ปกิณกะคดีควาย : คาถาที่ใช้กับควาย


เรื่องเก่า ที่เกือบถูกลืม

คาถารักษาแผลและป้องกันหนอนในแผลวัว-ควาย

คาถาบทนี้ได้บันทึกจากปากคำของนายใหม่ มูลสาร อายุ ๘๖ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๔๔ บ้านนาโป่ง หมู่ที่ ๖ ตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล  จังหวัดยโสธร (หมู่บ้านต้นแบบในการอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย) เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๕ โดยนายใหม่ มูลสาร บอกว่า คาถานี้ได้เรียนรู้มาจากเพื่อนของพ่อ (ภาคอีสานเรียกว่า พ่อเสี่ยว) ซึ่งเป็นชาวอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ตั้งแต่นายใหม่อายุ ๒๐ ปี

การใช้คาถานี้ต้องใช้กับอุปกรณ์ที่เรียกว่า หลอด ซึ่งทำด้วยลำไม้ไผ่ป่าหรือไผ่น้อยสดๆ ขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ หรือนิ้วชี้ของคน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑-๑๕ ซม. ความยาวประมาณ ๖-๗ ซม. แล้วนำมาจาร หรือจารึกหรือเขียนด้วยเหล็กที่มีปลายแหลมคม เป็นอักขระที่ชาวบ้านเรียกว่า ตัวธรรม  ลักษณะคล้ายอักษรไทยน้อยโบราณ ขณะที่จารก็จะร่ายคาถาไปด้วย ซึ่งคาถามีดังนี้ (จะใช้ภาษาไทยที่ถอดจากบาลีแล้วเพื่อความเข้าใจและสะกดง่ายกว่า)

นะคัตตัง นิคิปปามิ ปะริกังคะ นิคิปปามิ
นะคัตตัง สะมาธิยามิ ปะริกังคะ สมาธิยามิ

ว่าคาถาเสร็จแล้วก็เสกเป่าลงที่หลอดนั้น แล้วมอบให้เจ้าของวัวควายหาเชือกหรือฝ้ายมาร้อยเข้าในรูของหลอด นำไปแขวนคอให้วัวหรือควายที่มีอาการเป็นแผลที่ส่วนต่างๆของร่างกาย

นายใหม่ มูลสารบอกว่า คาถานี้จะช่วยให้แผลแห้งเร็ว แมลงวันไม่มาตอมและไม่มีวางไข่ให้เป็นหนอนชอนไชที่แผล หรือถ้ามีหนอนอยู่ก่อนก็จะแห้งตายไปเอง เมื่อแผลหายเชือกหรือด้ายร้อยหลอดกับคดสัตว์ก็มักจะหลุดและขาดไปเอง ถ้ายังไม่ขาดก็ให้เจ้าของดึงออกจากคอแล้วขว้างทิ้งไปเลย ไม่ควรเก็บไว้ใช้อีก ข้อที่พ่อหมอแนะนำเจ้าของสัตว์อีกประการหนึ่ง คือ เมื่อแผลหายแล้วไม่ควรแขวนหลอดต่อหรือควรรีบดึงออกทันที เพราะถ้าแขวนไว้นานๆ จะทำให้วัวควายนั้นแพ้หลอด ทำให้ซูบผอมลงได้

ส่วนค่าวิชา ที่คนอีสานเรียกว่า ค่าคาย นั้น เดิมทีเรียกแค่ ๑ บาท ต่อ ๑ ครั้ง ตอนนี้เป็น ๑๐ บาท หรือแล้วแต่เจ้าของสัตว์ป่วยจะมีศรัทธาให้ไม่มีการบังคับ

พ่อหมอบอกว่ามุกวันนี้แม้จะมียาสมัยใหม่ แต่ชาวบ้านนาโป่ง ตลอดจนถึงหมู่บ้านอื่นในตำบล และอำเภอใกล้เคียง ยังนิยมมาบูชาเอาหลอดจากพ่อหมออยู่มิได้ขาด ขณะที่พูดคุยกันพ่อหมอ ยังได้เอาหลอดที่ทำไว้จำนวนหนึ่งมาให้ดูและถ่ายรูปไว้ด้วย

* * คาถาแก้กินผิดหรืออาการผิดสำแลงสำหรับสัตว์ * *

คาถาพร้อมตำรับยาสูตรนี้ได้มาจากพ่อหมอใหม่ มูลสาร เช่นเดียวกัน ซึ่งพ่อหมอใหม่ได้มาจากผู้เฒ่าแห่งบ้านพะนัส ตำบลกุดน้ำใส อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดอีกทีหนึ่ง

สำหรับยาสมุนไพรที่ใช้ คือ ต้นก่อหรือก่อขี้หมู เอาแก่นหรือต้น มาต้มจนเดือด แล้วยกลงปล่อยให้เย็น เสกคาถาดังนี้

เสกขา ธัมมา
อะเสกขาธัมมา
เนวะเสกขาธัมมา

ว่าจบก็เสกเป่าที่น้ำยาแล้วนำไปกรอกสัตว์ที่ป่วยครั้งละ ๑ ถ้วย จะช่วยรักษาอาการผิดสำแลง หรือกินของผิด ของแสลง ของสัตว์ตั้งท้องหรือแม่ลูกอ่อน ให้มีอาการปกติกินอาหารได้ ไม่แท้งลูก หรือมีน้ำนมให้ลูกกินได้ต่อไป

* * คาถารักษาแผลและกันหนอนอีกสูตรหนึ่ง * *

คาถานี้ได้รับการถ่ายทอดจากนายกัณหา แสนหล้า  อายุ ๖๓ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๙๗ บ้านนาโป่ง หมู่ที่ ๖ ตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร (หมู่บ้านเดียวกับนายใหม่ มูลสาร) แต่บันทึกถ้อยคำเมื่อวันที่  ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

วัสดุที่ใช้ คือ ใบลานหรือใบตาล ที่ไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป ความกว้าง ๒ นิ้วมือ (ประมาณ ๓ - ๔ ซม.) ความยาวหนึ่งคืบ ( ประมาณ ๒๐ ซม.) การจารหรือเขียน จะใช้เหล็กจารหรือเหล็กแหลม ก่อนจะจารจะมีพิธีเล็กน้อย เริ่มด้วยการแต่งขันห้า ประกอบด้วยดอกไม้ธูปเทียนอย่างละ ๕ จัดใส่ขันหรือพานหรือจาน มาให้พ่อหมอ แล้วพ่อหมอจะยกพานขันห้าขึ้นพนมจรดหัว กล่าว นะโมตัสสะ ๓ จบ แล้วกล่าวคาถา "คัดสะคะมูมะหิ โอภาเส ติดถาหิ" ว่า ๓ จบ แล้วจึงนำใบลานหรือใบตาล มาจารด้วยอักขระตัวธรรม หรือ ตัวไทยน้อย เป็นข้อความตามคาถาที่กล่าวไป เสร็จแล้วจึงม้วนใบตาลหรือใบลานนั้น เป็นขดกลมๆ หาเชือกมารัดให้แน่น ทิ้งปลายเชือกไว้ทิ้งสองข้างยาวพอสมควร สามารถจะนำไปคล้องคอวัวควายได้ แล้วก็มอบให้เจ้าของสัตว์นำไปคล้องคอสัตว์เองส่วนค่าคายแล้วแต่ะจะให้

สำหรับหลอดใบลานหรือใบตาลของพ่อหมอกัณหา ก็ใช้เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันกับของพ่อหมอใหม่ คือ รักษาแผล กำจัดหนอน ป้องกันแมลงวันมาวางไข่ที่บาดแผล พอแผลหายให้ถอดออก ไม่ควรแขวนต่อเพราะจะทำให้วัวควายซูบผอมได้  แต่ที่แตกต่างกันก็คือ ของพ่อหมอใหม่ใช้แล้วให้ทิ้ง ส่วนของพ่อหมอกัณหา ให้ไปใช้กับการเป็นบาดแผลครั้งใหม่ หรือใช้กับตัวอื่นต่อไปได้อีก (เป็นหมอที่อายุน้อยกว่าก็เลยมีการให้นำกลับไปใช้ใหม่ หรือ Reused ได้อีก)


จากส่วนหนึ่งในผลงาน ควายกับฅน ของ เรืองศักดิ์ ละทัยนิล ที่ตั้งใจทำขึ้นด้วยความสำนึกในคุณค่า และแรงศรัทธาที่มีต่อ ควายไทย



หมายเลขบันทึก: 51884เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท