ครูตั้ว
นาย จิตติศักดิ์ ตั้วชา วัฒน์วันทนา

เรียงหน้ามารายงานตัว; นายฮ้อยทมิฬ ผลงานกลุ่มเด็กหนุ่มชาวอีสาน เมืองสว่างแดนดิน


นายฮ้อยทมิฬ

นายฮ้อยทมิฬ ชนะครองแชมป์ศึกตะกร้อพิชิตจักรวาล

 

ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๖

          ปิดฉากลงไปแล้วด้วยความประทับใจกับการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ ABU Asia-Pacific Robot Contest 2003 หรือ ABU Robocon ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ซึ่งทีมที่ชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้ได้แก่ทีมจากประเทศไทย “นายฮ้อยทมิฬ” ตัวแทนจากวิทยาลัยการอาชีพสว่างแดนดิน สกลนคร
 
          การแข่งขันครั้งนี้มีชื่อว่า “ตะกร้อพิชิตจักรวาล” (Takraw Space Conqueror) โดยนำเอาศิลปะกีฬาไทย “ตะกร้อลอดห่วง” มาประยุกต์ในการแข่งขัน ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์ ที่สามารถยิงลูกตะกร้อเข้าห่วงให้ได้ โดยแบ่งออกเป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่บังคับด้วยมือ ซึ่งจะแบ่งพื้นที่สนามออกเป็นสองพื้นที่หลัก พื้นที่รอบในจะสำหรับหุ่นยนต์อัตโนมัติ พื้นที่รอบนอกจะเป็นหุ่นยนต์ที่บังคับด้วยมือ และแต่ละห่วงจะมีคะแนนต่างกัน โดยห่วงที่อยู่ตรงกลางและสูงที่สุด จะมีคะแนนสูงสุดคือ ๕ คะแนน ห่วงที่อยู่รอบนอกสุดจะมีคะแนนต่ำที่สุดเพียง ๑ คะแนน
 
          ซึ่งการแข่งขันในรอบ ๔ ทีมสุดท้าย เวียตนามตัวเก็งแชมป์ปีนี้และแชมป์เก่าจากปีที่แล้วสามารถประดิษฐ์หุ่นยนต์อัตโนมัติได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะเพียงเริ่มการแข่งขันก็สามารถยิงลูกตะกร้อเข้าห่วงได้มากมาย และมีความแม่นยำสูง แต่ก็ไม่สามารถฝ่าด่านทีมไทย “นายฮ้อยทมิฬ” ไปได้ ทำให้ได้รับเพียงแค่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒
 
          ส่วนทีม Yuppicide จากสถาบันเทคโนโลยีพระนครเหนือก็สามารถเอาชนะทีมจากประเทศญี่ปุ่น “คิรินซัง” (Kirin-san) ไปได้อย่างสวยงาม แม้จะมีคะแนนเท่ากันคือ ๒๘ คะแนน แต่ของทีมไทยนั้นมีลูกตะกร้อครบทุกห่วง ทำให้ชนะผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศกับทีมจากนายฮ้อยทมิฬ
 
          ซึ่งการแข่งขันชิงชนะเลิศนั้น ตัวแทนจากทั้งสองสถาบันก็สามารถทำได้ดีสูสีกันมาก แต่ช่วงหลังทีมจากนายฮ้อยทมิฬเริ่มทำคะแนนทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ชนะไปด้วยคะแนนขาดลอย ๓๒ ต่อ ๒๖
 
          การแข่งขันครั้งนี้มีประเทศที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมทั้งสิ้น ๑๙ ประเทศ ได้แก่ บรูไน, จีน, อียิปต์, ฟิจิ, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, ญี่ปุ่น, คาซัคสถาน, เกาหลี, มาเลเซีย, มาเก๊า, มองโกเลีย, เนปาล, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, ตุรกี, เวียตนาม และทีมจากประเทศไทย ซึ่งส่งทั้งสิ้น ๒ ทีม ได้แก่ ทีมนายฮ้อยทมิฬจากวิทยาลัยการอาชีพสว่างแดนดินและทีม Yuppicide จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
 
          บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความคึกคัก มีผู้เข้าร่วมชมเป็นจำนวนมาก ตลอดจนตัวแทนกองเชียร์จากประเทศต่าง ๆ รวมถึงบรรดาสื่อมวลชนหลายชาติ ในขณะที่กองเชียร์ชาวไทย ก็เชียร์ด้วยมารยาทที่ดี ทำให้การจัดการแข่งขันครั้งนี้เป็นการแข่งขันที่น่าประทับใจมาก ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ได้ถ่ายทอดสด ไปยังประเทศญี่ปุ่น และมีการแพร่ภาพในประเทศที่เป็นสมาชิกของ ABU ทั่วโลกอีกด้วย
 
          สำหรับรายชื่อของทีมนายฮ้อยทมิฬที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ นั้นมีดังนี้
 
          ๑. นายธีระพงษ์ ชาติชำนิ
          ๒. นายองค์อาจ ปานเดชา
          ๓. นายสุรศักดิ์ ผ่านชมภู
          ๔. นายวีระวุฒิ คล่องแคล่ว
          ๕. นายเอกพจน์ มณีเทพ
          ๖. นายปิยะมิตร แสงชาติ
 
          ทั้งหมดกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ปวส. แผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์ ปี ๒-๓ วิทยาลัยการอาชีพสว่างแดนดิน สกลนคร
 
          นอกจากรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศแล้ว ยังมีรางวัลความคิดสร้างสรรค์ (Best Idea Award) ได้แก่ ทีมจากประเทศเวียตนาม รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม (Best Engineering Award) ได้แก่ ทีมจากประเทศจีน รางวัลศิลปยอดเยี่ยม (Best Artistic Design Award) ได้แก่ทีมจากประเทศอิหร่าน รางวัล ABU Robocon 2003 Bangkok ได้แก่ทีมจากประเทศเกาหลี และรางวัลขวัญใจผู้ชม ได้แก่ทีมกองเชียร์จากนายฮ้อยทมิฬ

คำสำคัญ (Tags): #นายฮ้อยทมิฬ
หมายเลขบันทึก: 51724เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2006 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท