วิชาชีพและคำนิยามของครู


ครูไม่ใช่เรือจ้าง เพราะมีคำนิยามอีกมากมายที่ใช้แทนได้

แว่นขยาย (ปัฐมาันันท์ แสงพลอยเจริญ)

เนื่องจากวันนี้เป็นวันครู 16 มกราคม ขอเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับครูแล้วกันค่ะ

           หากทุกคนมองย้อนกลับไปถึงประวัติของตนเอง ก็พบว่าช่วงหนึ่งของชีวิต ทุกคนต้องศึกษา และผู้ให้การศึกษานั้นคือ “ครู”

           ดังนั้นทุกคนจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับ “วิชาชีพครู” มาแล้วทั้งสิ้น สาเหตุที่เรียกว่า “วิชาชีพ” เพราะ “ครู” มิใช่อาชีพทั่วไปที่ทำมาหากินเพื่อรับรายได้ แต่ “ครู” คือ “วิชาชีพชั้นสูง” ที่ต้องอาศัยคุณธรรม และจรรยาบรรณเพื่อใช้ในการดำรงวิชาชีพ เฉกเช่น “วิชาชีพแพทย์”  ที่แพทย์ทุกคนต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ เราจึงจะมั่นใจได้ว่าการรักษาของแพทย์ท่านนั้นไม่ผิดเพี้ยน ครูก็เช่นกัน ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู จึงจะมั่นใจได้ว่าการให้ความรู้ของครูไม่ผิดเพี้ยน

หากกล่าวถึงวิชาชีพ แต่ไม่กล่าวถึงลักษณะอาชีพของคนทั้งโลก คงดูกระไรอยู่

อาชีพของคนทั้งโลกนี้ แบ่งได้เป็น ๔ ประเภท คือ

๑.  อาชีพผู้ใช้แรงงาน เป็นอาชีพที่ต้องใช้แรงเพื่อแลกเงิน ไม่ต้องใช้ความรู้มากนัก เช่น กรรมกร แม่บ้าน เด็กส่งของ ฯลฯ อาชีพประเภทนี้รายได้จะต่ำที่สุด

๒.  อาชีพกึ่งแรงงาน เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะเข้ามาประยุกต์ในการทำงานบ้าง เช่น พนักงานเสิร์ฟ แคชเชียร์ พนักงานขายตามห้าง ฯลฯ อาชีพนี้รายได้จะสูงขึ้นจากอาชีพแรก

๓.  อาชีพใช้ทักษะการทำงาน เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะในการทำงาน ดังนั้นจึงต้องเรียนมาเฉพาะทาง ไม่เช่นนั้นจะประกอบอาชีพไม่ได้ เช่น วิศวกร สถาปนิก ช่างทุกประเภท พนักงานบัญชี สื่อมวลชน อาชีพนี้รายได้จะสูงหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับวุฒิและความสามารถทางอาชีพ

๔.  วิชาชีพชั้นสูง อยู่ในระดับสูงกว่าอาชีพ เพราะมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง บุคคลที่อยู่ในวิชาชีพต้องมีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง และมีคุณธรรมที่คอยกำกับวิชาชีพอยู่ เพราะหากไร้ซึ่งคุณธรรมแล้ว ผู้รับบริการจะได้รับความเสียหาย เช่น แพทย์ หากรักษาไม่ดี คนไข้อาจเสียชีวิตได้ ครู หากสอนผิด ๆ นักเรียนอาจเสียคนได้ ดังนั้นสิ่งที่จะยืนยันได้ว่าบุคคลนั้นมีจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ คือ ใบประกอบวิชาชีพ

 

             เมื่อ “ครู” คือ วิชาชีพ “คำนิยามของครู” ก็ไม่ควรใช้คำว่า “ครู คือ เรือจ้าง” เพราะของ “ไม่ควร” เมื่อมาใช้กับของสูงค่า มันย่อม “ไม่สมควร” อย่างยิ่ง

 

             เพราะ “วิชาชีพครู” มีคำนิยามอีกมากมาย ที่น่าจะดีกว่าการใช้คำว่า “เรือจ้าง” และควรนำมาใช้แทนกันบ้างจะดีกว่าไหม? เช่น

 

ครู คือ “ดวงตะวัน” เปรียบเหมือนการให้ความรู้ของครูแก่ศิษย์ ความรู้นั้น คือ แสงสว่างแห่งปัญญาที่ทำให้ศิษย์เข้าใจแจ่มแจ้ง พร้อมนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

 

ครู คือ “อากาศ”  ที่แทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วโลก โดยธรรมชาติมนุษย์และสัตว์จะขาดอากาศไม่ได้ ต้นไม้ก็ต้องใช้อากาศในการสังเคราะห์แสง เหมือนในทุกสาขาอาชีพต้องมีครูคอยสอน ตั้งแต่ในน้ำ บนบก บนฟ้า หรือนอกโลก ก็ต้องมีครู เพราะไม่มีใครที่เรียนรู้เอง ทำเอง เก่งเอง โดยไม่มีครูคอยแนะ

 

ครู คือ “เมฆที่ลอยอยู่บนฟ้า” ตำแหน่งของครูสูงส่ง เป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ง่าย ศิษย์เมื่อเห็นครูก็จะทำตามและถือเป็นต้นแบบ หากครูปฏิบัติตนอย่างไร ศิษย์ก็อยากทำตามอย่างนั้น ดังนั้นครูจึงต้องเป็นต้นแบบที่ดี ด้วยการรักษาศีลให้ครบ เป็นต้นแบบทั้งในและนอกโรงเรียน เพราะลูกศิษย์จะทำตามเราทุกเรื่อง

 

ครู คือ “ตู้นิรภัย” ที่เก็บสมบัติล้ำค่าของพ่อแม่ทุกคนเอาไว้ คือ “ลูก” ทรัพย์สินเงินทอง หากไม่ตายก็หาใหม่ได้ แต่ “ลูก” ถ้าเสียคนแล้วจะสร้างใหม่ไม่ได้ แสดงว่าพ่อแม่ทุกคนเขาวางใจครู จึงนำลูกมาฝาก เพื่อรักษาสมบัติที่สำคัญนี้ไว้ แม้แต่กษัตริย์ยังฝากพระโอรสพระธิดาไว้กับครู

 

ครู คือ “กระจก” ที่คอยสะท้อนให้เห็นศิษย์เห็นสิ่งที่ดีและไม่ดีของตนเอง และสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของศิษย์ได้ บางครั้งคนเราถ้าไม่มีใครคอยเตือน อาจจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่คิดและทำมันผิด จึงดำเนินชีวิตผิดพลาด แต่ครูจะสอนและสะท้อนให้ศิษย์เห็นว่าสิ่งที่เขาคิดและปฏิบัติ ดีหรือไม่อย่างไร ศิษย์ก็จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น

 

ครู คือ “บันทึกเล่มหนึ่งที่ลูกศิษย์ไม่เคยลืม” ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักแค่ไหน แม้ครูจะเกษียณหรือเสียชีวิตไปแล้ว ลูกศิษย์จะจดจำคำสอนของครูได้ไม่มีวันลืม เหมือนในทุก ๆ ปีลูกศิษย์ที่ได้ดีเพราะครู จะนึกถึงและย้อนกลับมาหา

 

ครู คือ “พ่อแม่บุญธรรม” ที่เรียกเช่นนี้ เพราะเวลาที่ศิษย์อยู่กับพ่อแม่ตัวจริง มีแค่ตอนเช้าและเย็น แต่อยู่กับครูที่โรงเรียนไม่น้อยกว่า ๘ ชั่วโมง ครูจึงต้องรับผิดชอบชีวิตลูกศิษย์ คอยดูแล ให้กำลังใจ ศิษย์ไม่สบายก็ต้องหายามาให้ ศิษย์ไม่มีเงินเรียนก็ต้องหาทุนมาให้ ทำหน้าที่ไม่แตกต่างจากพ่อแม่

 

ครู คือ “พรหม” ที่สูงยิ่งกว่าเทวดา ด้วยคุณธรรมความเป็นครู คือ พรหมวิหาร 4 ที่คอยเมตตา ดูแลศิษย์อย่างทั่วถึง กรุณาที่คอยสั่งสอน ช่วยเหลือศิษย์ในทุกด้าน มุทิตาที่คอยยินดี ยามที่ศิษย์ประสบความสำเร็จ และอุเบกขา ยามที่ศิษย์ดื้อรั้น ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของครู

 

             จากคำนิยามดังกล่าว คงจะเพียงพอแก่การนิยามคำว่า “ครู” ขึ้นมาใหม่ เพราะ “ครู” ไม่ใช่เรือจ้าง ที่คอยแจวนำพาลูกศิษย์ไปอีกฝั่ง ดังคนรับใช้ของศิษย์ แต่ “ครู” เป็นปูชนียบุคคล ควรค่าแก่การเคารพ กราบไหว้ของมนุษย์และเทวดา เป็นเส้นทางสายเดียวกับ “พระบรมครู” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ทรงเลือกสละทรัพย์ ยศ บริวาร อวัยวะ หรือแม้กระทั่งชีวิต เพียงเพื่อให้ได้มาเป็น “ครู” สั่งสอนชาวโลกให้พ้นทุกข์

 

         เมื่อวิชาชีพครูสูงส่งถึงปานนี้ ไฉนเราผู้เป็นครู จะต้องน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าปัจจัยค่าครองชีพมันน้อยนิดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ความเป็นจริงแล้วการที่เงินเดือนของครูเริ่มต้นที่ ๑๕,๐๐๐ บาทขึ้นไป ก็ทำให้ครูมีชีวิตอยู่อย่างเพียงพอ เรียกว่า “สันโดษ” หากไม่อยู่อย่างหรูหรา ฟุ้งเฟ้อ ใช้ของราคาแพงจนเกินควร ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ

 

เงินเดือนที่เราได้รับ จึงเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่เรากลับเต็มเปี่ยมด้วย “ความสุข” ที่อาชีพอื่นอาจไม่เคยได้รับ

“ความสุข” เมื่อศิษย์เรียนจบ

“ความสุข” เมื่อศิษย์ประสบความสำเร็จ

ความสุขเหล่านี้เป็นอาหาร ที่หล่อเลี้ยง หล่อหลอมใจเราให้มีสุขกว่าอาชีพอื่น ๆ ถือเป็นรางวัลแห่งวิชาชีพครู

 

ดังนั้น ดิฉันจึงขอให้ “ครู” ทุกท่าน ภูมิใจในความครูของตนเอง เพราะวิชาชีพเรานั้นสูงส่ง ไม่ธรรมดา และถามตัวเองว่า “ฉันตรงกับคำนิยามที่ผ่านมานี้บ้างไหม” และ “ฉันเป็นครูเพราะอะไร” พบกันในบันทึกหน้าค่ะ

หมายเลขบันทึก: 516497เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2013 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2013 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท