การเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี



วันครูปีนี้ผมคิดถึงครูท่านหนึ่งเป็นพิเศษ ท่าน (ม.ร.ว. กิตินัดดา กิติยากร) เป็นครูสอนภาษาอังกฤษของผมซึ่งผมไม่เคยเห็นตัวจริง ผมรับคำสอนจากท่านผ่านทางนิตยสารสอนภาษาอังกฤษ ในสมัยเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ห้า (พ.ศ. 2495) ก่อนหน้านั้น ผมอยากรู้ภาษาอังกฤษจึงท่องดิกชันนารี ทุกวันนี้ยังเหลือที่จำได้อยู่สองคำคือ Abacus แปลว่าลูกคิด และ Abdicate แปลว่าสละราชสมบัติ โชคดีที่ท่องไปได้เพียง 2-3 หน้าก็อ่านพบคำแนะนำที่ท่านเขียนไว้ราวกับตั้งใจแนะนำผมเป็นการส่วนตัว ท่านบอกอย่าท่องเลย มีวิธีที่ดีกว่า ให้อ่านหนังสือมากๆ โดยหาหนังสือภาษาอังกฤษที่ไม่ยากนักแต่ก็ไม่ง่ายเกินไป เพื่อให้อ่านแล้วมีคำศัพท์ที่ไม่รู้จักไม่มากจนรำคาญ ถ้าเป็นหนังสือที่เป็นเรื่องเป็นราวและสนุกด้วยก็ยิ่งดี Simplified English Texts จึงเหมาะมากเพราะเขาเอาเรื่องดีๆสนุกๆมาทำให้อ่านง่าย ผมจึงขวนขวายหามาอ่าน น่าจะได้อ่านเกือบทุกเล่มในระดับปานกลางและระดับสูง ทำเหมือนกับที่เคยอ่านหนังสือของ ป. อินทรปาลิต ครบเกือบทุกเล่ม ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันคือสนุกดี เมื่อพบคำศัพท์ที่ไม่รู้จักท่านบอกว่าอย่าเปิดดิกชันนารี (อ้าว ตรงข้ามกับที่เราคิด) ควรจะเดาความหมายของคำนั้นได้จากเนื้อเรื่อง ไม่ต้องกลัวผิด อ่านต่อไป ถ้าศัพท์คำนั้นคู่ควรกับความจำของเราก็จะได้พบกันอีก (ที่จริงท่านบอกตรงๆว่า คำศัพท์ที่ควรรู้และจำไว้คือคำที่มีการใช้บ่อยๆ) หนังสือจึงทำหน้าที่เลือกคำศัพท์ที่ควรรู้ให้กับเรา เมื่อพบกันใหม่ก็จะรู้ว่าเดาถูกหรือผิด ถ้าไม่เหมือนที่เดาไว้ เดาใหม่ก็ได้ ถ้าสำคัญจริงก็คงจะได้เจอกันแน่ เมื่อสงสัยอยากรู้จริงๆ ทนต่อไปไม่ได้แล้วค่อยเปิดดิกชันนารี จะเป็นการเปิดด้วยความอยากรู้ไม่ใช่เปิดด้วยความจำใจ วิธีนี้จะทำให้จำได้ดี และจำในรูปแบบที่ใช้งานจริงเพราะเห็นทั้งประโยคและให้จำไว้เป็นประโยค จึงเป็นวิธีการเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี ทั้งยังทำให้อยากหาหนังสือมาอ่านอีก หลังจากนั้นภาษาอังกฤษก็เป็นวิชาที่ผมสอบได้คะแนนดีเสมอโดยไม่เหนื่อยยาก  

นอกจากวันครูแล้วยังมีอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมคิดถึงครูสอนภาษาอังกฤษท่านนี้ เมื่อต้นเดือนเดียวกัน ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ของศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช มีเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนรู้ ที่ท่านนำมาจากหนังสือเรื่อง Why Don’t Students Like School? ของDaniel T. Willingham น่าสนใจจึงตามไปอ่านหลักจิตวิทยาการเรียนรู้เก้าข้อที่ท่านผู้เขียนระบุว่านำมาจากผลงานวิจัยจำนวนมากในระยะยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา เมื่อนำสองเรื่องมารวมกันก็เห็นความน่าสนใจเป็นพิเศษว่า ครูสอนภาษาอังกฤษของผมท่านนี้ให้คำแนะนำไว้ตรงกับหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ดังกล่าวหลายข้อ เป็นคำแนะนำตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีผลการวิจัยเหล่านี้ โปรดสังเกตข้อความที่ขีดเส้นใต้ไว้ข้างต้น ที่นำมาเปรียบเทียบกับหลายข้อในหลักจิตวิทยาการเรียนรู้จาก Why Don’t Students Like School? ดังนี้

1.  People are naturally curious, but they are not naturally good thinkers. ความอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติของคน แต่โดยธรรมชาติคนไม่ใช่นักคิดที่ดี อย่างไรก็ตาม คนเรามีความรู้สึกพอใจเมื่อคิดแก้ปัญหาได้สำเร็จ ดังนั้น การมอบหมายงานให้นักเรียนทำ จึงไม่ควรง่ายเกินไปเพื่อจะได้เป็นความท้าทายและไม่ยากเกินไปเพื่อให้มีโอกาสทำสำเร็จ โปรดเปรียบเทียบกับคำแนะนำที่ว่า “หาหนังสือภาษาอังกฤษที่ไม่ยากนักแต่ก็ไม่ง่ายเกินไป เพื่อให้อ่านแล้วมีคำศัพท์ที่ไม่รู้จักไม่มากจนรำคาญ” รวมทั้ง “เปิดดิกชันนารี จะเป็นการเปิดด้วยความอยากรู้ไม่ใช่เปิดด้วยความจำใจ” 

2.  Factual knowledge precedes skill. ความรู้ด้านสาระต้องมาก่อนความรู้ด้านทักษะ  ดังนั้นการให้นักเรียนฝึกทักษะ (การคิดแก้ปัญหา) ควรดูแลให้นักเรียนมีความรู้ด้านสาระในเรื่องที่เกี่ยวข้องให้มากพอ

3.  Memory is the residue of thought. ความจำเป็นผลที่เหลือมาจากการคิด ดังนั้นหากจะให้นักเรียนจำเรื่องใดได้ ก็ต้องให้นักเรียนมีโอกาสได้คิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น เช่น การใช้  เรื่องเล่าที่ชวนคิดชวนติดตาม โปรดเปรียบเทียบกับคำแนะนำที่ว่า “หนังสือที่เป็นเรื่องเป็นราวและสนุกด้วยก็ยิ่งดี” และ ควรจะเดาความหมายของคำนั้นได้จากเนื้อเรื่อง ไม่ต้องกลัวผิด ก็คือการให้ฝึกคิดจะช่วยให้จำได้ดี

4.  We understand new things in the context of things we already know. เราเข้าใจ เรื่องใหม่ในบริบทของเรื่องเก่าที่เรารู้อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น การให้ตัวอย่างที่มีรูปธรรมจึงสร้างความเข้าใจได้ดี และการเปรียบเทียบตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในเรื่องเดียวกันมากพอจะช่วยให้เข้าใจหลักการที่เป็นนามธรรม โปรดเปรียบเทียบกับ “จำในรูปแบบที่ใช้งานจริงเพราะเห็นทั้งประโยคและให้จำไว้เป็นประโยคจะช่วยให้จำได้ดี 

5.  Proficiency requires practice. จะให้เก่งต้องฝึก โปรดเปรียบเทียบกับคำแนะนำที่ว่า “ให้อ่านหนังสือมากๆ

6.  Cognition is fundamentally different early and late in training. การเรียนรู้ในระยะเริ่มต้นของการฝึกอบรมต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการเรียนรู้ในระยะหลังของการฝึกอบรม  ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนต้องคำนึงถึงหลักการนี้ด้วย

7.  Children are more alike than different in term of training. นักเรียนมีความเหมือนกันมากกว่าความต่างกัน ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนควรคำนึงถึงหลักการข้อนี้ด้วย  

8.  Intelligence can be changed through sustained hard work. ความฉลาดของคนเปลี่ยนได้หากฝึกหนักและนานพอ 

9.  Teaching, like any complex cognitive skill, must be practice to be improved. การสอนของครูก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ด้วยการฝึกในทำนองเดียวกับทักษะการเรียนรู้ที่ซับซ้อนอื่นๆ

โปรดสังเกตว่า ท่านให้คำแนะนำตรงกับหลักจิตวิทยาการเรียนรู้รวมสี่ข้อ เป็นคำแนะนำเพื่อผู้เรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเองอย่างผม ส่วนหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ที่เหลืออีกห้าข้อนั้นเป็นประเด็นสำหรับครู 

ผมเขียนบทความนี้เพื่อไหว้ครูและเป็นปฐมบทของบทความที่จะเขียนต่อไปเพื่อการเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี


อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

20 มกราคม 2556


หมายเลขบันทึก: 516895เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2013 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2013 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆกับบันทึกที่อ่านสนุกและได้ความรู้ ความคิดที่สามารถเอาไปปรับใช้ได้จริงๆ รู้สึกเหมือนกันค่ะว่าตัวเองผ่านประสบความสำเร็จกับการเรียนภาษาอังกฤษได้ดีติดตัวมาจนปัจจุบันด้วยวิธีที่อาจารย์นำมาเล่านี่ด้วยเหมือนกันค่ะ 

ขอบคุณอาจารย์ ที่มาเขียนในโกทูโน น่าอ่านน่าติดตามมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท