วาทะคานธี



วาทะคานธี

ข้อคิดของมหาตม คานธี มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียด้วยวิธีอหิงสา ในวาระ และโอกาสต่างๆที่สะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อสภาพความเป็นอยู่ของคนทั้งในแบบแสวงหาความสุขที่แท้จริงเฉพาะตนและต่อสังคมเป็นส่วนรวม ด้วยแนวคิดของท่านที่ทันสมัย กว้างไกล รอบด้าน สามารถปรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของคนและเพื่อความดำรงอยู่ของสังคมโดยรวมอย่างมีความสุขที่แท้จริงและยั่งยืนได้แม้กระทั่งปัจจุบัน

“การมองเห็นสุขเป็นสุขนั้นแหละทุกข์ ความสุขที่แท้จริงเกิดจากความทุกข์ ตัวเราเองเป็นต้นเหตุแห่งความสุขและความทุกข์ของเราเอง”  นี่คือวาทะของท่านมหาตม คานธี

ท่านมหาตม  คานธี  กล่าวว่า

“ ตราบใดที่แม้แต่มนุษย์คนเดียว  ต้องหิวโหย เพราะไม่มีงานทำ ตราบนั้นเราจะรับประทานอาหารอย่างมีความสุขได้อย่างไร จะไปเหยียดหยามคนที่ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ด้วยการให้เสื้อผ้าแก่เขาทำไม จงให้ งานเขาทำ เพื่อที่เขาจะได้หาเงินมาซื้อเสื้อผ้าด้วยหยาดเหงื่อของเขาเอง เป็นการบาปที่จะหาอาหารให้คนที่มีแรงทำงานได้กินฟรีหางานให้เขาทำสิ ได้ชื่อว่าเป็นบุญ”

ในหนังสือเล่มนี้  แสดงให้เห็นว่าท่านมหาตม คานธีเป็นคนมีจิตใจกว้าง ไม่ลุ่มหลงอยู่แต่ศาสนาของตนเองศาสนาเดียวแล้วปฏิเสธคำสอนดีๆ ในศาสนาอื่น  ท่านได้กล่าวว่า

“ความจริงนั้นก็มีมากเท่าๆกับมีคนเหมือนกัน แต่เมื่อเข้าถึงแก่นของศาสนาแล้วเราจะพบว่า ศาสนามีหนึ่งเท่านั้นเองท่านมหาตม จึงชอบหยิบยกคำสอนดีๆในศาสนาอื่นมาอ้างด้วยความคาระวะเสมอ อย่างเช่น เราไม่ควรจะสร้างความพอใจให้แก่กิเลสตัณหา  เมื่อใดที่ได้ลงมือสร้างความพอใจให้แก่กิเลสตัณหาแล้วเมื่อนั้นก็เป็นการยากที่จะเหนี่ยวรั้งกิเลสตัณหาไว้ได้โดยทั่วไปแล้วเรามักจะเหนี่ยวรั้ง (กิเลสตัณหา)ไว้ไม่ได้เลย”

หรือที่ว่า

 “ ศาสนามิใช่สิ่งซึ่งแยกอยู่ต่างหากจากชีวิตชีวิตนั่นแหละคือศาสนา ชีวิตที่ไม่มีศาสนาหาใช่ชีวิตของคนไม่หากเป็นชีวิตของเดรัจฉาน”  หรือว่า “ นายจัมเชศ  เมหตา  ได้ส่งบทสวดมนต์ของนักบุญแห่งฟรานซิสแห่งอัสสิสิ มาให้ข้าพเจ้า  บทสวดนั้นมีความตอนหนึ่งว่า...  ข้าแต่พระอาจารย์  ด้วยการให้เท่านั้นที่เราจะได้รับและด้วยการตายเท่านั้นที่เราจะได้ไปเกิดในชีวิตอันนิรันดร์”

หรือที่ว่า 

 “ ในยามที่เกิดความผันผวนขึ้นในอารมณ์ เช่นนี้ก็ขอให้เราระลึกไว้เสมอว่า  การกระทบกันระหว่างอินทรีย์กับวัตถุซื่งก่อให้เกิดอารมณ์นั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่จีรังยั่งยืนเพราะฉะนั้นจงตั้งตนอยู่ในอุเบกขาธรรมเถิด”

นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังได้สะท้อนถึงแนวคิดของท่านมหาตมา คานธี ว่าท่านได้ให้ความสำคัญต่อความจริง หรือความสัตย์ โดยท่านได้กล่าวว่า

“ตราบใดที่เรายังไม่เป็นอิสระจากความเคยชินที่ไม่ดี ตราบนั้นเราจะก้าวไปบนมรรคาแห่งความจริงไม่ได้ อันที่จริงแล้วเราต้องเสียสละทุกอย่างไว้บนแท่นบูชาแห่งความจริงเราไม่ต้องการแสดงตัวเราออกมาให้ปรากฎตามความเป็นจริง แต่เราต้องการจะแสดงว่าตัวเราดีกว่านั้นมาก จะเป็นการดีสักเพียงใดถ้าหากเราต่ำต้อยแต่ถ้าเราต้องการจะขึ้นสูงเราก็ควรจะคิดและกระทำในระดับที่สูง หากทำเช่นนี้ไม่ได้เราก็ควรแสดงตัวของเราตามความเป็นจริง  แล้วสักวันหนึ่งเราอาจจะบรรลุเป้าหมายอันสูงส่งได้สมความปรารถนา”

หรืออีกวาทะหนึ่งว่า

“พระเป็นเจ้านั้นมีพระนามอยู่มากมาย แต่จะให้เลือกสักพระนามหนึ่งก็เห็นจะได้แก่ สัตย์  คือความจริง ดังนั้น ความจริงก็คือ พระเป็นเจ้านั่นเอง”

ในด้านปรัชญาหรือแนวทางการครองตนหรือการดำรงตนในสังคมหรือการปฏิบัติงานอย่างมีสติท่านได้มีวาทะว่า

“การเกิดและการตายมิใช่เป็นทั้งสองด้านของเหรียญอันเดียวกันดอกหรือ ด้านหนึ่งคือการเกิดและอีกด้านหนึ่งคือการตายเพราะฉะนั้นจะไปทุกข์หรือสุขทำไมกับการจะตายหรือจะเกิด ผู้ที่สามารถควบคุมตนเองหรือที่ทำงานได้มากที่สุด มักจะเป็นผู้ที่พูดน้อยที่สุด การพูดกับการกระทำมักจะไม่ไปด้วยกัน จงดูธรรมชาติเถิด ธรรมชาติทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดเลยแม้สักชั่วขณะหนึ่ง แต่ธรรมชาติก็ไม่พูดเลย อหังการย่อมทำลายมนุษย์โดยสิ้นเชิง ความจริงข้อนี้ทุกคนตระหนักได้ทุกขณะ ตรงกันข้าม ความอ่อนน้อมถ่อมตนช่วยให้มนุษย์เจริญเติบโตและบรรลุความสมบูรณ์เสมอ คิดดีเป็นเรื่องหนึ่ง แต่กระทำดีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องสำคัญแต่ถ้าอยู่นอกประเด็น ก็หมดความสำคัญไป เรื่องที่อยู่ในประเด็น แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็มีความสำคัญมาก คนอื่นเท่านั้นดอกที่จะมองเห็นหลังของเราได้ ตัวเราเองย่อมมองไม่เห็น ฉันใด ความผิดของเราเอง เราก็ย่อมมองไม่เห็น ฉันนั้น ถ้าเรามัวแต่คิดถึงความมากมายใหญ่โตของการงาน เราจะเกิดความสับสนและทำอะไรไม่ได้เลย ตรงกันข้าม หากเราจับงานขึ้นมาทำทันที แม้ใหญ่เท่าภูเขา งานก็จะค่อยลดน้อยลงทุกวันๆ แล้วในที่สุดก็สำเร็จลงได้”

และที่สำคัญมหาตม คานธี ได้กล่าวถึงบาป 7 ประการในทรรศนะของท่านคือ

เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ

หาความสำราญโดยไม่ยั้งคิด

ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน

มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี

ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลหลักธรรม

วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์

บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ

ท่านมหาตมะยังให้ทรรศนะเกี่ยวกับการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ว่า

“ใช้ชีวิตให้เสมือนว่าพรุ่งนี้ท่านจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว เรียนรู้ให้เสมือนว่าท่านจะอยู่ในโลกนี้ตลอดไปไม่มีวันสิ้นสุด” 

ซึ่งมีค่าสำหรับการดำรงชีวิตและใช้เวลาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยสอดคล้องกับแนวทางปัจจุบันในเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้

  สามารถนำมาเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตอย่างมีสาระได้เป็นอย่างดี วาทะ คำคมแง่คิด ที่หยิบยกมาเป็นเพียงบางส่วนที่ผู้สรุปมีความเห็นว่าน่าจะเป็นตัวอย่างแกผู้ที่สนใจ

จากหนังสือ : วาทะคานธี  โดยกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย

สรุปเนื้อหาโดย : สิบตำรวจตรีอุดมศักดิ์  กาญจนหิรัญ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน นครศรีธรรมราช สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน  กระทรวงมหาดไทย

ขอได้รับการคารวะ



หมายเลขบันทึก: 518261เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2013 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2013 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท