ตัวอย่างการวิจัย แบบ PAR (การสร้างเครือข่าย)


องค์กรเครือข่ายชุมชนตำบลบาโงยซิแน อำเภอยะหา จังหวัดยะลา

ตัวอย่างการวิจับแบบ PAR (การสร้างองค์กรเครือข่าย)

เรื่อง

องค์กรเครือข่ายชุมชนตำบลบาโงยซิแน 

อำเภอยะหา  จังหวัดยะลา

-----------------------------

     ตำบลบาโงยซิแน  อำเภอยะหา  จังหวัดยะลา  ประชากรทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม  มีกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่หน่วยราชการจัดตั้งเอาไว้  เช่น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  กลุ่มทำนา  กลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ  กลุ่มไม้ผล สหกรณ์กองทุนสวนยาง  ชมรมกีฬาตำบล เป็นต้น  การเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นองค์กรเครือข่ายชุมชนตำบล จะทำให้มีพลังในการแก้ไขปัญหาของตำบลได้อย่างกว้างขวาง

     นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ร่วมกับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  สำนักงานเกษตรอำเภอยะหา และคณะกรรมการกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้ทำการวิจัยโดยใช้แนวทางการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกร (PAR) มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างองค์กรเครือข่ายระดับตำบล  การวิจัยมีขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม  2539 ถึงสิงหาคม 2544  รวม  5 ปี  มีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

     1.  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ร่วมวิเคราะห์ชุมชนและกลุ่มอาชีพต่างๆ พบว่า ในตำบลบาโงยซิแน มีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบาโงยซิแน เข้มแข็งที่สุด  มีการออมทรัพย์และผลิตข้าวเกรียบฟักทองออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง  มีสมาชิก  28 คน  โดยสมาชิกมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเกรียบ เดือนละ 527 บาท/คน  ผู้วิจัยจึงเลือกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดังกล่าว  เป็นแกนนำในการจัดสร้างองค์กรเครือข่าย

      2.  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  ชี้แจงแนวทางการจัดตั้งองค์กรเครือข่ายให้คณะกรรมการและสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบาโงยซิแน เข้าใจความสำคัญในการจัดตั้งองค์กรเครือข่าย  พร้อมนำคณะกรรมการไปทัศนศึกษาองค์กรเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จ

     3.  คณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เชิญคณะกรรมการองค์กรต่างๆ ในตำบล รวม  10 องค์กร ร่วมประชุมการสร้างองค์กรเครือข่าย  โดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ชี้แจงแนวทางปฏิบัติงาน

     4.  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร นำแกนนำและตัวแทนองค์กรต่างๆ ทัศนศึกษาเครือข่ายที่ประสบผลสำเร็จ

     5.  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับคณะกรรมการกลุ่มอาชีพบางคน พบปะคณะกรรมการกลุ่มอาชีพต่างๆ  รวมทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล  เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์กรเครือข่าย

     6.  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และคณะกรรมการกลุ่มอาชีพบางคน เชิญคณะกรรมการกลุ่มต่างๆ ร่วมปรึกษาหารือ การจัดตั้งองค์กรเครือข่าย  การประชุมดังกล่าวกระทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์  ในที่สุด ที่ประชุมตกลงจะจัดตั้งองค์กรเครือข่าย  ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มต่างๆ โดยวัตถุประสงค์ขององค์กรเครือข่าย เพื่อระดมเงินทุน จัดทำตลาดชุมชนในการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตร  ซึ่งเป็นที่ต้องการของสมาชิก

     7.  คณะกรรมการกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม ได้เลือกตั้งคณะกรรมการองค์กรเครือข่ายชั่วคราว  โดยเลือกตั้งประธาน  รองประธาน  กรรมการ  เลขานุการ  เพื่อทำหน้าที่ชี้แจงสมาชิกและระดมเงินทุนสร้างตลาดชุมชน

     8.  คณะกรรมการองค์กรเครือข่ายชั่วคราว วางหลักเกณฑ์การระดมเงินทุน  จัดทำแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อสร้างตลาดชุมชน

     9.  คณะกรรมการองค์กรเครือข่ายชั่วคราว เชิญคณะกรรมการกลุ่มอาชีพต่างๆ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล  ผู้นำศาสนา  ข้าราชการ  ฟังคำชี้แจงโครงการจัดตั้งตลาดชุมชน และแนวทางการดำเนินงาน  รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการจัดตั้งตลาดชุมชน  คณะกรรมการระดมเงินทุน  คณะกรรมการประชาสัมพันธ์  คณะกรรมการจัดประชุม  คณะกรรมการร่างระเบียบองค์กรเครือข่าย  โดยมีคณะกรรมการองค์กรเครือข่ายชั่วคราวประสานงานคณะกรรมการชุดต่างๆ

     10.  นักวิชาการส่งเสริมมการเกษตร  ประสานงานให้คณะกรรมการชุดต่างๆ จัดประชุมและดำเนินกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

     11.  การดำเนินงานของคณะกรรมการองค์กรเครือข่ายชั่วคราว และคณะกรรมการชุดต่างๆ มีอย่างต่อเนื่อง  จนกระทั่งได้ร่างระเบียบองค์กรเครือข่ายสำเร็จเรียบร้อย  จึงมีการเลือกตั้งคณะกรรมการองค์กรเครือข่ายถาวรขึ้น

     12.  การเลือกตั้งคณะกรรมการองค์กรเครือข่ายถาวร มีวิธีการดังนี้ กลุ่มเครือข่ายต่างๆ ส่งตัวแทนกลุ่มละ  2 คน  ตัวแทนหมู่บ้านละ 1 คน  ตัวแทนทั้งหมดรวมเป็นคณะกรรมการองค์กรเครือข่าย (ลักษณะเป็นสภาเกษตรกรประจำตำบล) คณะกรรมการองค์กรเครือข่าย มีกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  นายก อบต. เป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการองค์กรเครือข่ายเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารองค์กรเครือข่าย จำนวน  9 คน  เพื่อทำหน้าที่บริหารตลาดชุมชน  โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นที่ปรึกษา  คณะกรรมการบริหารองค์กรเครือข่าย ได้แบ่งหน้าที่เป็นฝ่ายต่างๆ ได้แก่ ฝ่ายรักษาความสงบ  ฝ่ายควบคุมร้านค้าและน้ำมัน  ฝ่ายขาย  ฝ่ายควบคุมตลาดนัด  ฝ่ายการเงิน  ฝ่ายบัญชี  การดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารองค์กรเครือข่าย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการองค์กรเครือข่าย

      13.  คณะกรรมการบริหารองค์กรเครือข่าย ได้วางแนวทางการบริหารและการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอนจนเกิดตลาดนัดชุมชน  ซึ่งเปิดบริการในวันอังคารทุกสัปดาห์  มีร้านค้าของชุมชน มีการจำหน่ายน้ำมันให้สมาชิก  นอกจากนั้น ในฤดูกาลผลไม้ ตลาดชุมชนจะเป็นสถานที่ให้สมาชิกนำผลไม้ออกจำหน่าย

     จากผลการดำเนินงานองค์กรเครือข่ายตำบลบาโงยซิแน  สามารถบริหารตลาดชุมชนจนสิ้นเดือนพฤษภาคม 2544  มีกำไร  50,519.33 บาท  นอกจากนั้น องค์กรเครือข่าย ยังทำหน้าที่ประสานงานหน่วยราชการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาของชุมชน  จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน

หมายเลขบันทึก: 51710เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2006 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
บอกเพื่อนพ้องน้องพี่ที่อยู่แดนใต้สุดขอให้มีจิตใจเข้มแข็งนะครับ
ขอแสดงความยินดีกับพี่วสันต์ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเกษตรจังหวัดยะลา

เหนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนด้วยด้วงอ้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท