เลี้ยงโคแบบพอเพียง


เศษซากของพืชในแปลงเพาะปลูกเป็นธนาคารพืชอาหารสัตว์ชั้นดี

             การปรับใช้เศษซากของพืชในแปลงเพาะปลูกเป็นธนาคารพืชอาหารสัตว์

            จากที่เคยกล่าวมาตลอดว่า เมื่อถึงฤดูแล้ง พืชอาหารสัตว์ตามธรรมชาติลดน้อยลง  ถ้าเกษตรกรไม่มีพื้นที่สำหรับทำแปลงหญ้าเต็มรูปแบบจะเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับการเลี้ยงโค แต่ถ้าหากเกษตรกรรู้จักเลือกใช้เศษซากพืชในแปลงเพาะปลูกมาเป็นอาหารโคได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก  เช่น 

             -    การนำโคเข้าไปเลี้ยงกินเศษซากพืชในแปลงปลูกก่อนในช่วงต้นฤดูแล้ง  นอกจากได้ทำลายเศษซากพืชและวัชพืชแล้ว  โคยังได้ย่ำแปลงและถ่ายมูลให้เป็นปุ๋ยในแปลง เป็นการเตรียมดินปลูกไปในตัว

             -    การปล่อยให้โคกินยอดของตอซัง  กรณีที่ปล่อยให้ต้นข้าวแทงยอดอ่อนก่อน แต่จะเหมาะกับที่นาที่มีพื้นที่จำนวนมาก  เพราะโคจะเลือกกินเฉพาะส่วนยอด  ซึ่งมีปริมาณน้อย  จำเป็นต้องมีพื้นที่จำนวนมากปริมาณของยอดตอซังจึงจะมากตาม

             -   การนำตอซังข้าวหลังเกี่ยวข้าวมาเป็นอาหารโค  กรณีเคยทำในตอนเป็นเด็กเลี้ยงวัว ควายตามบ้านนอก  ในอดีตนั้นการทำนาจะปลูกข้าวอยู่สองพันธุ์ คือ ข้าวพันธุ์เบา กับข้าวพันธุ์หนัก เพราะสภาพพื้นที่และการกักเก็บน้ำแตกต่างกันจึงต้องปลูกข้าวทั้งสองพันธุ์  กล่าวคือถ้าเป็นที่ดอนมีน้ำน้อยก็จะปลูกข้าวพันธุ์เบา  ถ้าเป็นที่ลุ่มก็จะปลูกข้าวพันธุ์หนัก  การปลูกข้าวพันธุ์เบาก็มีประโยชน์ต่อการเลี้ยงโคเป็นอย่างมากเนื่องจากในช่วงแรกของการเกี่ยวข้าวเบานั้นหญ้าซึ่งเป็นอาหารโคนั้นมีน้อย พื้นที่เลี้ยงโคก็มีน้อยเนื่องจากเก็บเกี่ยวข้าวยังไม่หมดโดยเฉพาะข้าวหนัก  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากตอชังข้าวเบาให้ได้มากที่สุด  โดยหลังจากเกี่ยวข้าวเบาแล้ว ให้รีบเกี่ยวตอซังทันทีขณะที่ยังสดอยู่ถ้ามีหญ้าและวัชพืชอยู่ในแปลงนาก็เกี่ยวรวมกันพร้อมกับตอซังมาเป็นอาหารโคได้เลย เพราะตอซังข้าวเบานั้นไม่แข็งและหยาบเกินไปและยังมีปริมาณความชื้นอยู่มาก ยิ่งถ้ามีหญ้าอ่อนและวัชพืชรวมอยู่ด้วยแล้วโคยิ่งชอบกินเป็นพิเศษ  ถ้าหากมีตอซังที่มียังความชื้นสูงและมีปริมาณมาก  พ่อก็จะแนะนำให้ตัดซังข้าวไว้มาก ๆ สำหรับตุนไว้ให้โคประมาณ 2 - 3 จนกว่าจะมีฟางข้าวมาเลี้ยงโคทดแทน  วิธีการเก็บซังข้าวไว้ให้น่ากิน ก็ทำโดยการมัดตอซังข้าวให้แน่นแล้วกองรวมกันไว้จากนั้นนำใบกล้วยทั้งก้านหรือใบไม้กิ่งไม่มาคลุมไว้แล้วทับด้วยกระสอบข้าวอีกรอบ  จะเก็บความสดของตอซังได้ 2 - 3  วัน ไว้เป็นอาหารโคได้สบาย   และถ้าหากปล่อยตอซังให้แทงยอดอ่อนแล้วเกี่ยวเฉพาะส่วนยอดมาเก็บไว้ด้วยวิธีดังกล่าวจะนำมาเป็นอาหารโคชั้นดีได้อีกทางหนึ่ง  แต่วิธีนี้จะได้ยอดตอชังน้อย  จะไม่นิยมตัดมาให้โคกิน แต่จะปล่อยให้โคแทะเล็มกินเอง เป็นการประหยัดแรงงานไปในตัว

            ดังนั้นถ้าหากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคสามารถนำเศษซากของพืชและวัชพืชในแปลงเพาะปลูกของตนเองมาปรับใช้เป็นอาหารเลี้ยงโคได้ ก็เท่ากับว่าเกษตรกรมีธนาคารอาหารสัตว์เป็นของตัวเองที่สามารถเบิกจ่ายมาเลี้ยงโคได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่ลำบาก

หมายเลขบันทึก: 51771เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2006 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณครับอาจารย์พันดา ที่หาทางออกให้กับคนเลี้ยงวัวอย่างผม

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะแลกเปลี่ยนด้วยคือ การทำหญ้าหมัก (Silage) เป็นการถนอมอาหารสัตว์ในช่วงที่หญ้าสดมีมากๆ เพื่อเก็บไว้ให้วัวกินในฤดูแล้ง จะช่วยได้อย่างดีครับ วัวเราไม่ผอมโซ แถมขายได้ด้วยต่างหากนะครับ

 ที่บ้านหนูจะผูกวัวไว้บนพื้นที่นาเลยค่ะ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเมื่อผูกวัวไว้แล้ว วัวจะเป็นตัวกำจัดวัชพืชโดยการแทะเล็มแล้ว ยังได้ปุ๋ยไม่ว่าจะเป็นมูลหรือปัสสาวะอีกด้วย

 แต่ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งก็คือนอกจากเราจะได้ปุ๋ยจากมูลวัวแล้วของแถมมากับมูลวัวก็คือเมล็ดวัชพืชด้วยนะค่ะ สังเกตดีๆจะมีหญ้าขึ้นที่มูลวัวที่ถ่ายไว้ด้วย อย่าลืมนะค่ะวัวกินทั้งใบและเมล็ดหญ้า(วัชพืช)เข้าไปด้วย

ขอบคุณค่ะอาจารย์อุทัย  เรื่องหญ้าหมักเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรแนะนำและส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีหญ้ามากๆ หมักหญ้าไว้ให้โคกินนาน ๆ เพราะคุณค่าอาหารจะสูงกว่าหญ้าแห้งและฟางเป็นอย่างมาก  แล้วจะขอศึกษาวิธีการและรายละเอียดจากท่านอาจารย์อุทัยอีกครั้งค่ะ

จริงค่ะน้องไล  มูลโคคือปุ๋ยคุรภาพชั้นยอด  แต่มักมีปัญหาในแง่ของการเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของวัชพืชชนิดใหม่ ๆ  แต่ถ้าเกษตรกรมีวิธีการจัดการที่ดีเรื่องวัชพืชจะไม่เป็นปัญหาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท