ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง..ในโรงเรียนขนาดเล็ก


เพื่อยกระดับโรงเรียนขนาดเล็ก ให้ก้าวไปสู่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

     จริงๆแล้วไม่มั่นใจว่าจะทำได้ แต่ใจสู้ ตั้งแต่รู้ว่าสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรี    คัดเลือกโรงเรียนบ้านหนองผือ เพียงโรงเดียวของเขตพื้นที่ ภายใต้ชื่อโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนในโรงเรียน..ซึ่งต้องประกอบไปด้วยการอบรมให้ความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ตลอดจนการสาธิตในกระบวนการของเกษตรพอเพียง

     ครูทั้งหมด ๕ คนของผม ประชุมหารือแบ่งงานกัน โดยให้ครูนิรุต เป็นวิทยากรหลัก ครูจิรวดี เป็นผู้ช่วยและจัดทำเอกสาร คุณครูท่านอื่น ดูแลอาหารกลางวันและอาหารว่าง ตลอด ๒ วัน คือวันที่ ๗ - ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา

     ในการนี้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด สนับสนุนงบประมาณ โดยขอให้มีโรงเรียนต่างๆเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ผมได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนในเครือข่าย ๔ โรงเรียน ส่งนักเรียนเข้าร่วม โรงเรียนละ ๕ - ๗ คน รวมเด็ก ป.๔ - ๖ ของผมจึงมีเด็กเข้าอบรมรวมทั้งสิ้น ๕๐ คน

     วันแรกผมได้ให้หลักการทฤษฎีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มาที่ไปเป็นพื้นฐาน โยงเข้าสู่หัวใจสำคัญ คือ ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ผ่านการคิดวิเคราะห์จากใบงานและกิจกรรมกลุ่ม ในหัวข้อ "อาหารมื้อเย็น" ที่นักเรียนกลุ่มละ ๘-๑๐ คน ต้องคิดรายรับ รายจ่าย รายการอาหาร วัสดุที่ต้องซื้อ ต้องใช้ และแหล่งที่จะต้องจัดหาจัดซื้อ จากนั้นให้ถอดบทเรียนออกมา ตามความรู้ความเข้าใจ สรุปผลงานแต่ละกลุ่มได้ว่า....

     เหตุผล...การได้ปรึกษาหารือกัน แสดงความคิดเห็นร่วมกัน ไม่มีใครเอาแต่ใจตนเอง รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น

     พอประมาณ...ไม่ทำกับข้าวหลายอย่าง ใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบ ไม่ฟุ่มเฟือย ใช้วัสดุที่มีอยู่บ้างแล้วในครัวเรือน

     มีภูมิคุ้มกันที่ดี...จัดซื้อวัสดุประกอบอาหารจากชุมชนใกล้บ้านเพราะราคาถูก ใช้ผักปลอดสารพิษ ประกอบอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถูกหลักอนามัย ให้พลังงานและช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต

     ความรู้...ได้รู้ว่าอาหารแต่ละอย่างต้องใช้ส่วนประกอบในการปรุงอย่างไร และประโยชน์ในการเลือกซื้อวัสดุที่มีคุณค่า ตลอดจนแหล่งที่ควรเลือกซื้อวัสดุในการประกอบอาหารในแต่ละมื้อ

     คุณธรรม...ความรักความสามัคคีที่เกิดจากการทำอาหารร่วมกัน การประหยัดอดออม เพื่ออนาคตครอบครัว

     ในช่วงบ่ายของวันแรก นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามฐานต่างๆ ประกอบด้วย แปลงผัก บ่อปลา แก๊สชีวภาพ โรงเห็ด เล้าไก่ สวนสมุนไพร และสวนสุขภาพ โดยมีวิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ เสร็จแล้วให้นักเรียนเลือกฐานเรียนรู้ที่นักเรียนสนใจ ถอดบทเรียนออกมา ตามความรู้ความเข้าใจ เชื่อมโยง ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข

     วันที่สอง ครูนิรุตนำชมวีดีทัศน์ เรื่อง การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ และเกษตรอินทรีย์ ให้ความรู้เรื่องดิน และปุ๋ยชีวภาพ จากนั้นช่วงบ่าย นำนักเรียนทุกคนเข้าสู่หมู่บ้าน พบปะปราชญ์ชาวบ้าน รับความรู้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ และพบเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในชีวิต รวมทั้งเที่ยวชมไร่นาสวนผสมด้วย

     ภารกิจคงยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ โรงเรียนบ้านหนองผือ ยังจะต้องจัดกิจกรรมในลักษณะการสาธิตองค์ความรู้ให้แก่โรงเรียนในเครือข่ายด้วย ซึ่งต้องเตรียมการวางแผนกันต่อไป..

.....เพื่อยกระดับโรงเรียนขนาดเล็ก ให้ก้าวไปสู่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อย่างภาคภูมิและสมบูรณ์แบบในที่สุด



หมายเลขบันทึก: 519508เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2013 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอแสดงความยินดีด้วยครับที่เป็นแบบอย่างให้โรงเรียนอื่น  เอาใจช่วยครับ

จะวันแห่งความรัก

หรือวันไหนๆ

ก็รักอาจารย์ขจิตและพี่ใหญ่

อยู่ในหัวใจ เสมอ

ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้อย่างชื่นชมนะคะ


ไม่มีโรงเรียนใด...แย่....ถ้าผู้บริหาร....เยี่ยมยอด

ไม่มีโรงเรียนใด...รอด....ถ้าผู้บริหาร....ยอดแย่

........ขอชื่นชมยินดีความเป็นผู้นำของ ผอ.ชยัีนต์...ด้วยใจจริงจ้ะ..........


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท