beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

กองฟืน จุดไฟ และควันหลงในงาน “นเรศวรวิจัย” ครั้งที่ 1


จัดได้ยิ่งใหญ่ สมเป็นงานครบรอบ 15 ปีของมหาวิทยาลัย และเป็นงานที่บูรณาการหล่อหลอมทั้งส่วนที่เป็นวิชาการและส่วนที่ไม่ใช่วิชาการให้เข้ากัน

     ผมมีบทความที่ได้เขียนไว้เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม และแก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม ซึ่งยังไม่ได้เผยแพร่ จึงขอนำมาเผยแพร่นะที่นี้ครับ

กองฟืน จุดไฟ และควันหลงในงาน “นเรศวรวิจัย” ครั้งที่ 1
(15 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยนเรศวร)


      ผมได้รับการร้องขอจาก คุณมีนา สุนันตา เจ้าหน้าที่งานวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ช่วยเขียนบทความเกี่ยวกับการจัดงาน “นเรศวรวิจัย” ครั้งที่ 1 ให้หน่อย  (คงเป็นเพราะผมเคยเขียนเรื่อง Mobile Unit ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด และคุณมีนาคงจะชอบใจใน สไตล์การเขียนแบบลูกทุ่งของผม)  ซึ่งผมก็ยินดี เพราะอยากจะให้กำลังใจคนทำงาน หนึ่งในผู้ปิดทองหลังพระ ในทีมงานของ ผศ.ดร. วิบูลย์ วัฒนาธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ
      พูดถึง ดร. วิบูลย์ ซึ่งสวมหมวกหลายใบ (ก็แกเป็นคนมีความ
สามารถ ตั้งใจทำงานและทำงานละเอียด) เท่าที่ผมสัมผัสอยู่ด้วย มี  1 . ดูแลเรื่องงานวิจัยของมหาวิทยาลัย  2. ดูแลเรื่องหน่วยประกันคุณภาพ  3. ดูแลเรื่องการจัดการความรู้  4. ดูแลเรื่อง Mobile Unit   5. ดูแลเรื่องคลินิกเทคโนโลยี   6. ดูแลเรื่องรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย   7. ดูแลเรื่องเครือข่ายวิจัยภาคเหนือตอนล่าง และ อื่น ๆ  อีกที่ผมไม่ทราบ   และเนื่องในโอกาสครบรอบ  “15 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยนเรศวร”  ในวันที่ 29 กรกฏาคม พ.ศ. 2548  ดร.วิบูลย์ จึงมีการบูรณาการงานทั้งหลายทั้งปวงเข้าด้วยกัน  จัดเป็นงาน “นเรศวรวิจัย” ครั้งที่ 1 ขึ้น  โดย Theme ในครั้งนี้คือหัวข้อ “กระบวนทัศน์ใหม่ในการบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยนเรศวร”
     ถ้าในการเตรียมงาน เปรียบเสมือนการเตรียมกองฟืน  การจัดงานก็ต้องเปรียบเสมือนการจุดไฟให้ความอบอุ่นในหน้าหนาว ซึ่งเมื่อหายหนาวแล้วก็เอาน้ำมาราดรดกองฟืน ทำให้เกิดควันน้อย ๆ ลอยขึ้นมาเป็นควันหลง เหมือนหัวข้อข้างต้นไง คุณผู้อ่านคงงงอยู่นาน
      การจัดงานครั้งนี้ผมทราบมาว่า เตรียมงานกันนานมาก คงไม่ต่ำกว่า 2 เดือนเป็นแน่ ผมขอพูดเฉพาะเรื่องคลินิกเทคโนโลยี งานที่ผมมีส่วนร่วม และบรรยากาศทั่วไปของงานก็แล้วกันนะครับ
      ผมได้รับการติดต่อจากคลินิกเทคโนโลยี ซึ่งมี ดร.ศจี  สุวรรณศรี เป็นผู้จัดการคลินิกเทคโนโลยี และคุณเอมอร สารเถือนแก้วเป็นผู้ประสานงาน ให้ไปพูดเรื่อง “ตู้หลอมไขผึ้ง พลังงานแสงอาทิตย์”  เป็น Oral Presentation ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2548   ช่วงบ่าย ณ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพชั้น 3  ส่วนนี้เป็นเรื่องวิชาการ  แต่สิ่งที่น่าหนักใจคือ งานวิชาการจะหาคนฟังที่ไหนได้ นอกจากคนที่เราเชิญ ดังนั้นผมจึงได้รับการรัองขอให้หาคนมาฟังให้หน่อย (อย่างน้อยก็ตรงส่วนงานของผม) อย่างน้อยสัก 10 คน  เผอิญผมมีนัดประชุมกับกรรมการกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือตอนล่างแห่งประเทศไทย ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 พอดี ที่ห้องประชุมแถว อำเภอวังทอง ปกติจะประชุมกันทั้งวัน  ส่วนผมจะขอกลับมาเสนอผลงานในช่วงบ่าย 
     พอได้รับการร้องขอ ผมเปลี่ยนแผนให้มาประชุมกันที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เอาที่ห้องภาควิชาชีววิทยา และรีบรวบรัดให้ประชุมให้เสร็จในตอนเช้า  เพื่อที่ตอนบ่ายเราจะได้ยกขบวนกันไปบริเวณสถานที่จัดงาน งานนี้ยังได้รับการเลี้ยง
อาหารกลางวัน เป็นงบประมาณเฉียด 1 พันบาทด้วย
      ก่อนวันงานคือวันที่ 26-27 กรกฎาคม ผมเดินสายไปเยี่ยมกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งที่สระบุรี  กว่าจะกลับถึงที่พักในมหาวิทยาลัย  เกือบ 5 ทุ่มของคืนวันที่ 27 และ เช้าวันที่ 28 ต้องมาต้อนรับกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งที่มาประชุม ผมคุมเวลาการประชุม พอเที่ยงปิดประชุม แล้วพากรรมการกลุ่ม ประมาณ 10 กว่าชีวิตไปทานข้าวที่ห้องอาหารไพลิน  จากนั้นเราก็ไปพร้อมกันที่ห้องเอกาทศรถ 5 ก่อนบ่ายโมงเล็กน้อย
  ขณะรอเวลาเริ่มงาน พวกเราชาวกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้ง ได้ชมบรรยากาศของงาน นับว่าจัดไปดีอย่างกลมกลืน เป็นตลาดนัดวิชาการ และมีร้านขายของต่าง ๆ เช่น หนังสือ ของฝากต่าง ๆ  รวมทั้งของขบเคี้ยว แถมคนที่มาร่วมงานก็มีจำนวนมากพอสมควร เพราะจัดหลายห้องมาก สรุปว่าเป็นงานยิ่งใหญ่งานหนึ่ง และเป็น Highlight ของงาน 15 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยนเรศวร
    ในตอนเย็น คณะฯ ของเราประกอบด้วย อาจารย์สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์, นายเสวก พ่วงปาน, นายวีรวัฒน์ เรื่องเพชร และนายศิริ บุตรชา  ที่ปรึกษา ประธานและสมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือตอนล่างแห่งประเทศไทย ได้ไปร่วมงานเลี้ยงเล็ก ๆ ที่ดร.ศจี สุวรรณศรี ผู้จัดการคลินิกฯ จัดเลี้ยงรับรองผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  มีการพูดคุยกันในบรรยากาศสบาย ๆ  เป็นกันเอง ในตอนหนึ่งของบทสนทนานายวีรวัฒน์กล่าวขึ้นว่า
   “พวกผมซึ่งเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งตัวจริง ปกติจะไม่กล้าเข้ามาที่มหาวิทยาลัย เพราะดูมันเหมือนยิ่งใหญ่ ที่ได้มาร่วมงานวันนี้ก็เพราะพวกอาจารย์ได้ให้โอกาส ได้ให้มาร่วมงานและแสดงความคิดเห็น ต่อไปนี้ผมไม่กลัวมหาวิทยาลัยอีกแล้ว และจะขอมาพึ่งพาในองค์ความรู้ที่พวกอาจารย์ทั้งหลายในมหาวิทยาลัยมีกัน” 
   สมมุติว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ มีความคิดอย่างที่นายวีรวัฒน์กล่าวไว้ทำนองนี้ งานคลินิกเทคโนโลยี ควรจะเป็นที่พึ่งของชุมชนได้ แต่ต้องประชาสัมพันธ์ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด และในความเห็นส่วนตัวของผมการทำงาน ต้องเป็นเชิงรุก มีภาคบังคับบ้าง อย่างงานนี้มีการเกณฑ์เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งเข้าร่วมงาน แต่งานนี้เขาก็ได้ประโยชน์และได้ตักตวงความรู้กันมาก  มีเกษตรกรอยู่คนหนึ่งเขายังไม่เคยเห็นตู้หลอมไขผึ้งของผม เมื่อเขาได้มาฟังการอธิบายจากผมเขาจึงสนใจงานของผม และเขาคงเอาตู้หลอมไขผึ้งนี้ไปใช้ในฟาร์มของเขาในอนาคตอันใกล้นี้
       สรุปว่า งาน “นเรศวรวิจัย” ครั้งนี้จัดได้ยิ่งใหญ่ สมเป็นงานครบรอบ 15 ปีของมหาวิทยาลัย และเป็นงานที่บูรณาการหล่อหลอมทั้งส่วนที่เป็นวิชาการและส่วนที่ไม่ใช่วิชาการให้เข้ากันอย่างกลมกลืน มีคนได้รับอานิสงค์ของงาน มากกว่าที่คณะผู้จัดจะคาดคิด หรืออาจจะเรียกว่า “ประโยชน์ที่ไม่คาดว่าจะได้รับ” อย่างน้อยก็เป็นกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งข
องผมครับ.....

    จบบริบูรณ์
  นายสมลักษณ์  วงศ์สมาโนดน์
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
กรรมการคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนรศวร
หัวหน้าหน่วยวิจัยผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งและที่ปรึกษากลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือแห่งประเทศไทย
               เริ่มเขียน 29 กรกฏาคม 2548 / แก้ไขเพิ่มเติม 10 สิงหาคม 2548

หมายเลขบันทึก: 5168เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2005 23:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท