Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

การเขียนรายงานผลการวิจัยภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ : ผู้เขียน ? พื้นที่นำเสนอรายงานผลการวิจัย ? ประเภทของรายงานผลการวิจัย ?


โดยสรุป ผู้เขียนรายงานผลการวิจัยภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ จึงได้แก่ เครือข่ายการวิจัยของเราทั้งวงจร เริ่มต้นจาก “คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติเจ้าของปัญหา” มาจนถึงเรา “นักวิจัย” ...เราเชื่อว่า ต้องเผยแพร่งานเขียนของเราไปยังผู้บริโภคงานวิจัยของเราในลักษณะ “ส่งถึงที่บ้าน (delivery at home)”

        การเขียน เป็นรูปแบบหนึ่งที่เราใช้ในการบอกกล่าวสังคมถึงข้อค้นพบเกี่ยวกับความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย เราเขียนรายงานผลการวิจัยและนำเสนอต่อสาธารณชนตั้งแต่วันแรกๆ ของการทำงาน ขอให้สังเกตว่า อย่างนี้เป็นพฤติกรรมที่เราไม่เคยทำมาก่อนเลยในกระบวนการทำงานในอดีต เรามักจะเขียนรายงานก็ต่อเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการวิจัย และนักวิจัยซึ่งเป็นนักวิชาการเป็นคนเขียนรายงาน แต่ภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ซึ่งเราวางแนวคิดในการทำงานในรูปแบบที่เดินไปกับสังคม ดังนั้น เมื่อเราพบอะไรอันอาจเป็นผลของการวิจัย เราจะบอกสังคม

           ใครคือผู้เขียนรายงานผลการวิจัยภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ?

           ขอให้สังเกตอีกด้วยว่า ในส่วนของผู้บอกสังคมข้อค้นพบนั้น เราพยายามผลักดันให้เจ้าของปัญหาบอกเล่าเรื่องของเขาแก่สังคมเอง โดยมีเราเป็น พี่เลี้ยง ซึ่งเราแทบไม่ต้องเตรียมอะไรให้แก่พวกเขา พวกเขาเล่าเรื่องของพวกเขาได้ เพราะมันเป็นเรื่องของเขา พวกเขาขาดเพียง กำลังใจ ที่สร้างความรอบรู้และความกล้าหาญ ซึ่งเรานักวิจัยต้องให้แก่เขา

         แต่ในส่วนของการเสนอแนะสังคมถึง องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา นั้น ผู้บอกกล่าวย่อมเป็นผู้ที่เข้าไปค้นพบ แนวคิดและวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งก็มักจะได้แก่องค์กรชุมชนที่ดูแลเขา องค์กรพัฒนาเอกชนที่ดูแลเขา ตลอดจนเรานักวิจัยเองซึ่งเข้าไป ทดลอง แก้ปัญหา แม้แต่ภาคราชการเอง

          โดยสรุป ผู้เขียนรายงานผลการวิจัยภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ จึงได้แก่ เครือข่ายการวิจัยของเราทั้งวงจร เริ่มต้นจาก คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติเจ้าของปัญหา มาจนถึงเรา นักวิจัย

             เรานำเสนอรายงานผลการวิจัยภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐที่ไหน ?

            พื้นที่ที่เราใช้ในการนำเสนอรายงานผลการวิจัยมีอยู่ ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

          ลักษณะแรก ก็คือ การนำเสนอรายงานในพื้นที่สื่ออินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นสื่อใหม่ที่เอื้อต่อการทำงานของเราอย่างยิ่ง เนื่องจากเราใช้ได้ตลอดเวลา และผนวกกับเทคโนโลยีอีเมลล์ เราสามารถเผยแพร่งานเขียนของเราไปยังผู้บริโภคงานวิจัยของเราในลักษณะ ส่งถึงที่บ้าน (delivery at home)” เรามีเครือข่ายที่บริโภคงานวิจัยของเราเป็นประจำอยู่ไม่น้อย เราใช้ Websites หลายแห่งในการนำเสนอรายงานผลการวิจัยของเรา

           (๑) http://www.archanwell.org/   โดยเฉพาะ Website ของผู้วิจัยหลัก อันได้แก่

           (๒) http://www.thaichildrenright.net/th  Website ของโครงการ ดยค.- มสช. ซึ่งเป็นโครงการแม่

           (๓) http://www.forstatelesschild.org/ Website ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อบันทึกเรื่องราวของงานวันเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เครือข่ายภาคเหนือซึ่งมีมหาวิทยาลัยพายัพเป็นแกนนำ และโดยการสนับสนุนทุนการสร้างเว็บ โดย UNICEF

           (๔) http://childday.forstatelesschild.org/ Website ของ สคส. ซึ่งเป็นประชาคมออนไลน์ของนักวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย

          ลักษณะที่สอง ก็คือ การนำเสนอรายงานในสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งที่เป็นสื่อกระแสหลัก หรือเป็นสื่อทางเลือก ซึ่งความเป็นไปได้ในเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเราได้สร้าง เครือข่ายสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน ภายใต้โครงการเด็กและสื่อ ซึ่งเป็นโครงการคู่ขนานกับโครงการเด็กไร้รัฐ ที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ งานเขียนที่เผยแพร่ในสื่อกระแสหลักนี้ได้ทำหน้าที่ของ คำฟ้องของอัยการในกระบวนการยุติธรรมตามธรรมชาติ อันส่งผลให้มีการเข้าแก้ไขปัญหาให้แก่คนไร้คนไร้สัญชาติโดยกฎหมายและนโยบายที่มีอยู่แล้ว หรือโดยการสร้างกฎหมายและนโยบายใหม่เพื่อการนี้

            ลักษณะที่สาม ก็คือ การนำเสนอรายงานต่อบุคคลเป้าหมายที่ควรบริโภครายงานผลการวิจัยโดยตรง  ซึ่งเราได้ทำหลายครั้งภายใต้ระยะเวลา ๑๒ เดือนตามโครงการเด็กไร้รัฐ หรือแม้จนถึงปัจจุบัน เราก็ยังมีโอกาสนำเสนอรายงานผลการวิจัยของเราเมื่อมีการร้องขอจากผู้บริโภค ซึ่งรายละเอียด เราจะกล่าวถึงในบทที่กล่าวถึง การถ่ายทอดองค์ความรู้

          ขอให้ตระหนักว่า เราไม่ค่อยมีความเชื่อในการเช่าโรงแรมในเมือง โดยเฉพาะใน กทม. เพื่อนำเสนอรายงานผลการวิจัย ซึ่งเราพบว่า ผู้เข้าร่วมนั้นโดยส่วนใหญ่อาจมิใช่ผู้ควรบริโภคงานวิจัยโดยตรง แต่เราก็ไม่ปฏิเสธรูปแบบนำเสนอรายงานผลการวิจัยในลักษณะหลังนี้ เพราะอย่างน้อยก็เป็นการเผยแพร่ความรับรู้ในปัญหาต่อบุคคลที่อาจยังไม่เข้าใจปัญหา หรือเข้าใจปัญหาแล้ว แต่ยังไม่รับรู้ถึงทางออกของปัญหา แต่ก็ต้องย้ำว่า เราให้ความสำคัญต่อการส่งรายงานผลการวิจัยโดยตรงต่อผู้ควรบริโภคมากกว่า

         รายงานผลการวิจัยภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐมีกี่ประเภท ?

           โดยพิจารณากระบวนการวิจัยของเราซึ่งให้ความสำคัญกับการแสวงหาองค์ความรู้ ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริง (๒) การสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านองค์ความรู้ และ (๓) การสังเคราะห์องค์ความรู้ในการจัดการปัญหา ดังนั้น เมื่อต้องเขียนรายงาน เราจึงต้องเขียนรายงาน ๓ ประเภท กล่าวคือ (๑)  รายงานการสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริง (๒) รายงานการสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านองค์ความรู้ และ (๓) รายงานการเสนอองค์ความรู้ในการจัดการปัญหา

         ซึ่งเราจะนำเสนอรายละเอียดของรายงานผลการวิจัยในแต่ละประเภทต่อไป 

ที่มา : งานเขียนอันเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการเด็กไร้รัฐ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทุนศาสตราจารย์ คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 51932เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท