ความสุขจากการจัดการความรู้ : ท่องเที่ยวแพร่


 

 หลาย ๆ ครั้งที่ผมทุกข์หรือเศร้าใจ เหตุการณ์ที่ทำให้ผมกลับฟื้นคืนสุขได้เสมอ ก็เป็นช่วงเทอมสุดท้ายของการใช้ชีวิตเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตดิตถ์

ช่วงนั้นคล้าย ๆ เป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตการทำงาน ความรู้สึกของผมบอกได้ว่าเป็นอย่างนั้น ตอนนั้นก็เลยคิดในใจตลอดเวลาเลยว่า เวลาที่เหลืออีกไม่นานนี้ ผมจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีที่สุด สิ่งที่เคยคิดแต่ทำไม่ได้  อยากทำส่งท้ายไว้ให้เด็กนักศึกษาให้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการความรู้

ในสมัยแรก ๆ ที่ไปเป็น "คนสอนหนังสือ" ตอนนั้นใช้คำว่าสอนหนังสือได้เลยครับ เพราะตอนนั้นไม่เคยรู้เลยว่า การเรียนหรือการสอนนั้นเป็นอย่างไรและสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน มีหนังสือ มีตำรา มีวิชามาให้ก็พูดไป บรรยายไป ตามประสบการณ์อันน้อยนิดหรือแทบที่จะไม่มีเลย

ตอนใหม่ ๆ อาจะเรียกได้ว่า หาค่ำกินเช้า หาเช้ากินบ่ายเลยก็ว่าได้ครับ ตอนนั้นเครียดมาก ๆ เวลายืนอยู่หน้าห้อง รู้สึกข้างในสั่น ๆ บางครั้งพูดไปก็งงเองครับ

ตอนนั้นก็เลยเริ่มที่จะสนใจการวิจัยอย่างจริงจัง ทำวิจัยเต็มที่แทบไม่ได้หลับได้นอน เพื่อศึกษาค้นคว้าหาวิชาความรู้ต่าง ๆ เพื่อหาวิชาความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ มาผนวกกันเข้ากับกิจกรรมการเรียนการสอน ก็รู้สึกว่าการบรรยายในช่วงนั้นเริ่มมีอะไรดีขึ้นกว่าแต่ก่อน มีประสบการณ์ใกล้ ๆ ตัวมาเล่า มาเชื่อมโยงกับทฤษฎีต่าง ๆ มากขึ้น แต่ก็เหมือนว่ายังมีอะไรติด ๆ ขัด ๆ อยู่นิด ๆ หน่อย ๆ

แต่แล้ว

ชีวิตในการทำหน้าที่ "อาจารย์" มาพบกับความสุขแบบจริง ๆ ก็เทอมสุดท้ายนี่แหละครับ เพราะตอนนั้นได้เริ่มรู้จัก KM

รู้จัก เคยได้ยิน "การจัดการความรู้" แต่ตอนนั้นไม่ได้ไปเรียนไปอบรมอะไรมาหรอกครับ ก็แปลตามความหมายตรงตัวเลย

การจัดการ คำนี้ เป็นคำที่ผมเคยถูกครูบาอาจารย์สอนให้จำอย่างขึ้นใน และผมก็บอกนักศึกษาคณะวิทยาการจัดการเสมอ ว่าต้องจำคำนี้ให้ได้ตลอดชีวิตนะ ถ้าเรายังถือปริญญาที่มีชื่อว่า "บริหารธุรกิจบัณฑิต" อยู่

ความหมายของการจัดการหรือการบริหารที่จำได้ไม่เคยลืมก็คือ "การนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด"

ตอนนั้นผมก็เลยนำมาผนวกกับคำว่า "ความรู้" ก็เลยเข้าใจเองในตอนนั้นว่า การนำเอาความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด"

โจทย์ต่อมาก็คือ เอาความรู้มาจากไหน

ก็ย้อนกลับไปคิดเมื่อตอนแรกครับ ตอนที่เข้ามาสอนใหม่ ๆ ความรู้เรามีจำกัดจริง ๆ เพราะเราไม่มีประสบการณ์ แต่สิ่งที่ทำให้คิดได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุก ๆ คนมีความรู้นี่ รู้แตกต่างกัน ถ้าเอาความรู้ทั้งหมดมาร้อยเรียงและเชื่อมโยงกันน่าจะมีประโยชน์นะ

ตอนนั้นอย่างที่บอกครับ ผมไม่เคยอ่านหนังสือ KM และไม่รู้จักเลยว่า KM เป็นอย่างไร ผมเคยได้ข่าวอยู่ครั้งหนึ่งว่า ท่านอาจารย์หมอ (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) จะมาบรรยายที่มหาวิทยาลัยฯ แต่ตอนนั้นทางมหาวิทยาลัยให้แต่ทางผู้บริหารเข้าฟังครับ และถ้าใครสนใจก็ให้รับชมทางทีวีที่เป็นช่องในมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่ได้ฟังครับ

 

แต่สิ่งที่ผมพยายามนึกไว้เสมอตามความเข้าใจอันน้อยนิดขณะนั้นก็คือ "ทุกคนมีความรู้ ทุกคนมีความรู้ ทุกคนมีความรู้" ผมรู้อยู่แค่นี้ครับในตอนนั้น

ผมก็เลยพยายามที่จะประยุกต์เอาสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำวิจัย ทั้งการจัดเวที การเขียน Mind Map ต่าง ๆ ลองเอาเข้ามาใช้ในห้องเรียนดู โดยตั้งใจว่าจะนำเอามาดึงความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในห้อง เพราะทุกคนมีความรู้แล้วก็ตั้งโจทย์ง่าย ๆ ลองแชร์ความรู้กันในห้อง

โจทย์วันนั้นที่ใช้ก็เป็นโจทย์แบบง่าย ๆ ครับ ก็คือการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่มีอะไรบ้าง

วันนั้นเป็นวันที่เรียนกันสนุกมาก ๆ เลยครับ เพราะผมและนักศึกษาที่มาจากจังหวัดอื่น ๆ ก็ได้ช่วยกันเรียนรู้ ตั้งแต่จังหวัดแพร่มีกี่อำเภอ วันนั้นนักศึกษาแพร่เป็นตัวเอกในการเรียนการสอนวันนั้น ทุก ๆ คนนำเสนอจังหวัดของตนเองได้อย่างดีเยี่ยมมาก ๆ

โดยเฉพาะเจ้าภาพของแต่ละอำเภอได้ Present แหล่งท่องเที่ยวของบ้านตนเองอย่างสนุกสนาน นอกเหนือจากการนำมาเขียนบนกระดานแล้ว วันนั้นเวทีสนทนาเล็ก ๆ ระหว่างเพื่อนกับเพื่อนที่นั่งใกล้ ๆ กันก็คุยกันอย่างอื้ออึง

"ฉันเคยไปเที่ยวที่นี่มา ฉันเคยไปเที่ยวที่นั่นมา"

วันนั้นผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก ๆ เลยครับ

ทั้งจากการที่ได้รู้จักกับอำเภอและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของจังหวัดแพร่ รวมทั้งมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการที่แต่ละคนไปเที่ยวท่องแล้วพบเจอสิ่งต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน เช่น เรื่องเล่า หรืออาถรรพ์ต่าง ๆ

แต่สิ่งที่ทำให้มีความสุขมาก ๆ ก็คือ "รอยยิ้ม" ของเด็กทุก ๆ คนในห้อง ที่โดยปกติมาเรียนวิจัยจะเคร่งเครียดกันมาก แต่วันนี้ทุกคนครึกครื้นสนุกสนาน เป็นบรรยากาศที่ดีมาก ๆ เลยครับ ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้พบกับบรรยากาศในห้องเรียนที่สนุกสนานขนาดนี้ 

หลังจากหมดคาบนั้นไป สัปดาห์ต่อไปก็มาเจอกันอีก สิ่งที่ทำให้ผมรู้จักประใจมากขึ้นก็คือ เรื่องราวของสัปดาห์ก่อนที่คุยกันเรื่องท่องเที่ยวนั้นยังไม่จบหรือหายไป

หลาย ๆ คนไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติม มีแก้ไขข้อมูลที่บอกไปไม่ครบถ้วนหรือผิดพลาดบ้างเมื่อคราวก่อน

หลาย ๆ คนไปเที่ยวกันมา ถ่ายรูปมาดูกัน เพื่อนจากจังหวัดแพร่ชวนเพื่อนจากอุตรดิตถ์ จากน่าน จากสุโขทัย ไปเที่ยวแพร่กัน เป็นภาพแห่งมิตรภาพที่มีความสุขมาก ๆ ครับในช่วงนั้น

ทำให้ 10-20% ของเวลาในการเรียนการสอนที่ผู้บริหารของมหาวิทยลัยฯ ที่ท่านให้นโยบายในการสอดแทรกเรื่องชีวิตประจำวัน การดำเนินชีวิตต่าง ๆ และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต เวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สอดแทรกนอกเหนือจากเนื้อหาวิชาหลักนั้น นับได้ว่าเป็นเวลาที่มีคุณค่ายิ่งครับ

เพราะตอนนั้นนอกจากจะเห็นรอยยิ้มของนักศึกษาแล้ว ผมรู้สึกตัวเองได้ว่า มีความสุขมากขึ้นจากการทำงาน ไม่กังวล ไม่เครียด เหมือนเมื่อก่อนตอนสมัยแรก ๆ ที่มาทำงานใหม่ ๆ ได้เรียนรู้และทึ่งกับความรู้ของเด็ก ๆ นักศึกษามาก ๆ หลาย ๆ คนเก่ง มีความรู้และประสบการณ์อย่างมากมาย

เป็นเวลาที่ประทับใจมาก ๆ ทุกครั้งที่ไปในห้องเรียนจะได้ความรู้กลับมาเป็นกระบุงโกงเลยครับ

แม้ขนาดตอนนี้ถึงแม้เวลาที่จะได้ล่วงเลยผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว เมื่อย้อนกลับไปคิดทุกครั้ง ก็ยังยิ้มและมีความสุขเสมอ ๆ ครับ

หมายเลขบันทึก: 51673เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2006 02:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท