กระบวนการแห่งปัญญา


ข้อเขียนของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เรื่อง กระบวนการทางปัญญา

   ผมอ่านหนังสือแล้วบันทึกย่อไว้นานแล้ว เป็นวารสารสาธารณสุขมูลฐาน ภาคใต้ตอนล่าง ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (มิถุนายน – กันยายน 2542) ในประเด็นข้อเขียนของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เรื่อง กระบวนการทางปัญญา มีประเด็นที่สรุปไว้ และผมเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจง่ายเข้าไปด้วย ดังนี้  

          1) ฝึกสังเกต สิ่งรอบ ๆ ตัว เช่นสิ่งแวดล้อม การทำงาน โดยใช้ร่วมกับการฝึกวิธีคิด สติ-สมาธิ จะทำให้การสังเกตทำได้ดี และจะเกิดปัญญามาก
          2) ฝึกบันทึก การบันทึกจะใช้การเขียน ทำแผนที่ความคิด (mind map) โน้ตย่อ หรือถ่ายภาพ บันทึกเสียง ก็ถือว่าเป็นการบันทึกทั้งสิ้น ควรฝึกใช้หลาย ๆ วิธีขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในแต่ละครั้งด้วย
          3) ฝึกการนำเสนอต่อที่ประชุมกลุ่ม ซึ่งจะเป็นทั้งการฝึกปัญญาให้กับกลุ่มและตัวเอง
          4) ฝึกการฟัง หรือพหูสูต การฟังอย่างมีสมาธิไม่หมกมุ่นกับความคิดของตัวเองขณะฟัง จะช่วยให้ฟังได้ดีขึ้น
          5) ฝึกปุจฉา-วิสัชนา เป็นการฝึกใช้เหตุผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำให้แจ่มแจ้งขึ้นในประเด็นนั้น ๆ
          6) ฝึกตั้งสมมติฐาน และตั้งคำถาม เช่น สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นเกิดจากอะไร อะไรมีประโยชน์ ทำอย่างไรจะสำเร็จประโยชน์อันนั้น การคิดคำถามกันเป็นกลุ่มอย่างมีคุณค่า จะทำให้เกิดกระบวนการต่อไปคือการอยากได้คำตอบร่วมกัน
          7) ฝึกการค้นหาคำตอบ เช่น ค้นจากเอกสารตำรา อินเตอร์เน็ต หรือไปพูดคุยกับผู้รู้ (Key Person) คนเต่าคนแก่ หากหมดหนทางแล้วก็ยังไม่พบคำตอบที่ต้องการ และคำถามยังมีความสำคัญอยู่อีกมากในการที่จะให้ได้มาซึ่งคำตอบก็ต้อง ทำการวิจัย
          8) ฝึกทำการวิจัย เพื่อแก้ปัญหาสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากวิธีการข้อที่ผ่านมา สิ่งที่ได้จึงเป็นความรู้ใหม่ การวิจัยไม่ใช่เรื่องยาก แต่มักจะทำให้ดูเป็นยาก เพราะคิดว่าความยากเป็นตัวบอกคุณภาพของงานวิจัย ซึ่งไม่ควรจะถูก
          9) ฝึกเชื่อมโยงบูรณาการ อย่าให้สิ่งที่รู้มานั้นแยกส่วน ด้วยข้อเท็จจริงแล้วทุกสิ่งที่มีอยู่ล้วนเชื่อมโยงกัน ฉะนั้นการเรียนรู้จากตนเองตามความเป็นจริง แล้วเชื่อมโยงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นอย่างไร จึงสำคัญมากและสิ่งนี้แหละที่จะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับธรรมชาติ และจะเกิดความสุขที่แท้จริงตามมา
        10) ฝึกการเขียนเรียบเรียงทางวิชาการ เป็นการเรียบเรียงสิ่งที่รู้มา รวมถึงความเชื่อมโยงถึงกันให้ประณีตขึ้น เป็นการแสดงหลักฐานที่มาขององค์ความรู้ให้ถี่ถ้วน แม่นยำ อันจะนำไปสู่การสืบค้น ค้นคว้าของผู้อื่นให้กว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก

หมายเลขบันทึก: 5196เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2005 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท