การเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี บทที่สาม การเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐาน


     สองบทก่อนได้กล่าวถึงเรื่องการเรียนซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้เรียน มีการกล่าวถึงบทบาทของผู้สอนหรือครูอยู่บ้าง เช่น การให้คำแนะนำของครูภาษาอังกฤษของผม และเรื่องข้อสอบที่ดี เป็นต้น บทบาทหลักของครูคือเรื่องการจัดการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน การเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐาน (Team-based learning ย่อว่า TBL) เป็นวิธีจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของการเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี และหลักจิตวิทยาการเรียนรู้

 

การเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐาน คืออะไร

     เมื่อประมาณยี่สิบปีมาแล้ว Professor Larry K. Michaelsen สอนวิชาบริหารจัดการอยู่ที่ Oklahoma Business School นักศึกษาในชั้นเรียนประมาณ 40 คน การสอนใช้วิธีบรรยายประกอบการถามตอบกับนักศึกษา (Socratic discussion) ต่อมาจำนวนนักศึกษาเพิ่มเป็น 120 คน ไม่อาจสอนด้วยวิธีเดิมได้ จึงคิดหาวิธีใหม่ให้ได้ผลดีเหมือนเดิม พบว่าเมื่อใช้ TBL ไม่แค่ดีเท่าเดิม แต่ดีกว่าเดิมในหลายๆด้าน 

     ด้วยความบังเอิญที่ลูกชายของ Professor Michaelsen เป็นนักศึกษาแพทย์ ได้นำเรื่องวิธีการสอนของพ่อไปเล่าให้อาจารย์ที่โรงเรียนแพทย์ฟัง Professor Michaelsen จึงได้รับเชิญให้ไปนำเสนอวิธีการสอนแบบ TBL นี้ ต่อมามีผู้สนใจนำไปใช้แพร่หลาย จากข้อมูลเมื่อห้าปีก่อนมีโรงเรียนแพทย์ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 77 แห่งใช้วิธีนี้ รวมทั้งโรงเรียนพยาบาลและวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาอื่นๆด้วย วิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ก็นำไปใช้ เข้าใจว่าการที่โรงเรียนแพทย์สนใจ TBL เป็นพิเศษเนื่องมาจากโรงเรียนแพทย์จำนวนมากใช้ Problem-based learning (PBL) อยู่ก่อนและมีข้อขัดข้องบางประการกับ PBL (รวมทั้งตัวผมด้วย) พบว่าข้อขัดข้องเหล่านั้นหมดไปได้ด้วย TBL

     เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้วคณะกรรมการอุดมศึกษาได้เชิญ Professor Michaelsen ให้มาจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง TBL ในประเทศไทย แต่ผลเป็นอย่างไรไม่ทราบ เนื่องจากข้อมูลเรื่องนี้ทางอินเตอร์เนตมีไม่มาก  


วิธีจัดการเรียนการสอนแบบ TBL

1.  ก่อนถึงกำหนดเข้าห้องเรียน นักศึกษาต้องศึกษาเนื้อหาสาระวิชาที่อาจารย์กำหนดให้ เป็นส่วนหนึ่งของตำราหรือเอกสารอื่นๆประมาณ 30-50 หน้า

2.  ใช้ห้องบรรยายเป็นห้องเรียน แต่แบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มย่อย โดยนักศึกษาแถวหน้าสามคนหันหลังไปรวมกับนักศึกษาแถวหลังที่อยู่ตรงกันสามคนเป็นกลุ่มย่อย (เป็นกลุ่มถาวรตลอดเทอม) อาจารย์ท่านเดียวจึงสามารถสอนนักศึกษาได้ 120 คนหรือมากกว่า

3.  การเรียนการสอนในห้องเรียนจะใช้กลุ่มย่อยเป็นหลัก (เมื่อทำงานร่วมกันประมาณครึ่งเทอมความเป็นทีมที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้น) หรือทีมเป็นฐานของการเรียนรู้ และวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ยกระดับจากจำได้ เข้าใจ ขึ้นไปสู่ระดับการนำความรู้ไปใช้ (Application) ดังนั้นกิจกรรมสำคัญในห้องเรียนคือ นักศึกษาทำงานเป็นทีมเพื่อแก้โจทย์ปัญหาที่อาจารย์กำหนดให้ โดยอาศัยความรู้จากเนื้อหาวิชาที่ได้เตรียมความพร้อมมาล่วงหน้าแล้ว

4.  กิจกรรมแรกของนักศึกษาเมื่อเข้าห้องเรียนคือ ทำแบบทดสอบความพร้อมรายบุคคล เป็นคำถามแบบปรนัย 15-20 ข้อ (ที่อาจารย์เตรียมจาก Key concepts ของเนื้อหาวิชาที่กำหนดให้นักศึกษาอ่าน ซึ่งก็คือ เรื่องที่สมควรรู้ นั่นเอง)  

5.  นักศึกษาส่งกระดาษคำตอบแบบทดสอบ ซึ่งจะมีการเก็บคะแนนสะสมเป็นรายบุคคล (เป็นกลไกที่ทำให้นักศึกษาจำต้องอ่านเนื้อหาวิชามาก่อน และเข้าเรียนตรงเวลาด้วย) อาจารย์ (หรือผู้ช่วย) นำกระดาษคำตอบไปตรวจ และวิเคราะห์หาข้อที่นักศึกษาตอบผิดกันหลายคนจนผิดสังเกต (เพื่อนำมากำหนดเรื่องที่จะบรรยายเพิ่มเติมในข้อ 8)

6.  นักศึกษาเข้ากลุ่ม เพื่อทำแบบทดสอบความพร้อมของทีม ซึ่งก็คือแบบทดสอบชุดเดิม โดยใช้กระดาษคำตอบใหม่ทีมละใบ เก็บคะแนนเป็นทีม ทุกคนในทีมเดียวกันได้คะแนนเท่ากัน ตามสถิติคะแนนทีมจะสูงกว่าคะแนนรายบุคคลในทีมเสมอ (99%) ใบคะแนนทีมจะนำไปปิดเปรียบเทียบกันหน้าห้อง เพื่อให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันระหว่างทีม

7.  แต่ละทีมทบทวนคำตอบของทีม ข้อใดที่ตอบผิดแต่ทีมทบทวนเนื้อหาวิชาและพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว เห็นว่าน่าจะเป็นคำตอบที่ถูก หรือคิดว่าความบกพร่องของข้อสอบเป็นเหตุทำให้ตอบผิด ทีมสามารถอุทธรณ์ต่ออาจารย์ได้ (เป็นการส่งเสริมให้เกิด Critical thinking และ Reasoning) อาจารย์จะนำไปพิจารณาภายหลัง หากอุทธรณ์ฟังขึ้น ทีมจะได้คะแนนเพิ่ม

8.  อาจารย์พิจารณาจากผลการวิเคราะห์คำตอบจะทราบว่า Key concepts ใดบ้างที่นักศึกษาอาจจะยังเข้าใจไม่ดีพอ อาจารย์จะนำมาขยายความให้นักศึกษาเข้าใจในรูปของ การบรรยายแบบสั้น รวมทั้งตอบข้อสงสัยของนักศึกษา   

9.  หลังจากนั้นก็จะเป็นกิจกรรมหลัก คือ การทำงานเป็นทีมเพื่อแก้โจทย์ปัญหา โดยอาศัย Key concepts จากเนื้อหาวิชาเป็นหลัก นักศึกษาอภิปรายกันในกลุ่ม และตัดสินใจเลือกคำตอบ เขียนในแบบฟอร์มคำตอบ พร้อมระบุเหตุผลประกอบ  

10.  เมื่อหมดเวลา ทุกทีมตอบพร้อมกัน ตามด้วยการนำเสนอเหตุผลของแต่ละทีม

11.  อาจารย์สรุป และทบทวน

12.  เริ่มวงจรใหม่สำหรับตอนต่อไป


กระบวนทัศน์ของ TBL ที่ต่างไปจากการเรียนการสอนทั่วไป ดังนี้

1.  วัตถุประสงค์รายวิชายกระดับจากนักศึกษา “จำได้ เข้าใจ” เป็นนักศึกษาสามารถ “นำความรู้ไปใช้”

2.  บทบาทอาจารย์เปลี่ยนจาก “ผู้รู้บนเวที” เป็น “ผู้แนะนำที่อยู่ใกล้ตัว”

3.  บทบาทนักศึกษาเปลี่ยนจาก “ผู้รับ” เป็น “ผู้ลงมือทำ”

4.  ผู้รับผิดชอบการเรียนเปลี่ยนจาก “อาจารย์” เป็น “นักศึกษา”

5.  จุดเน้นในห้องเรียนเปลี่ยนจาก “อาจารย์ถ่ายทอดแนวคิดของรายวิชาให้นักศึกษา” เป็น “นักศึกษาร่วมกันใช้ความรู้เป็นทีม”

6.  เกิดการเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม สามารถนำไปใช้เพื่อการเรียนรู้และการทำงานต่อไป


TBL ทำให้การเรียนง่ายสนุกและจำได้ดี

1.  นักศึกษามีบทบาทมากขึ้น กระตือรือร้นต่อการเรียนมากขึ้น การเรียนกลายเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานหรืออย่างน้อยก็น่าเบื่อหน่ายน้อยลง

2.  การได้ทำโจทย์แก้ปัญหา (การได้มีโอกาสคิด) ทำให้เห็นความสำคัญของเนื้อหาวิชาที่เรียน และทำให้จำได้ดีขึ้น ตรงตามหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ใน Why Don’t Students Like School? ที่ว่า จะให้เก่งต้องฝึก การได้ฝึกคิดจะทำให้นักศึกษาจำได้ และต้องรู้เนื้อหาสาระเพียงพอก่อนจึงจะฝึกทักษะการแก้ปัญหาได้ดี

3.  Key concepts ก็คือเรื่องที่สมควรรู้ ได้แก่ หนึ่งหลักการเฉพาะของวิชานั้น สองหลักการที่สัมพันธ์กับวิชาอื่น และสามหลักการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ และที่สำคัญเป็นพิเศษสำหรับนักศึกษาก็คือ เป็นเรื่องที่สมควรออกเป็นข้อสอบ  

     ผมได้แต่คิดว่า TBL น่าจะทำให้การเรียนรู้ง่ายสนุกและจำได้ดี ไม่มีโอกาสได้ใช้เอง จึงได้แต่ชักชวนคนอื่น เผื่อจะมีผู้สนใจ 

     *ท่านที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Team-based learning โปรดDownload เอกสารที่เป็น PDF file ขนาด 21 หน้า ของ Professor Michaelsen โดย Google ด้วยคำว่า Getting started with team-based learning จะได้รายละเอียดที่ครอบคลุมมากเพียงพอ (ไม่น้อยกว่าในตำราของผู้เขียนคนเดียวกัน)

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

28 มกราคม 2556


หมายเลขบันทึก: 517755เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2013 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2013 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาคารวะครูครับ ที่สอนพวกเรา แพทย์ จุฬา ด้วยความตั้งใจ เอาใจใส่ มาตลอดครับ

ขอบพระคุณค่ะ จะลองนำไปปฏิบัติดูค่ะ 

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

ในระยะห้าปีที่ผ่านมาผมมีโอกาสก็จะนำเสนอเรื่อง TBL ใน 10 คณะของ 7 มหาวิทยาลัย เท่าที่ทราบมีการตอบรับถึงระดับนำไปปฏิบัติเพียงรายเดียว โปรดดูรายงานผลการวิจัยใน Southeast Asian journal of tropical medicine and public health, 2010 May;41(3):743-53

ขอบพระคุณครับอาจารย์

ขอเรียนถามเพิ่มเติมสักเล็กน้อย

  1. เวลา mini-lectures ที่เพิ่มเติมใน key concept ที่นักศึกษายัง lack มีกำหนดไหมครับว่า จัดให้ได้ถึงกี่ชั่วโมง
  2. ข้อ 9,10, 11 ปกติจะใช้เวลารวมประมาณเท่าไรครับ

ยังมีโอกาสเอา outcome mapping ที่เรียนจากอาจารย์นำไป apply ใช้ (ไม่เต็มรูปแบบ) อยู่เนืองๆครับ


ยินดีมากครับที่สนใจ

เรื่อง mini-lecture ไม่มีกำหนดครับว่าใช้เวลาเท่าไร แต่ถ้ารู้สึกว่ามีเรื่องต้องบรรยายมากน่าจะแสดงว่ามีจุดบกพร่องเกิดขึ้น เช่น หนังสือหรือเอกสารที่ให้นักศึกษาอ่านไม่สามารถทำให้นักศึกษาเข้าใจได้ อาจารย์คงต้องปรับปรุงตำราหรือเอกสาร หรือนักศึกษาไม่ยอมอ่านมาก่อนคอยฟังอาจารย์สบายกว่า ก็ต้องทบทวนระบบแรงจูงใจ เช่น เพิ่มสัดส่วนของคะแนนเก็บของแบบทดสอบรายบุคคล เป็นต้น โดยทั่วไปข้อ 8 ไม่น่าจะเกิน 15 นาที

การทำโจทย์แก้ปัญหาน่าจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง

น่าจะให้เวลานักศึกษาแต่ละกลุ่มอธิบายประมาณกลุ่มละ 5 นาที (รวมเวลาที่อาจารย์ซักถามหรือให้ข้อสังเกตชวนคิดสั้นๆด้วย ตามหลักการการคิดทำให้จำได้)

อาจารณ์สรุปและทบทวนตาม key concepts อีกประมาณ 15 นาที

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ย่อมมีอิสระที่จะกำหนดเวลาได้ตามความจำเป็นและตามที่เห็นว่าเหมาะสม ที่ผมบังอาจแสดงเวลาให้ดูก็เพื่อให้เห็นรูปธรรม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท