การสอนแบบไร้โต๊ะอาจารย์


 

การปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนของในช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงปรับโน่นปรับนี่อยู่บ่อย ๆ ครับ

โดยสิ่งที่ปรับแล้วได้ผลมาก ๆ ก็คือ "การจำกัดโต๊ะอาจารย์ออกไปครับ"

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่าเกิดอุปสรรคในการเรียนการสอนนั้นก็คือ "การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษามีน้อยมาก" โดยเฉพาะการซักถาม การพูดคุย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมเริ่มนำการจัดการความรู้เข้าไปใช้แทนการบรรยาย

ดังนั้นผมก็เลยเริ่มค้นหาวิธีการที่จะทำให้บรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีมากขึ้นครับ

และสิ่งที่ผมทดลองแล้วได้ผลอย่างหนึ่งก็คือ "การสอนแบบไร้โต๊ะอาจารย์"

ซึ่งตอนนั้นผมเริ่มสังเกตตั้งแต่ครั้งที่ให้นักศึกษาออกมา Present หน้าห้องครับ มีนักศึกษาหลาย ๆ คนร้องขอที่จะมีโต๊ะหรือเก้าอี้เล็ก ๆ มาตั้งตรงหน้า ขวางระหว่างตัวผู้พูดกับตัวผู้ฟัง ซึ่งตอนนั้นผมก็ได้ข้อสรุปว่า การมีโต๊ะกั้นระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง จะทำให้นักศึกษาที่ออกมา Present เกิดความกล้ามากขึ้น ก็คือ มีการ "อายน้อยลง" ครับ เพราะว่า ผู้พูดและผู้ฟังดูห่างเหินกันดี ก็คือ มีโต๊ะคอยช่วยกันอยู่

จากสิ่งที่พบในวันนั้น ผมก็เลยคิดกลับกันครับว่า การมีโต๊ะกั้นอยู่ช่วยให้นักศึกษามีความกล้าเพราะห่างจากเพื่อนที่นั่งในห้องมากขึ้น และถ้าเราต้องการเปิดเวทีสร้างบรรยากาศให้เราและนักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้มากขึ้น "ก็ควรที่จะเอาโต๊ะออกนะ" 

ดังนั้น ขั้นแรกผมก็เลยเริ่มทดลองที่จะยกโต๊ะหน้าห้องออกไป

ผลปรากฎว่า บรรยากาศดีขึ้นครับ แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะยังเป็นการนั่งประจันหน้ากันอยู่ครับ

ขั้นที่สอง เปลี่ยนจากการนั่งเรียงหน้ากระดานมาเป็นนั่งแบบครึ่งวงกลม เพื่อเพิ่มความ Squarly ให้มากขึ้น ตอนนี้บรรยากาศเริ่มดีขึ้นครับ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เริ่มดีขึ้น

แต่ว่า โต๊ะที่ยกออกไปนั้น เป็นที่ตั้งของ "เครื่องฉายแผ่นใส" ครับ เมื่อไม่มีโต๊ะ ก็ไม่สามารถฉายแผ่นใสได้

ดังนั้น จึงจะต้องค้นหาวิธีการใช้สื่อแบบใหม่ครับ ซึ่งตอนนั้นก็เป็นการพบโดยบังเอิญมาก ๆ เลยครับ เนื่องจากไม่มีเครื่องฉายแผ่นใส ทำให้ต้องกลับไปเขียนกระดาน (ใช้ไวท์บอร์ด) ก็พบว่า ใช้ได้ดีกว่าปิ้งแผ่นใสครับ เพราะสอนไปเขียนไปดูเหมือนว่าผมและนักศึกษาจะเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่บรรยายได้มากขึ้นครับ

จากนั้นผมก็เลยได้ใช้รูปแบบนี้บรรยายสำหรับนักศึกษาเรื่อยมาจนกระทั่งลาออกครับ

ปัญหาที่พบ

การจัดการเรียนการสอนแบบนี้ก็เกิดปัญหาบ้างครับ ไม่ราบรื่นเสมอไปครับ ได้แก่

  1. การเสียงดังระหว่างการปรับเปลี่ยนรูปแบบโต๊ะ เพราะว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย คาบต่าง ๆ ของนักศึกษาที่เรียนห้องติดกันนั้นไม่ค่อยตรงกันครับ เมื่อเดินเข้าไปสอนตอนแรก ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายโต๊ะ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นการรบกวนห้องข้าง ๆ ที่กำลังมีการเรียนการสอนอยู่ครับ วิธีแก้ไขก็คือ จะต้องควบคุมนักศึกษาให้อยู่ครับเวลาย้ายโต๊ะว่า "ห้ามลาก" ให้ยกแบบเบา ๆ โดยต้องบอกไว้ล่วงหน้าเลยครับ Trip เล็ก ๆ ก็คือ ยกช่วยเด็กครับ ก็คือ ช่วยเด็กจัดโต๊ะเลย ถ้าเรายก เด็กก็จะยกตามครับ
  2. การจัดโต๊ะเข้ารูปแบบเดิมเมื่อเสร็จการเรียนการสอนแล้ว สิ่งนี้เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันครับ เพราะที่คณะฯ ของผมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการจัดโต๊ะและทำความสะอาดห้องมีน้อยครับ ก็คือมีพี่แก่นกับพี่โยธิน ดังนั้น ถ้าเราเกิดไปเปลี่ยนแปลงห้องที่จัดไว้แบบปกติ ก็จะควรจะจัดคืนเข้าแบบเดิมครับ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระครับ
  3. เพิ่มภาระให้นักศึกษา นักศึกษาบางครั้งก็อาจจะงง ๆ หรือแอบบ่นในใจครับ ว่ามาเรียนกับเราแล้วลำบากกว่าเรียนกับอาจารย์ท่านอื่น เพราะจะต้องยกโต๊ะ จัดโต๊ะ ยุ่งยาก ลำบากครับ สำหรับประเด็นนี้จะต้องทำความเข้าใจโดยแจ้งให้นักศึกษาทราบถึงข้อดีและข้อเสียของสิ่งที่เปลี่ยนแปลงครับ ว่าเขาจะได้รับสิ่งอะไรที่ดีขึ้นบ้างครับ
หมายเลขบันทึก: 51836เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 03:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท