Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาสำหรับห้องเรียน : จาก "กุหลาบแก้ว" ถึง กม.ต่างด้าว โอกาสทบทวนนโยบายการลงทุน


นำมาบันทึกไว้เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับนักศึกษาปริญญาโทซึ่งเรียนกฎหมายธุรกิจ และที่เรียนกฎหมายโทรคมนาคม เรื่องนี้จะเป็นตัวอย่างของการลงทุนของคนต่างด้าวโดยผ่านบริษัทตามกฎหมายไทย โดยข้อเท็จจริงนี้ เราจะพบว่า พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒ ไม่สามารถที่จะสกัดการครอบงำของทุนต่างด้าวในธุรกิจที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ประสงค์จะให้ตกอยู่ในความครอบงำของคนต่างด้าว

      หลังการประกาศยึดอำนาจการปกครอง ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ไม่เพียงเป็นการ "ล้างไพ่" จัดขบวนทางการเมืองใหม่เท่านั้น แต่สิ่งที่ คปค. กำลังดำเนินควบคู่กันคือ การผลักดันกระบวนการตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่อยู่ในความเคลือบแคลงของสังคม ซึ่งเชื่อว่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น

           โดยเฉพาะการตรวจสอบการถือหุ้นในบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ซึ่งก่อนหน้าปฏิรูปการปกครองมีสิ่งบอกเหตุว่าผลตรวจสอบจะต้องยืดเยื้อออกไป กลับมีทีท่าจะรวบรัดทันใจกองเชียร์ และคาดว่าจะมีผลสรุปในเร็ววันนี้

          การตรวจสอบการถือครองหุ้นในบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด มีสาเหตุจากมีผู้ร้องเรียนว่า บริษัท กุหลาบแก้ว ไม่ใช่บริษัทสัญชาติไทย เนื่องจากผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทย ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว แม้กระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้นจะไม่อยากตรวจสอบ แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะหากไม่ตรวจสอบ ก็เท่ากับเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผิดกฎหมายอาญา จึงจำเป็นต้องสั่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งมีหน้าที่ดูแลการจดทะเบียนบริษัทเป็นผู้ตรวจสอบ 

          ผลสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นอย่างไร คงทราบกันดีแล้ว 

           การตรวจสอบการถือหุ้นในครั้งนี้ เป็นการตรวจสอบตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาแทนประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไปบ้าง แต่ยังคงเจตนารมณ์ไว้เหมือนเดิม คือ ต้องการคุ้มครองคนไทย ไม่ให้คนต่างชาติมาประกอบอาชีพแข่งกับคนไทย กฎหมายจึงห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจตามที่กำหนดไว้ ซึ่งมี 3 ระดับ คือ

      1.เป็นการห้ามขาด ในธุรกิจที่เกี่ยวกับทรัพยากรพื้นฐานของประเทศ เช่น การทำนาทำไร่ การทำป่าไม้ สมุนไพร การค้าที่ดิน และยังรวมถึงกิจการหนังสือพิมพ์ กิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ การห้ามทำธุรกิจตามบัญชีนี้ เป็นการห้ามขาด โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ยอมให้มีการขออนุญาต

            2.เป็นการห้ามที่เปิดช่องให้ขออนุญาตได้ โดยต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เช่น ธุรกิจที่กระทบถึงความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศ ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น

           3.เป็นการห้ามระดับที่ไม่เคร่งครัดมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับคนต่างด้าว ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีที่ 3 ท้ายพระราชบัญญัติ เช่น กิจการทางด้านกฎหมาย บัญชี สถาปัตยกรรม วิศวกรรม การค้าปลีกที่มีทุนขั้นต่ำน้อยกว่า 100 ล้านบาท (จึงไม่รวมถึงดิสเคาน์สโตร์ใหญ่ที่เป็นปัญหาอยู่)

          อย่างไรก็ตาม หากเป็นกิจการที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล หรือเป็นไปตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ แม้จะเป็นกิจการตามบัญชี 1 ก็สามารถทำได้

           สำหรับประเด็นสำคัญของการตรวจสอบบริษัท กุหลาบแก้ว คือ สถานะของบริษัท ว่า เป็นบริษัทไทยที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยถึงร้อยละ 51 หรือไม่

         ประเด็นที่มีการร้องเรียนกันคือ แม้ตามเอกสารจดทะเบียนจะแสดงว่า มีคนไทยถือหุ้นร้อยละ 51 แต่คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ที่เรียกกันว่า "นอมินี" หากเป็นการถือหุ้นแทนคนต่างด้าวจริง บริษัท กุหลาบแก้ว จะถือว่าเป็นบริษัทต่างด้าวตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

             โดยหลักเกณฑ์การพิจารณา "คนต่างด้าว" กำหนดไว้ในมาตรา 4 ดังนี้

1.บุคคลธรรมดาทั่วไป ที่ไม่มีสัญชาติไทย

2.นิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือเป็นมูลนิธิ สมาคมใดๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย

3.นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย แต่มีผู้ถือหุ้นที่ไม่ใช่คนไทย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ถือหุ้นมีมูลค่าตั้งแต่กึ่งหนึ่งของทุน หมายถึงว่า ถ้าต่างชาติถือหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นนิติบุคคลต่างด้าว จึงเป็นที่มาของการเลี่ยงกฎหมายโดยจัดสัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติกับคนไทย ให้เป็น 49 : 51 เพื่อจะได้สามารถประกอบกิจการใดๆ ก็ได้ เหมือนเป็นคนไทย

4.นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทยแต่มีลักษณะตามข้อ 3 คือมีคนต่างด้าวถือหุ้นตั้งแต่กึ่งหนึ่งขึ้นไป

             หากบริษัท กุหลาบแก้ว เป็นไปตามผลสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่เห็นว่า เป็นนิติบุคคลต่างด้าว จะมีผลทำให้บริษัท ซีดาร์โฮลดิ้ง เป็นนิติบุคคลต่างด้าวไปด้วย ตามข้อ 4  เพราะเท่ากับซีดาร์ มีสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวมากกว่า 50% และเมื่อซีดาร์โฮลดิ้ง ไปถือหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ต้องนับหุ้นเป็นส่วนของต่างด้าว ก็จะทำให้ชินคอร์ป เป็นนิติบุคคลต่างด้าวไปอีก

       ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา เพราะแม้ชินคอร์ปจะไม่ใช่เจ้าของสัมปทานคลื่นโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ แต่เมื่อชินคอร์ปไปถือหุ้นในเอไอเอสหรือไอทีวี จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวมากกว่า 50% ผลก็คือ กิจการของ เอไอเอส ก็ดี ของ ไอทีวี หรือเอไอเอส เป็นธุรกิจที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว

           หากชินคอร์ปเป็นนิติบุคคลต่างด้าว แล้ว ผลคืออะไร.....

         ประการแรก ทั้งเอไอเอส และไอทีวี ซึ่งกลายเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ย่อมไม่มีสิทธิประกอบกิจการที่ทำอยู่ รัฐต้องยึดสัมปทานคืน

          ประการที่สอง ผู้ที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวที่ต้นทางคือ ที่บริษัท กุหลาบแก้ว จะมีความผิดตามมาตรา 36 ที่ให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยที่คนต่างด้าวไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงหนึ่งล้านบาท และเป็นความผิดทั้งคนไทยที่ไปถือหุ้นแทน และคนต่างด้าวที่ยอมให้คนไทยถือหุ้นแทน

             สำหรับการได้มาของ ผลการตรวจสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่สรุปว่า คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว บริษัท กุหลาบแก้ว จึงเป็นนิติบุคคลต่างด้าว คือมีการตรวจพบว่า แหล่งเงินที่มาลงทุนเป็นเงินของคนต่างด้าว รวมทั้งอำนาจการบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจการสั่งจ่ายเงิน เป็นของคนต่างด้าวทั้งหมด

            นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นคนไทยกลับมีสิทธิออกเสียงน้อยกว่าคนต่างด้าว รับเงินปันผลน้อยกว่าคนต่างด้าว ซึ่งเป็นการผิดวิสัยของผู้ลงทุนโดยทั่วไป

           ถ้าได้อ่านผลการตรวจสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว คงไม่มีใครเชื่อว่าคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในบริษัท กุหลาบแก้ว

         อย่างไรก็ตาม การจัดโครงสร้างเพื่อเลี่ยงกฎหมายของบริษัท กุหลาบแก้ว เป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่นิยมทำกัน

         แต่มิได้หมายความว่ามีเพียงวิธีการเดียวเท่านั้น!!

        ฉะนั้น การร้องให้ตรวจสอบอีก 16 บริษัท ที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว อาจจะพบความแยบยลในการหลบเลี่ยงที่ไม่เหมือนกับของบริษัท กุหลาบแก้วก็ได้ 

    หากมีการตรวจสอบการถือหุ้นอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับบริษัท กุหลาบแก้ว ก็น่าจะพบบริษัทไทยเทียมอีกเป็นจำนวนมาก ผลที่จะตามก็คือ อาจเกิดความปั่นป่วนในการลงทุนจากต่างประเทศ และมีเสียงขู่ออกมาบ้างแล้ว ว่าจะกระทบการลงทุน

          ปัญหานี้อาจเป็นทางสองแพร่งที่ต้องตัดสินใจ 

         เพราะหากยอมรับความจริงว่า มีการหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่าง เช่นเดียวกับบริษัท กุหลาบแก้ว รัฐบาลก็จะต้องดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย แม้จะกระทบกับการลงทุนก็ตาม เพราะหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ก็เท่ากับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

         แต่หากรัฐบาลเห็นว่า ต้องการการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าการคุ้มครองคนไทย หรือเห็นว่า คนไทยเรามีศักยภาพที่จะแข่งขันกับคนทั่วโลกได้ รัฐบาลก็ต้องยกเลิกกฎเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวดังกล่าว ไม่ใช่ปล่อยให้มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายกันจนเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนทำกัน 

           กรณีการตรวจสอบบริษัท กุหลาบแก้ว อาจเกิดจากวัตถุประสงค์บางอย่าง กับคน "บางคน" แต่น่าจะถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะทบทวนนโยบายการลงทุนของประเทศว่า เราต้องการอะไร

          เป็นอีกปัญหาหนึ่งรัฐบาลชุดต่อไปต้องตัดสินใจ
 --------------------------------------------------------

โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ มติชน วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10425 หน้า 20

หมายเลขบันทึก: 51830เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 01:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กราบเรียนอาจารย์ครับ

ปัจจุบันประเทศไทยและรวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในโลก ได้พยายามเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ  เพื่อให้เกิดมีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้าสำหรับกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเ?ศ  จึงได้มีการทำสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศมากมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนในประเทศคู่สัญญา ดังเช่น  การเจรจาการค้าเสรี เป็นต้น

แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีหน้าที่ต้องปกป้องผลประโยชน์อันเป็นสมบัติของชาติและปกป้องผลประโยชน์ของคนไทยด้วยจึงทำให้ต้องมีกฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในบางสาขา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ธุรกิจในบัญชี 1  

เราคงไม่สามารถต้านกระแสของการลงทุนข้ามชาติที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมากมายในขณะนี้  แต่ปััญหาที่ว่าเราจะหาจุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทั้งสองด้านได้อย่างไรจึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ซึ่งผมเห็นว่า  หากประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในกิจการบางอย่าง  เช่น ในด้านโทรคมนาคม  ก็น่าที่จะทำได้  เพียงแต่จะต้องกฎเกณฑ์ที่รัดกุมเพยงพอ และเพื่อให้ประเทศชาติได้รับผลประโยชน์สูงที่สุด

ศูนย์ข่าวแบซิฟิก วันที่ 02/10/2549 15:23:40     
  *ก.พาณิชย์ ส่งตำรวจดำเนินคดี "กุหลาบแก้ว" นอมินี "ชิน คอร์ป"*   

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ส่งผลการตรวจสอบ กรณีบริษัทกุหลาบแก้ว ให้กับตำรวจเพื่อทำการสอบสวนต่อไป นายดุสิต อุชุพงศ์อมร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ได้ส่งผลตรวจสอบการถือหุ้นแทน(นอมินี)ในบริษัทชิน คอร์เปอร์เรชั่น ของบริษัท กุหลาบแก้ว ให้กับตำรวจ สถานีตำรวจนครบาล ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเป็นสถานีตำรวจท้องที่ ที่บริษัทตั้งอยู่ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พร้อม ส่งหลักฐานเบื้องต้นที่ตรวจพบข้อสงสัยบางประการ โดยเฉพาะเส้นทางการเงินของบริษัทกุหลาบแก้ว ในกรณีที่เข้าถือหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) ซึ่งเห็นว่า อาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 36 ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
โดยมาตรา 36 มีเนื้อหาระบุถึง การห้ามผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลไทย ถือหุ้นแทน หรือร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว ในธุรกิจที่คนต่างด้าวมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการสอบสวน และหากพบว่ามีมูลความผิด ก็จะส่งให้อัยการพิจารณาเพื่อสั่งฟ้องต่อไป ก่อนหน้านี้ มีผู้ร้องเรียนให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบผู้ถือหุ้นในบริษัท กุหลาบแก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น เพื่อดูว่า กุหลาบแก้วมีผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติและเข้าข่ายเป็นการเข้าถือหุ้นแทนหรือไม่ ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำการตรวจสอบและสรุปผลออกมาแล้ว /15.23.164R

 ผู้สื่อข่าว ..... บุษบง บุษปวณิช  

มติชน วันที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10433
ผลสอบ"กุหลาบแก้ว"ถึงมือตร.แล้ว


ชี้มูล"นอมินี"ผิดกม.ธุรกิจต่างด้าว แจงเส้นทางเงินแหล่งทุนเทมาเส็ก

กรมพัฒนาธุรกิจฯส่งผลสอบคดีกุหลาบแก้วถึงมือตำรวจแล้ว ยันมูลความผิดมาตรา 36 พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ระบุ 4 บริษัท โยงใยซื้อหุ้นชินคอร์ปมีที่ตั้งสำนักงานแห่งเดียวกัน ขณะที่สาวเส้นทางเงินพบแหล่งที่มาบริษัทฟูลเลอร์ตันฯในกลุ่มเทมาเส็ก

นายดุสิต อุชุพงศ์อมร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และรักษาการอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา กรมได้จัดส่งผลสรุปการตรวจสอบการถือหุ้นแทน (นอมินี) ของบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด และข้อเสนอเพิ่มเติมของคณะทำงานพิจารณาและกำกับการตรวจสอบการถือหุ้นและการกระทำอื่นที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในการซื้อขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ที่มีนายยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเป็นท้องที่ตั้งของบริษัทกุหลาบแก้ว เพื่อดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ ตามผลสรุปของกรมเห็นว่ามีมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีความผิดตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542

"การพิจารณาเรายึดหลักเส้นทางการเงินของบุคคลและบริษัทนั้น พบว่ามีแหล่งที่มาต่างกันแต่มาจากต่างประเทศทั้งหมด เข้าข่ายความผิดในมาตรา 36" นายดุสิตกล่าว

ทั้งนี้ บริษัท กุหลาบแก้ว เข้าไปเกี่ยวข้องกับชินคอร์ป ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และซีดาร์ฯได้เข้าไปซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ร่วมกับบริษัท แอสเพน โฮลดิ้ง จำกัด โดยมีการร้องเรียนว่าบริษัท กุหลาบแก้ว อาจมีคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวทำให้มีฐานะเป็นบริษัทคนไทย และทำให้ซีดาร์ฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในชินคอร์ปเป็นนิติบุคคลไทยด้วย

สำหรับมาตรา 36 ระบุว่า ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามกฎหมาย ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือร่วมประกอบธุรกิจของต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตนแต่ผู้เดียว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดหรือนิติบุคคลใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งคนต่างด้าวซึ่งยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวตามพระราชบัญญัตินี้กระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งให้เลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนนั้นเสีย แล้วแต่กรณี

หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละ 10,000-50,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการสอบกรณีการถือหุ้นแทน (นอมินี) ของบริษัท กุหลาบแก้ว ที่เข้าไปซื้อหุ้นชินคอร์ป กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้สรุปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 พบว่าเส้นทางเงินของผู้ถือหุ้นในบริษัท กุหลาบแก้ว อาจจะเป็นเงินของบริษัทต่างด้าวและผู้ถือหุ้นบางคนน่าเชื่อว่าจะเป็นนอมินีของต่างด้าว โดยเฉพาะกองทุนเทมาเส็ก จากสิงคโปร์ โดยผลการสอบสวนในเบื้องต้น พบว่า 4 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการซื้อหุ้นชินคอร์ป คือ บริษัท กุหลาบแก้ว บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ มีสำนักงานตั้งอยู่ในที่เดียวกันคือเลขที่ 21/125-128 อาคารไทยวา ทาวเวอร์ 2 ชั้น 17 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ

ส่วนเส้นทางของเงิน พบว่า หลักฐานการชำระเงินค่าหุ้นของบริษัท กุหลาบแก้ว จำนวน 131,540,000 บาท เป็นเงินที่โอนมาจากบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 111-3-06044-0 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสำนักรัชโยธิน ของบริษัท ไซเพรสฯ และรายการบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 111-3-06044-0 ของบริษัท ไซเพรสฯ มียอดเงิน 32,860,000 บาท (ซึ่งเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินที่นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ กู้ไปจากธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อไปชำระค่าหุ้นในบริษัท กุหลาบแก้ว) โอนไปเข้าบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 111-2-74724-3 ธนาคารสาขาเดียวกันของบริษัท ไซเพรสฯ

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ให้นายศุภเดชกู้เงินเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2549 จำนวน 32,860,000 บาท โดยจำนำสิทธิบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 111-2-74724-3 ของบริษัท ไซเพรสฯ และค้ำประกันเงินกู้โดยบริษัท ไซเพรสฯ โดยนายศุภเดชชี้แจงว่า เงินค่าหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นเงินส่วนตัว โดยกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และต้องชำระเงินกู้คืนภายใน 5 ปี

ต่อมาภายหลังนายศุภเดชมีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมว่าตัวเองไม่ทราบว่าเงินกู้ดังกล่าวมีบริษัท ไซเพรสฯเข้าค้ำประกัน และตนเองได้ชำระเงินกู้คืนไปทั้งหมดแล้ว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2549

ส่วนนายพงส์ สารสิน ชี้แจงว่า ซื้อหุ้นจากนายสมยศ สุธีรพรชัย ทนายความของบริษัท ไซเพรสฯ จำนวน 3,000 หุ้น และชำระค่าหุ้นเป็นเงินสด ต่อมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกกว่า 50 ล้านบาท และชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนโดยจ่ายเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนวิทยุ ลงวันที่ 20 มกราคม 2549 จำนวน 50,933,000 บาท คืนให้แก่บริษัท ไซเพรสฯ ในวันเดียวกันที่บริษัท ไซเพรสฯ ได้ทดรองจ่ายค่าหุ้นให้ไปก่อน แต่จากการตรวจสอบพบว่าเช็คฉบับดังกล่าวได้ตัดจ่ายจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549

สำหรับเงินค่าหุ้นของนายสุรินทร์ อุปพัทธกุล หรือดะโต๊ะสุรินทร์ จำนวน 2,720,000,100 บาท พบว่าเป็นเงินโอน BAHTNET TRN, LP BKHQ 48764 จากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด ตามคำสั่งของนายสุรินทร์ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 โดยธนาคารได้รับคำสั่งโอนเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 10

มีนาคม 2549 จากชื่อบัญชี Fairmont Investments Group Inc. จดทะเบียน ตู้ ปณ. 905 โร้ด ทาวน์, ทอร์โทลา หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ไอส์แลนด์ โดยมีบริษัท กรีนแลนด์ จำกัด แต่ผู้เดียวมีอำนาจกระทำการแทนบริษัท และได้มอบอำนาจให้นายสุรินทร์เป็นผู้ดำเนินการกองทุนของบริษัท โดยธนาคาร Credit Suisse, Singapore จำนวน 70 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,730 ล้านบาท เพื่อเข้าบัญชีเลขที่ 001-446277-200 ของนายสุรินทร์ และในวันเดียวกับนายสุรินทร์ ได้สั่งโอนเงินจำนวน 2,720,000,100 บาท เข้าบัญชีบริษัท กุหลาบแก้ว เลขที่ 111-2-74644-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสำนักรัชโยธิน

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเส้นทางเงิน สรุปได้ว่าแหล่งที่มาของเงินที่เข้ามาในบัญชีของบริษัท ไซเพรสฯ และบริษัท ไซเพรสฯ โอนไปเข้าบัญชีของบริษัท กุหลาบแก้ว และเงินที่บริษัท ไซเพรสฯใช้ค้ำประกันเงินกู้ของนายศุภเดช รวมทั้งเงินที่บริษัท ไซเพรสฯจ่ายชำระค่าหุ้นในบริษัท ซีดาร์ฯ เป็นเงินโอนมาจากแหล่งเดียวกันคือ FULLERTON PRIVATE LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์

หน้า 17
หากพิจารณาตามกฎหมายก็ต้องยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ไม่ค่อยถูกต้องตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่หากพิจารณาในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากมีการลงโทษในกรณีนี้ย่อมต้องเกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก และอาจส่งผลต่อนักลงทุนต่างชาติด้วยค่ะ

ศูนย์ข่าวแปซิฟิก 

วันที่ 19/11/2549 07:41:11      
*รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางประชุมสัปดาห์นี้ วางแนวทางสอบ "กุหลาบแก้ว"*  
 

การดำเนินคดีกับบริษัท กุหลาบแก้ว ในฐานะนอมินี พล.ต.ต.วิเชียร สิงห์ปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รองผบช.ก.)เตรียมประชุมพนักงานสอบสวนคดีบริษัทกุหลาบแก้วครั้งแรกในสัปดาห์นี้ เพื่อวางแนวทางในการสอบสวน และสอบปากคำพยานเพิ่มเติมพร้อม ยืนยันว่า ตำรวจไม่เคยส่งสำนวนคดีนี้กลับไปยังกระทรวงพาณิชย์ แม้ว่า หลักฐานในสำนวนคดีที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมา เป็นเพียงเอกสารสรุปการสอบปากคำเท่านั้น ทำให้ตำรวจต้องสอบปากคำพยานเหล่านี้เพิ่มเติม ซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้เวลานาน ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) มอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี(ปศท.)เข้ามาสอบสวนกรณี บริษัทกุหลาบแก้ว แทนสน.ทุ่งมหาเมฆแล้ว เนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบผู้ถือหุ้นในบริษัท กุหลาบแก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) เพื่อดูว่า บริษัทกุหลาบแก้วมีผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติและเข้าข่ายเป็นการเข้าถือหุ้นแทน(นอมินี)หรือไม่ พร้อมทั้งส่งหลักฐานเบื้องต้นที่ตรวจพบข้อสงสัยบางประการ โดยเฉพาะเส้นทางการเงินของบริษัทกุหลาบแก้ว ในกรณีที่เข้าถือหุ้น SHIN ซึ่งเห็นว่า อาจเข้าข่ายขัดมาตรา 36 ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่ห้ามผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลไทย ถือหุ้นแทน หรือร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าวในธุรกิจที่คนต่างด้าวมิได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ/07.15/164R

  
  ผู้สื่อข่าว ..... บุษบง บุษปวณิช 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท