของการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ เข้าใจในวิธีคิดของเกณฑ์ นำมาซึ่งความเข้าใจบนพื้นฐานของความรู้ ด้วยเหตุนี้เอง การสร้างห้องทดลองเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จช่วยให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว ในฐานะผู้บริโภคมีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งสามารถต่อสู่กับสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หมายเลขบันทึก: 51962เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
บุ๋มค่ะเรียนที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เกม เล่นให้มีประโยชน์

อย่าให้มันกลับมาทำลายชีวิตเรา

เล่นให้สร้างสรรค์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท