ประเมินเพื่อพัฒนา vs ประเมินเพื่อรายงาน


จุดที่น่าสนใจคือ สมศ. เน้นการประเมินโดยตัวชี้วัดมาก เพราะมันเป็นรูปธรรม เป็นปรนัย (objective) ซึ่งมองมุมหนึ่งก็นับว่าดี แต่ต้องตระหนักว่าตัวเลขเหล่านี้มันบอกอดีตกับปัจจุบัน มันไม่บอกอนาคต ตัวบอกอนาคตคือสารสนเทศเชิงคุณภาพ เชิงกระบวนการ (พัฒนาคุณภาพ)

          ในการไปทำหน้าที่ลูกทีมประเมินของ สมศ. ไปประเมินมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ประธานคือ ศ. ดร. ปราณี กุลละวณิชย์)      ผมพยายามหาหลักฐานเพื่อตอบตัวเองว่าระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาไทยที่เป็นอยู่     เป็นภาพที่เน้นหนักการประเมินเพื่อพัฒนา หรือการประเมินเพื่อรายงาน มากกว่ากัน

         ที่จริงคำถามของผมอาจจะไม่ค่อยดี     เพราะมันอาจชวนผมให้คิดไปในทาง ขาว-ดำ    บวก-ลบ   ถูก-ผิด     ในความเป็นจริงแล้วภาพของการประเมินคุณภาพการศึกษาย่อมจะมีทั้ง ๒ ภาพซ้อนกันอยู่     นั่นคือความเป็นจริง

        แต่ผมอดไม่ได้ ที่จะตั้งคำถามว่า  แล้วภาพไหนเล่า ที่เป็นภาพเด่น     ที่ถือครองกระบวนทัศน์ของระบบการศึกษาไทยอยู่ในปัจจุบัน     

        ที่จริงคำถามนี้ก็อาจจะผิดอีกนั่นแหละ    เพราะไปเที่ยวเหมาว่าทุกมหาวิทยาลัยจะเหมือนกันหมด ก็คงไม่ถูก      มันมีความแตกต่างหลากหลายอยู่ภายในระบบ     และแม้แต่ภายในมหาวิทยาลัยเดียวกัน  ระบบคุณภาพของต่างคณะ ต่างหน่วยงาน ก็อาจไม่เหมือนกัน

       ผมคิดว่าการประเมินมีจุดเน้น ๒ แบบ     คือเน้นประเมินเพื่อพัฒนา     กับเน้นประเมินเพื่อรายงาน     แบบแรกจะเน้นการประเมินไปข้างหน้า (ประเมินอนาคต)      ซึ่งจะเห็นได้จากการเน้นที่กระบวนการคุณภาพ หรือกระบวนการพัฒนาคุณภาพ     พอๆ กันหรือมากกว่ากระบวนการวัดตัวชี้วัด     คือแบบแรกจะมีร่องรอยเชิงคุณภาพ (qualitative) มากกว่าร่องรอยเชิงปริมาณ (quantitative)

        จุดที่น่าสนใจคือ สมศ. เน้นการประเมินโดยตัวชี้วัดมาก     เพราะมันเป็นรูปธรรม เป็นปรนัย (objective)     ซึ่งมองมุมหนึ่งก็นับว่าดี     แต่ต้องตระหนักว่าตัวเลขเหล่านี้มันบอกอดีตกับปัจจุบัน     มันไม่บอกอนาคต     ตัวบอกอนาคตคือสารสนเทศเชิงคุณภาพ เชิงกระบวนการ (พัฒนาคุณภาพ)    

        ผมมีอคติในเชิงฉันทาคติต่อการประเมินเพื่อการพัฒนาในอนาคต  มากกว่าการประเมินผลงานในอดีต

        ดังนั้น ความเชื่อของผมก็คือ  ถ้าต้องการเน้นการประเมินเพื่อพัฒนา   ตัวสารสนเทศของการประเมิน ต้อง ๖๐ : ๔๐   หรือ  ๗๐ : ๓๐     โดยที่ตัวเลข ๖๐ หรือ ๗๐ หมายถึงสารสนเทศเพื่อการประเมินที่เป็นเชิงคุณภาพ หรือเชิงกระบวนการ (ประเมินอนาคต)     ส่วนตัวเลข ๔๐ หรือ ๓๐ หมายถึงสัดส่วนของสารสนเทศที่เป็นเชิงปริมาณหรือตัวเลข (วัดสภาพปัจจุบัน  สะท้อนการกระทำหรือกระบวนการในอดีต)     ซึ่งหมายความว่า ผมเชื่อว่าควรวัดทั้งอดีต - ปัจจุบัน - อนาคต     แต่ควรเน้นการประเมินอนาคตมากกว่า 

        การทำสารสนเทศ ไม่ว่าสารสนเทศเชิงตัวเลข หรือสารสนเทศเชิงกระบวนการ มันต้องใช้แรงงาน ใช้เวลา และใช้ทรัพยากร      คือต้องลงทุน    ก็มาถึงประเด็นว่าเราลงทุนทำสารสนเทศเหล่านี้เพื่อเป้าหมายอะไรเป็นเป้าหมายหลัก     ที่ดีที่สุดในความเห็นของผมคือ เป็นสารสนเทศเพื่อการพัฒนางานของตนเอง      แล้วก็ออกแบบระบบสารสนเทศนั้นให้ประมวลเอาไปส่ง สมศ. หรือหน่วยงานประเมินอื่นๆ ได้ด้วย      ที่เลวที่สุดก็คือเป็นสารสนเทศเพื่อการประเมินล้วนๆ ไม่ได้ใช้เพื่อการพัฒนางานใดๆ เลย

         ในความเป็นจริงของหน่วยงานต่างๆ ก็คงอยู่ที่จุดกลางๆ ระหว่าง ๒ ขั้วนั้น     แต่ผมก็พยายามมองให้ลึกเข้าไปว่ามองจากพฤติกรรมในการติดต่อสื่อสารกัน     อ่านได้ว่าหน่วยงานเน้นการทำสารสนเทศแบบแรกหรือแบบหลัง      ถ้าเป็นแบบแรก ก็สะท้อนว่าระบบประเมินเน้นเพื่อพัฒนา   ถ้าเป็นแบบหลังก็บอกว่าเป็นระบบประเมินเพื่อรายงาน

        ความคิดที่ซับซ้อน  และการจับภาพของความซับซ้อนแบบนี้ จะช่วยเป็นพลังขับเคลื่อนระบบพัฒนาคุณภาพที่เป็นธรรมชาติ     และช่วยการพัฒนาในระยะยาว

 

วิจารณ์ พานิช
๑๙ กย. ๔๙
สนามบินหาดใหญ่

คำสำคัญ (Tags): #สมศ.#มหาวิทยาลัย
หมายเลขบันทึก: 51954เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท