ข้อมูลของใคร ?


     หลายครั้งผมเคยอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า งานที่เราทำทั้งหมดนี้ ข้อมูลเป็นของใคร เป็นของส่วนตัวคนทำ เป็นของหน่วยงานที่เราทำงาน เป็นของหน่วยงานต้นสังกัด หรือเป็นสมบัติของชาติ เพราะบางครั้งมีความรู้สึกว่า การที่จะขอดูข้อมูลของหน่วยงานเป็นเรื่องยาก ทั้งๆ ที่หน่วยงานเหล่านั้นก็มีข้อมูลอยู่แล้ว เพียงแต่หวงข้อมูลไว้ ไม่อยากนำมาเผยแพร่ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

     การตอบคำถามนี้ได้ เป็นทางออกของการใช้ข้อมูลของหน่วยงานครับ ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าข้อมูลที่เราทำงานอยู่ในภาพรวม (ยกเว้นในเรื่องความลับส่วนบุคคล) น่าจะเป็นสิ่งที่เปิดเผยได้ อย่าให้ถึงขนาดต้องใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารเลยครับ

     เคยมีคนเล่าให้ผมฟัง เรื่องที่จะขอข้อมูลสถิติโรคบางโรคในภาพรวมที่ไม่เข้าถึงข้อมูลผู้ป่วย โดยมาคุยส่วนตัวกับหัวหน้าหน่วยงานหนึ่ง แล้วถูกปฏิเสธการให้ข้อมูล ทั้งที่น้องคนนั้นจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการทำวิจัยในหลักสูตรปริญญาโทของสถาบันการศึกษาของรัฐแห่งหนึ่ง ต่อมาก็ลองทำเป็นจดหมายเรียนผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนั้นเพื่อขอข้อมูลดังกล่าว ปรากฏว่าก็ถูกปฏิเสธเหมือนกัน จนต้องเปลี่ยนสถานที่ขอ โดยไปขออีกโรงพยาบาลหนึ่ง ซึ่งได้รับการตอบรับและช่วยเหลือด้านการให้ข้อมูลเป็นอย่างดี

     ในภาควิชาพยาธิวิทยา พวกเราทำแล็บกัน ข้อมูลดิบเป็นข้อมูลของผู้ป่วยซึ่งน่าจะเป็นความลับผู้ป่วย และอาจมีประโยชน์ไม่มากนัก แต่ข้อมูลดิบเหล่านี้หากผ่านการจัดกลุ่มข้อมูลใหม่ ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ล้วนเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจทั้งสิ้น บางครั้งสามารถนำไปเขียนเป็นงานวิจัยได้ หรือแม้กระทั่งเป็นข้อมูลที่กระตุ้นให้คนหันมาสนใจศึกษาและนำไปพัฒนาการใช้ลงลึกในบางหัวข้อได้

     ผมยกตัวอย่าง การตรวจโรค....สักโรคหนึ่ง ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการสรุปไว้เลย ได้แต่ทำงานแล้วออกผลการทดสอบไปวันๆ เสร็จแล้วข้อมูลเหล่านี้ก็เข้าไปนอนรออยู่ใน hard disk ของระบบคอมพิวเตอร์ สถิติที่ทางภาคสนใจ หรือคนในหน่วยงานสนใจก็คือ ปริมาณการทดสอบต่อเดือน หรือต่อปี ซึ่งเป็นข้อมูลด้านปริมาณที่นำไปใช้ แต่ไม่น่าสนใจในการกระตุ้นต่อมความสนใจของกลุ่มคนรักวิจัยได้ แต่ผลการทดสอบแยกเป็นรายเดือนว่า มีผลบวกกี่ราย ผลลบกี่ราย จากจำนวนที่ส่งตรวจทั้งสิ้นกี่ราย ข้อมูลนี้น่าสนใจมากกว่าเยอะ เพราะมันบอกถึงอุบัติการได้ บอกถึงความรุนแรงของปัญหาได้ บอกถึงกำลังระบาดอยู่หรือเปล่า บอกอะไรๆอีกตั้งหลายอย่าง แต่ถ้าถามว่าการเปิดเผยเหล่านี้แล้วกลัวว่าเขาจะไปเขียนเป็นงานวิจัยได้หรือเปล่า ผมคิดว่าข้อมูลที่เปิดเผยลักษณะนี้มันกว้างเกินไป และไม่ระบุกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง ทำให้การเขียนเป็นบทความตีพิมพ์อาจไม่ได้รับการยอมรับ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่น่าห่วงเรื่องการกลัวคนจะเอาข้อมูลไปเขียนเป็นงานวิจัยแบบขโมยผลงานกันดื้อๆ แต่ข้อมูลเหล่านี้ ช่วยให้คนสนใจหันมาจับงานประจำพัฒนาเป็นงานวิจัยได้ แล้วข้อมูลเหล่านี้เขาหากันได้ที่ไหน...นั่นแหละครับปัญหา เพราะเท่าที่ผ่านมามีหน่วยงานน้อยมากครับที่สรุปข้อมูลเหล่านี้ในลักษณะเชิงรุก ผมมองว่าถ้าหากหน่วยงานต่างๆภายในภาควิชาพยาธิสามารถสรุปข้อมูล results ของแต่ละหน่วยงาน เป็นลักษณะ รายงานอุบัติการณ์อะไรทำนองนั้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้น โดยอาจนำมารวบรวมเป็น รายงานประจำปีเชิงระบาดวิทยาของภาควิชาพยาธิวิทยา ก็ได้ ใครผ่านไปผ่านมา มาพลิกดูจะได้รู้ว่าหน่วยงานไหน มีเรื่องอะไรกำลังฮอท หรืออาจจะใช้เชื่อมโยงกันทำงานวิจัยข้ามหน่วยงานกันก็ได้นะ

หมายเลขบันทึก: 51679เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2006 07:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เห็นด้วยว่าข้อมูลบางอย่างเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่ความลับของหน่วยงานและไม่ทำให้หน่วยงานเสียชื่อเสียงควรเปิดเผยได้
  • ผมเคยขอดูข้อมูลการประเมินงานครูเพื่อทำวิจัยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ(ปัจจุบันคือสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา)ปรากฏว่า ผอ ไม่ให้ดู ทำบันทึกขอดู ทางโรงเรียนปฎิเสธ เลยพึ่งสำนักงานข้อมูลข่าวสารทางราชการ ปรากฎว่าผมชนะ ข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์ใช้ในการพัฒนาครู
  • สำนักงานข้อมูลข่าวสารให้โรงเรียนเปิดเผยข้อมูล งานวิจัยผมเรียบร้อย(งานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อคุณครูทุกท่าน) แต่ปีนั้นและปีต่อมาก็ไม่เคยได้สองขั้นอีกเลย
  • ดีที่มารับทุนอยู่มหาวิทยาลัย เลยลาออกจากราชการซะเลย ผมมองว่าวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเป็นเรื่องสำคัญ
  • ขอบคุณมากครับผม

เป็นคุณูปการแก่สังคมมากเลยครับ ถ้าทำแบบนี้ให้แพร่หลาย

  • สวัสดีครับ
  • เป็นสิ่งที่เยี่ยมมาก ๆ เลยครับ มีประโยชน์กับส่วนรวมมาก ๆ เลยครับ
  • ขอยินดีและเป็นกำลังใจให้กับการสิ่งดี ๆ เช่นดีเสมอครับ
  • แวะมาขอบคุณครับผม
  • อีกาตัวใหญ่มากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท