ส่องบาทพระคาถา ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา แห่งโอวาทปาฏิโมกข์


เดือนนี้เป็นอีกเดือนที่มีวันสำคัญทางพุทธศาสนา คือ วันมาฆะบูชาอันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสาระและแนวทางปฏิบัติกว้างๆของพุทธศาสนาแก่ภิกษุที่มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
ตามที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์

พระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ตามที่เราคุ้นเคยกันดีคือ

สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ.

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา,

ฯเปฯ

อธิจิตฺเตจ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ.

เฉพาะบาทพระคาถา ขนฺตี ปรมํ
ตโป ตีติกฺขา
นี้ มีสาระที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง พระเถระหลายท่านและพระเจ้าแผ่นดินได้แปลบาทแห่งพระคาถานี้ไว้ว่า

ตีติกขาขันติ เป็นตบะอย่างยิ่ง สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒโน)(๑)

ขันติ คือ ความทนทาน เป็นตบะ คือธรรมเป็นเครื่องแผดเผากิเลสอย่างยิ่ง สมเด็จพระญาณสังวร
(เจริญ สุวัฑฒโน(๒)

ความอด คือความทนทาน เป็นตบะธรรมเผาผลาญบาปธรรมอย่างยิ่ง สมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (๓)

ขันติคือความทนทาน เป็นตบะธรรมเผาผลาญบาปธรรมคือกองกิเลส และกองทุกข์อย่างยิ่ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (๔)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้นำคำอธิบายความหมายของคำ ขนฺติ หรือ ขนฺตี ที่พระธรรมปาละให้ไว้ มาอ้างถึงในวิทยานิพนธ์ของพระองค์ โดยความอธิบายถึงขันติมีในแง่ต่างๆมีความดังนี้

ญาณขันติ และ อธิวาสนขันติ เป็นขันติบารมี (หน้า ๑๐๐)

ขันติบารมี คือการเกิดของจิต(ความตั้งใจ) ที่จะอดทนต่อความผิดอันสัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว มีความไม่โกรธเป็นใหญ่โดยมีกรุณาและอุบายโกศลกำกับ (หน้า ๑๐๕)

โดยสรุป ..... ขันติบารมีมีลักษณะคือความข่ม มีรสคือความอดทนต่อสิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ สภาพที่ปรากฏคือความอดกลั้นหรือความไม่โกรธมีพื้นฐานคือ ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง (หน้า๑๐๖)

(สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทศบารมีในพุทธศาสนา มหามกุฎราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ ๔
พ.ศ. ๒๕๔๓)

ข้อควรพิจารณาจากการอธิบายของท่านธรรมปาละคือ ขันติ คือความความอดทนนั้น แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ ขันติในขั้นต้น เรียกว่า อธิวาสนขันติ และ ขันติในขั้นสูงที่เรียกว่า ตีติกขาขันติหรือ ญาณขันติ

อธิวาสนขันติ

เป็นความอดทนที่เป็นไปอย่างสามัญ มีความอดกลั้นเป็นลักษณะ คือ

๑. ทนตรากตรำ คือ อดทนต่อความร้อนหนาว

๒. ทนลำบาก คือ อดทนต่อทุกขเวทนาในยามเจ็บไข้ได้ป่วย

๓. ทนเจ็บใจ คือ อดทนต่อถ้อยคำจาบจ้วง

ขันตินอกจากจะมี เมตตา เป็นพื้นฐานแล้วยังต้องมี สติ เป็นธรรมที่เกื้อกูลด้วย คือระลึกได้ ไม่หลงลืมว่าควรทนต่อสิ่งนั้น เพื่อไม่ให้สิ่งนั้นๆมาครอบงำจิตใจ ซึ่งสิ่งที่จะมาครอบงำจิตใจให้ระส่ำระสายนั้นได้แก่ กองกิเลส และ กองทุกข์ ดังที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ให้คำแปลไว้

กองกิเลสนั้นคือ ราคะ ความกำหนัด ความรัก หรือ โลภะ ความอยากได้ โทสะ ความชัง โมหะ ความหลงความเขลา

ส่วนกองทุกข์ ไขความว่า ได้แก่ทุกขเวทนา ความไม่สบายกาย กระทบร้อนหนาว หรือการที่ต้องคอยบริหารร่างกายอยู่เสมอเช่น บริโภค ขับถ่าย ๑ ทุกข์เพราะถูกทำร้ายหรือเจ็บป่วย ๑ หรือทุกข์เพราะ ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นเหตุให้จิตเศร้าหมอง ๑ (หรือก็คือ ทนตรากตรำ ทนลำบาก ทนเจ็บใจนั่นเอง)และทั้งกองกิเลส และ กองทุกข์
ต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน จนทำให้เราล้วนวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ

กองทุกข์กล่าวได้ว่าเป็นกองเบญจขันธ์ ..... คือ ทุกข์อธิบายว่าทุกขเวทนา หมายตรงต่อขันติธรรม
หรือเกี่ยวข้องกับขันติธรรม เพราะขันติธรรมคือความทน หมายเอาทนต่อทุกขเวทนา กองทุกข์ที่ว่าได้แก่เบญจขันธ์ หมายความว่าเป็นผลมาแต่กิเลส ฯ แลเบญจขันธ์ก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลส ๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดเบญจขันธ์อีก คือ ต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏฏ์ร่ำไป

พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช นิพนธ์ต่างเรื่อง มหามกุฎราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๕๒ (หน้า ๑๗๘)

ตัวอย่างของทั้งกองกิเลสและกองทุกข์ที่ต่างเป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกันจึงวนเวียนเป็นวัฏฏะ เช่น

-เกิดทุกขเวทนาด้วยความเจ็บป่วยขึ้นมาแล้วเรากระวนกระวายใจ อยากหายไวๆ หรือหวังไกลไปถึงไม่อยากตาย
ก็คือทุกขเวทนานำไปสู่กิเลสคือโลภะ หรือหากเราโกรธว่าทำไมเรื่องอย่างนี้ต้องมาเกิดกับเรา ก็คือทุกขเวทนา หรือ
ทุกข์นำไปสู่โทสะ หรือเราป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่ก็หวังลมๆแล้งว่าจะหาย ไม่ยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบัน ก็คือทุกข์นำไปสู่โมหะ

-เกิดความอยากสร้างฐานะให้มั่งมีมากๆ แต่เพราะไม่สมอยาก อาการทางใจก็แสดงออกทางกาย เช่น เครียดจนเป็นโรคกระเพาะอาหาร เป็นแผลในปาก เป็นไมเกรน ความดันโลหิตสูง ซึ่งก็คือ กองกิเลสทำให้เกิดทุกขเวทนา เมื่อเกิดทุกขเวทนาแล้ว ก็อาจอยากให้หายไวๆ หรือโกรธที่ทำไมจึงเป็นโรค วนเวียนกันไป ดังนี้เป็นต้น

ตีติกขาขันติ

เป็นขันติที่ปัญญาอบรมแล้ว จิตมีโสรัจจะร่วมด้วย และเพราะปัญญาอบรมจนมีโสรัจจะแล้ว จึงทนทานต่ออารมณ์ต่างๆได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องอดกลั้นดังเช่นขันติในชั้นต้น

อธิวาสนขันตินั้น เป็นการอดทนโดยมีความอดกลั้นเป็นอาการ ผลคือ การไม่ก้าวล่วงออกมาจากใจ ไม่แสดงออกทางกาย วาจาแม้ว่าจะยังคับข้องใจอยู่

เพราะว่าหนาวร้อนมี ทุกขเวทนามี แต่อดกลั้นไว้ และความโกรธมี แต่ว่าอดกลั้นเอาไว้ในใจไม่ผลุนผลันแสดงออกไป คือว่า ไม่ปล่อยโกรธออกไปทางวาจา ทางกาย อดทนเอาไว้ในใจ เมื่อเป็นดั่งนี้ ใจก็ยังโกรธอยู่ เรียกว่า ใจไม่ปกติ

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทศบารมี ทศพิธราชธรรม มหามกุฎราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๔๔ หน้า ๑๖๙

การที่ใจจะหายโกรธ กลับมาเป็นปกติ ก็ต้องมีธรรมที่เรียกว่า โสรัจจะ มาเป็นเครื่องประดับใจ

ซึ่งโสรัจจะนี้ มักแปลตามๆกันมาว่า ความเสงี่ยม

โสรัจจะที่แปลกันว่า ความเสงี่ยม ตามศัพท์แปลว่า ความแช่มชื่นแจ่มใสอันหมายถึงพึงมีธรรมอีกข้อหนึ่งคือโสรัจจะมาเป็นเครื่องประดับใจ ทำให้แช่มชื่นให้แจ่มใส หายขุ่นมัว

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทศบารมี ทศพิธราชธรรม มหามกุฎราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๔๔ หน้า ๑๖๙

โสรัจจะนั้นมีหลายระดับ การได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าต้องใจแล้วทำให้จิตแช่มชื่น แม้จะเป็นธรรมในระดับโลกิยะ หากนำมาพิจารณาเพื่อให้จิตแช่มชื่นขึ้น ก็จัดเป็นโสรัจจะระดับหนึ่งตัวอย่างของการอดกลั้นไว้แล้วประดับใจด้วยโสรัจจะ เช่น เมื่อมีใครสักคนมาด่าว่าเราเราอดกลั้นไว้ ไม่ตอบโต้แล้วพิจารณาตั้งแต่ในแง่ของโลกิยะขึ้นไปถึงในแง่ของโลกุตตระเพื่อให้จิตแช่มชื่นขึ้น โดยอาจจะ

- พิจารณาถึงเสียงสรรเสริญ ให้เห็นว่าคนที่สรรเสริญเราเพราะเรื่องเดียวกันกับที่เราถูกด่าว่านี้ก็มี เมื่อเห็นแก่ดลกธรรมดังนี้ จิตก็แช่มชื่นขึ้น (ธรรมมี ๒ ด้านเสมอ ดังเช่นโลกธรรม ๘ นั้น แม้จะนำทุกข์มาให้ แต่ก็อาจนำมาใช้ในการพิจารณาให้คลายทุกข์ได้เช่นกัน)

- ไม่รับคำด่าว่านั้น ใจจึงยังแช่มชื่นอยู่ ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าถามพราหมณ์ที่มาด่าว่าพระองค์ว่าถ้าแขกมาแล้วพราหมณ์จัดอาหารต้อนรับแขก หากแขกไม่รับ อาหารนั้นจะตกเป็นของใคร เมื่อพราหมณ์ตอบว่าเป็นของพราหมณ์เอง ก็ทรงตรัสต่อว่า เช่นเดียวกัน พระองค์ไม่รับ คำด่านั้นก็ตกเป็นของพราหมณ์เอง

- รับคำด่านั้นเข้ามาแต่แปลงให้เป็นไปในทางตรงข้ามเพื่อยังจิตให้คงความแช่มชื่น เช่น เมื่อพราหมณ์ด่าว่า พระองค์ว่าเป็นผู้ขัดสน จนยาก ตรัสว่าทรงเป็นผู้ไม่มีทรัพย์สมบัติ ขัดสน จนยาก จริงๆ เพราะทรงละทรัพย์ อันได้แก่
รูป เสียง เป็นต้น จนหมดสิ้นแล้ว

- พิจารณาถึงเหตุปัจจัย ที่ทำให้เกิดการด่าว่าโดยโยนิโสมนสิการ จนเห็นด้วยความเป็นกลาง จนไม่เห็นความเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา จิตจึงแช่มชื่น ทนทานต่อคำด่าว่าได้โดยไม่เอนเอียง มั่นคง เพราะอบรมแล้วด้วยปัญญานั่นเอง

เหล่านี้เป็นต้น

จะเห็นว่าโสรัจจะเองก็มีหลายระดับตั้งแต่การตั้งรับในเบื้องต้นจนถึงการพิจารณาที่สูงๆขึ้นไป และเมื่อพิจารณาจนเห็นเหตุปัจจัยบ่อยๆ จิตก็จะค่อยๆทนต่อการถูกด่าว่า หรือ ทนทานต่อกิเลสต่างๆได้โดยไม่ต้องใช้ความอดกลั้นแต่อย่างใด ยังคงแช่มชื่นแจ่มใสได้อยู่ด้วยปัญญาอันเป็นลักษณะของขันติที่แท้จริง

ขันติที่แท้จริงเป็นขันติที่ให้ความเบาสบายใจ เบาสบายแก่กาย

เบาสบายแก่ใจคือใจเบิกบาน ปลอดโปร่ง ไม่บอบช้ำเศร้าหมองด้วยความเสียใจ น้อยใจ เจ็บใจ อันเกิดแต่ความไม่สมหวัง ไม่มีอาฆาตพยาบาทอันเกิดแต่ความโกรธแค้นขุ่นเคืองอย่างรุนแรง เบาสบายแก่กาย คือ จะปฏิบัติหน้าที่การงาน เข้าสังคมสมาคม ได้อย่างสบายใจ มั่นคง ไม่สะทกสะท้าน ให้ความเย็นแก่ผู้พบเห็นเกี่ยวใกล้ชิด

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด ธรรมสภา หน้า
๘๕

เพราะเหตุนี้ ขันติในระดับต้น คือ อธิวาสนขันติ เมื่อประกอบกับโสรัจจะ จึงค่อยๆพัฒนาจนยิ่งขึ้นไป เมื่อใดเห็นได้ด้วยเหตุปัจจัยอย่างแท้จริง กิเลสถูกทำให้หมดไป พัฒนาสู่ตีติกขาขันติ

เมื่อได้พิจารณาอย่างนี้แล้วจะเห็นว่าขันติแม้จะในระดับต้นถึงจะเพียงพอที่จะทำให้กิเลสดับเป็นคราวๆไปยังไม่สามารถดับได้อย่างถาวร ก็ทำให้เราแช่มชื่น พบความสุขพบนิพพานที่เห็นได้ในปัจจุบัน (สันทิฏฐิกนิพาน)ได้
และหากมีปัญญาอันเป็นโลกุตตระมาประกอบ ทำให้มีปัญญารู้เท่าทันต่อสภาพความเป็นจริงพบสันทิฏฐิกนิพพานได้มากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะพบนิพพานถาวร ก็มีได้ในที่สุด

ถ้าไม่มีขันติคือความอดทนดั่งนี้แล้วก็จะต้องแพ้อำนาจตัณหาเป็นตัณหาธิปไตยครอบงำใจ แต่ถ้าหากว่ามีขันติคือความอดทนเป็นอย่างดีแล้วก็จะเป็นธรรมาธิปไตย ธรรมเป็นใหญ่ ตัณหาทำอะไรไม่ได้ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะสามารถพบความดับ ความดับที่พบอันเป็นตัวนิพพานนี้ก็คือดับตัณหาอันเป็นความดิ้นรนทะยานอยากทางใจนี้แหละ ความดับเป็นคราวๆก็เป็นนิพพานเป็นคราวๆ เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจว่านิพานเป็นธรรมสุดเอื้อม อันนิพพานจริงๆคือดับกิเลสได้จริงๆนั้นอาจจะยังอยู่ไกลจริง แต่ว่านิพพานคือความดับกิเลสตัณหาที่บังเกิดขึ้นครอบงำใจในปัจจุบัน ขันติคือความอดทนมีอำนาจดับได้ ดับได้คราวหนึ่งๆ ทุกคนย่อมปฏิบัติได้ ทำให้ถึงได้

สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส นวกานุสาสน์ จิตตภาวนาธรรมบรรยาย มหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๓ หน้า ๑๒-๑๓

ด้วยเหตุนี้เอง ขันติ จึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่งและขันติเมื่อประกอบด้วยโสรัจจะ ถูกจัดเป็นธรรมหมวด ๒ หมวดหนึ่งที่ชื่อว่า ธรรมทำให้งาม

ซึ่ง ธรรมทำให้งามนี้ ผู้เขียนเข้าใจว่า หมายถึง ธรรมมีความงามในเบื้องต้น อันหมายถึงศีล ธรรมมีความงามในท่ามกลาง อันหมายถึงอริยมรรค และ ธรรมมีความงามในที่สุด อันหมายถึงนิพพาน เนื่องจากการอดกลั้น สำรวมกาย วาจา ไม่ให้กระทบกระทั่งผู้อื่นสามารถจัดเข้าในศีล การพิจารณาด้วยปัญญาให้เห็นสอดคล้องตามความเป็นจริงโดยมีวัตถุประสงค์คือเพื่อดับทุกข์ สามารถจัดเข้าในอริยมรรค ครั้นเมื่อพิจารณาจนเกิดโสรัจจะ ทุกข์ก็ดับ
พบสันทิฏฐิกนิพพาน สามารถจัดเข้าในนิพพานได้โดยตรง

กล่าวโดยสรุป เพราะมีเมตตา จึงมีขันติคืออธิวาสนขันติ และเพราะโสรัจจะ อธิวาสนขันติจึงพัฒนาไปสู่ติติกขาขันติ อันเป็นธรรมเผาผลาญกิเลส เพราะกิเลสถูกเผาผลาญจนหมดไปได้ ตีติกขาขันติ จึงได้ชื่อว่า ธรรมเป็นเครื่องเผาผลาญกิเลสอย่างยิ่ง


หมายเลขบันทึก: 518283เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2013 06:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

พี่ณัฐรดาเขียนบันทึกนี้ได้ตรงใจมาก ผมกำลังเริ่มสวดบทโอวาทปาฏิโมกข์นี้ทุกเช้า (จะได้จำได้โดยไม่ต้องท่อง :):))

เรื่องแปลก....ช่วงนี้ส่วนใหญผมจะไปนั่งสมาธิที่วัด "ในเมือง" แทนการไปทำวัตรเย็นที่วัด "B"  เพราะช่วงนี้ผมรู้สึกว่าต้องการทำใจให้ "สงบ" ครับ 

แต่มีอยู่วันหนึ่งหลวงปู่ บอกมาลอยๆ ขณะเรานั่งสมาธิ โดยไม่ได้ระบุถึงใครว่า "คนที่มาปฏิบัติอยู่แล้ว ก็ปฏิบัติที่บ้านได้ คนมาใหม่จะได้มีที่....." (อะไรทำนองนี้) เพราะระยะหลังๆมานี้ คนมานั่งสมาธิที่กุฏิมากขึ้น ทำให้บางวันที่เกือบไม่พอนั่ง และเวลาคนเข้ามา ก็ไม่พร้อมกันเป็นเวลา เป็นที่มาของการรบกวน คนที่กำลังสมาธิอยู่ บางวัน "ผู้คุมกฎ" ของวัดถึงกับต้องเอ่ยปากว่า เช่น ไม่ควรเอาโทรศัพท์ หรือรับโทรศัพท์ หรือถ้าป่วยอยู่ ไอ ก็ไม่ควรมา ฯลฯ

ทำให้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเริ่ม มาปฏิบัติเองที่ห้องบ้าง ไปวัดบ้าง วันพระที่แล้วผมก็เลยได้ไปวัด B 

หลวงพี่ก็พาสวดบท โอวาทปาฏิโมกข์ ปกติผมก็สวดไปไม่ได้เข้าใจอะไรมากมาย

พอมาอ่าน "กุญแจภาวนา" หลวงพ่อชา ท่านกล่าวถึง

สพฺพปาปสฺส อกรณํ    กุสลสฺสูปสมฺปทา

สจิตฺตปริโยทปนํ    เอตํ พุทฺธานสาสนํ.   

ผมนึกในใจว่าทำไมถึงคุ้นจัง......  ก็เลยมาเปิดดูบทสวดมนต์ นั้นไง  บทโอวาทปาฏิโมกข์ ที่สวดประจำนี้เอง....

ผมเองไม่รู้ว่า ความหมายบทนี้นั้น จะสื่อถึงอะไรกันแน่  มาเข้าใจมากก็ตอนนี้เอง

มาประกอบกับที่พี่มาขยายความต่อ.......  โอ้โห้ แจ่มแจ้ง....

ขอบคุณครับ.....:):)

แถมครับ (สำหรับ 101 และสหายทุกท่าน)

หลักธรรม 3 ประการที่ถือเป็น หัวใจของพุทธศาสนา คือ

สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง

กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ

เอตัง พุทธานะสาสะนัง ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.


เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ (หรือ โอวาทปาฏิโมกข์) โดย พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม โอวาทปาติโมกข์ ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ซึ่งเป็นวันที่เกิด จาตุรงคสันนิบาต คือการประชุมอันประกอบด้วยองค์ ๔ นั่นคือ
๑. พระสงฆ์ ๑๒๕๐ รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
๒. พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
๓. พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับ เอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระพุทธเจ้าบวชให้)
๔. ตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะ (เดือน ๓) ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา โอวาทปาติโมกข์ ดังนี้

มาจาก http://dhamma.vayoclub.com/index.php?topic=436.0



ขออนุญาตเจ้าของกระทู้นำไปพิมพ์เผยแพร่ แจกจ่ายเพื่อเป็นธรรมทาน นะคะ


เรียน อ.วิชญธรรม

ขอบพระคุณที่มาเยี่ยมกันค่ะ อนุโมทนากับการศึกษาของอาจารย์ด้วยค่ะ

เรียน คุณทะเลใจ

ด้วยความยินดีและขอบคุณค่ะ อยากเรียนให้แวะชมที่บันทึกนี้ หลากเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆะบูชาหลากเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆะบูชา ด้วยค่ะ

พี่ ณัฐรดา ครับ ผมชอบรูปวาดประกอบครับ น่ารักมาก ;)...

อ. Wasawat Deeman คะ

ภาพวาดเหล่านี้ลูกสาววาดให้ค่ะ เล่าเรื่องให้เค้าฟัง เค้าก็วาดออกมาเป็นรูปเหล่่านี้ค่ะ

ขอบคุณสำหรับความเห็นค่ะ

สวัสดีครับพี่ณัฐรดา

ขอบคุณสิ่งดีดีที่นำมากระตุ้นเตือนครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท