ศูนย์เรียนรู้ชุมชน กับการพัฒนาชุมชน


   

     สถานการณ์ปัจจุบัน สังคมไทยโดยเฉพาะสังคมชนบท ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง  กระบวนการพัฒนาไปสู่สังคมยุคดิจิตัลหรือยุคเทคโนโลยีสารสนเทศเต็มรูปแบบ สภาพแวดล้อมเชิงภูมิสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นเสมอว่า การพัฒนาหรือการดำเนินการอะไรก็ตาม ต้องยึดหลักสำคัญคือให้สอดคล้องกับภูมิสังคมซึ่งนั่นก็คือการพัฒนาโดยยึดหลักสภาพความเป็นจริงของ "ภูมิประเทศ" ทั้งในด้านพื้นที่ดิน ด้านสังคมวิทยา ด้านลักษณะนิสัยประจำถิ่น คือ นิสัยใจคอความเคยชิน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อและหลักศาสนาเป็นต้น และการพัฒนาโดยยึดหลักภูมิสังคมนี้ ก็คือหลักสำคัญยิ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง ดังพระราชกระแสว่า "...การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศ ทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศตามสังคมวิทยา คือนิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไปช่วย โดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปช่วยดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง(http://www.haii.or.th/wiki84/index.php/)

   กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำหลักการดังกล่าวและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมามาเป็นฐานการทำงาน โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน ภายใต้ภารกิจ การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน ทั้งนี้ได้กำหนดยุทธศาสตร์  คือ สร้างสรรค์ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข เสริมสร้างขีดความสามารถการบริหารงานชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสริมสร้างธรรมาภิบาลและความมั่นคงของทุนชุมชน  และเสริมสร้างองค์กรให้มีขีดสมรรถนะสูง การเสริมสร้างขีดความสามารถการบริหารงานชุมชน โดยการส่งเสริมการบริหารจัดการความรู้ของชุมชน เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกับการพัฒนาผู้นำ การขับเคลื่อนแผนชุมชนและการจัดการข้อมูลเพื่อการพัฒนาชนบทไทย

  กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมการบริหารจัดการความรู้ คือการขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้ชุมชนให้มีศักยภาพในการจัดการองค์ความรู้ในชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนสมบูรณ์แบบ ที่สามารถเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาในชุมชนโดยมีคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ซึ่งศูนย์เรียนรู้ชุมชนได้ดำเนินการจัดตั้งขึ้นโดยชุมชน  และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากกรมการพัฒนาชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ - ปัจจุบัน เพื่อเป็นสถานที่พบปะของประชาชนในชุมชน เป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้ และนำความรู้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในครอบครัว ชุมชน และการประกอบอาชีพของชุมชน ปัจจุบัน มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนในความดูแลและรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชนทั้งสิ้น  ๙๐๔  แห่ง ใน ๗๖ จังหวัด ๘๗๘ อำเภอ

  จากการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ชุมชนที่ผ่านมาพบว่า การทำงานของคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้ชุมชนยังต้องมีการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการองค์ความรู้ของชุมชน  รวมทั้งการนำองค์ความรู้ชุมชนเหล่านั้นมาเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน โดยมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นกลไก  และเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเป้าหมายในการแก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน  ผนวกกับสถานการณ์ปัจจุบันหลายชุมชนได้รับผลกระทบจากอุทกภัย  ครั้งใหญ่ที่ส่งผลให้หลายชุมชนกว่า ๖๓ จังหวัดทั่วประเทศได้รับความเสียหาย ดังนั้นเพื่อเป็นการฟื้นฟู ป้องกัน และหามาตรการในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  กรมฯ จึงส่งเสริมให้ชุมชนบริหารจัดการองค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้ชุมชน โดยมีคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นกลไกขับเคลื่อน ในการจัดการความรู้เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติไม่เฉพาะเพียงอุทกภัยเท่านั้นแต่หากหมายรวมถึงภัยทางธรรมชาติอื่นๆที่จะมีผลต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องในชนบทในอนาคต


คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 517215เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2013 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2013 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท