เครียดจัง : สัมภาษณ์แบบประจันหน้า


การนั่งแบบ Squarely ก็เพื่อที่จะทำให้คู่สนทนาทั้งสองฝ่ายไม่ต้องจ้องกันมากเกินไป ไม่รู้สึกอึดอัดในการสนทนา หลบตากันได้บ้าง

ที่มาของบันทึกนี้เนื่องมาจาก ตอนที่ผมเริ่มทำงานวิจัยใหม่ ๆ ครับ ตอนนั้นอาจพูดได้เลยครับว่าทำแบบ "งู ๆ ปลา ๆ" นึกจะเดินเข้าไปในชุมชนก็เข้าไปเลยครับ ยังไม่เคยเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ อะไรมากมาย

สิ่งที่ผมพบมากในตอนนั้นก็คือ เวลาไปคุยกับพี่น้องในชุมชน บางครั้งทำไมไม่ลื่นไหล คุยไปสักพักก็เกิดอาการสะดุด และ "เครียด" มาก

ตอนหลังที่ได้มาอบรมกับท่าน นพ.ทวีศักดิ์ นพเกษร ในเรื่องเทคนิคของการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) และการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์กลุ่มย่อย (Focus Group Dicussion) แล้วก็พบสาเหตุครับ ที่หลาย ๆ ครั้งการเลือกที่นั่งไม่ Squarely ครับ

 

(จากทางซ้ายมือสุด พี่แอ๊ด ตามมาด้วย พี่โย่ง (เสื้อลาย) และทางขวา พี่พนม (เสื้อเขียว) ครับ)

การนั่งประจันหน้าเวลาคุยกับใคร ไม่เฉพาะตอนลงไปทำวิจัย "เครียดมากจริง ๆ ครับ" เพราะรู้สึกว่า ถ้าเวลาคุยไปนาน ๆ ก็จะต้องสบตากับคนที่คุยด้วยอยู่ตลอดเวลา หลบตาไปทางอื่นไม่ค่อยได้ครับ เพราะจะทำเหมือนกับเรา "ไม่จริงใจ" ดังนั้นก็เลยจำเป็นที่จะต้องตากันตลอด ดังนั้น เวลาคุยไปนาน ๆ ความเครียดทางสายตาก็มาเยือนครับ ส่งผลให้สมองเครียดตามไปด้วย ยิ่งคุยนาน ๆ การคุยก็ไม่ค่อยลื่นไหลเลยครับ

การนั่งแบบ Squarely ก็เพื่อที่จะทำให้คู่สนทนาทั้งสองฝ่ายไม่ต้องจ้องกันมากเกินไป ไม่รู้สึกอึดอัดในการสนทนา หลบตากันได้บ้าง

ซึ่งมีครั้งหนึ่งผมเคยนำภาพข้างบนนี้เข้าไปสอนนักศึกษารายวิชา "การวิจัยทางธุรกิจ" ในเรื่องของเทคนิคการสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลกับชุมชน นักศึกษาพูดออกมาได้ตลกและตรงมาก ๆ เลยครับ

"อาจารย์ เหมือนอาจารย์จะไปต่อยกับเค้าเลย"

"ตกลงใครเป็นคนสัมภาษณ์ใครเนี่ย"

"หนูว่านะ เหมือนกับอาจารย์ไปทำอะไรผิดมาแล้วกำลังถูกเค้าสอบสวนมากกว่า"

"ไม่เหมือนคนที่น่าจะทำงานร่วมกันได้เลย"

เป็นจริงอย่างที่นักศึกษาพูดเลยครับ เพราะการคุยกันในวันนั้นไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่ครับ "เหมือนจะทะเลาะกัน"

ยิ่งคุยเรื่องเครียด ๆ เรื่องที่ยิ่งจะต้องตกลงทำงานร่วมกันแล้ว ยิ่งทำให้ดูบรรยากาศอึมครึมและตึงเครียดมากยิ่งขึ้นครับ

ดังนั้นพอได้มาเรียนเทคนิคการนั่งที่ถูกต้องเวลาคุยกับใครหรือการเข้าไปทำงานกับชุมชน ผมเองก็เริ่มนำมาปรับใช้กับเพื่อน ๆ และนักศึกษาในคณะฯ ก่อนเลยครับ

ก็คือเริ่มตั้งแต่เปลี่ยนที่นั่งเวลาที่จะต้องคุยกับนักศึกษา ถ้าเป็นไปได้ ก็จะไม่นั่งประจันหน้ากัน เพื่อเวลาที่นักศึกษามาปรึกษางานจะได้ลดความเกร็งลงไปบ้าง การคุยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และงานที่นักศึกษานำมาปรึกษาก็รู้สึกว่าลุล่วงได้มากขึ้นครับ เมื่อมีการจัดสถานที่ให้ Squarely กันมากขึ้นครับ

 โดย "ม้าหินอ่อน" ที่อยู่ตามบ้านเรา เป็นเวทีที่ Squarely มากที่สุดเลยครับ ถ้าเลือกนั่งได้นั่งด้านข้าง ซ้ายหรือขวาก็จะทำให้การคุยดูราบรื่นมากยิ่งขึ้นครับ

ผมเองก็ลองสังเกตหลายการทางโทรทัศน์หลาย ๆ รายการครับ ที่เป็นรายการในลักษณะ Talk Show ครับ ส่วนใหญ่ก็จะจัดเก้าอี้ระหว่างพิธีกรและแขกรับเชิญแบบ Squarly ครับ บรรยากาศการคุยก็ดูแบบสบาย ๆ ครับ อาทิเช่น รายการ Twilight Show ครับ เป็นบรรยากาศที่ดีมาก ๆ ครับ

หรือถ้าลองสังเกตอีกรายการหนึ่งที่เป็นรายการแบบจับสองฝ่ายมานั่งประจันหน้ากันแล้วเถียงกัน เวลาเราดูบรรยากาศค่อนข้างเครียดครับ ทั้งจากน้ำเสียงคู่สนทนาทั้งสองฝ่ายครับ

บันทึกนี้ก็เป็นบันทึก R2R เล็ก ๆ ครับ อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการสักเท่าไหร่ ถ้าท่านใดมีเทคนิคหรือสิ่งใดแลกเปลี่ยนเชิญได้เลยนะครับ จะได้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

 

 

หมายเลขบันทึก: 51835เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 02:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท