วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก : รูปแบบการพัฒนาครูประถมในเขตพื้นที่



          ครูประถมท่านหนึ่งต้องการทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา  ในเรื่องการพัฒนาครูในเขตพื้นที่ประถมศึกษา  และขอมาสัมภาษณ์ผมในเรื่องโจทย์วิจัย 

          เห็นชื่อหัวข้อวิทยานิพนธ์ผมก็ดีใจ  เพราะเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อบ้านเมือง  ผมรีบตรวจสอบ ว่าท่านผู้นี้จะทำวิจัยบนกระดาษ หรือทำวิจัยในสภาพจริง  แล้วผมก็หมดแรง เพราะจะเป็นการวิจัยในกระดาษครับ  เรื่องแบบนี้ ถ้าทำวิจัยในกระดาษ ก็แปลได้ว่า ทำเพียงเพื่อให้ได้ปริญญา  ไม่เกิดผลอะไรจริงจัง  การทำในสถานการณ์จริงยากกว่า ๑๐ เท่า  และได้ความรู้มากกว่า ๑๐ เท่าเช่นเดียวกัน 

          แต่ประโยชน์ที่จะได้ต่อบ้านเมืองและวงการศึกษาไทยน่าจะมากกว่ากัน ๑๐๐ เท่า 

          เมื่อเป็นเช่นนี้ผมก็ไม่ลงแรงอ่านเอกสารหนากว่า ๒๐๐ หน้า ที่ส่งมาให้  รวมทั้งเมื่อพลิกดูผ่านๆ ก็เป็นการ “เขียนให้หนา”  ไม่ได้วิเคราะห์สังเคราะห์อย่างจริงจัง  มีแต่บอกว่าคนนั้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้ เต็มไปหมด  คือมีแต่ความรู้หรือความเห็นเป็นท่อนๆ ไม่มีการสังเคราะห์เป็นหลักการตามความเข้าใจของตนเอง 

          จุดอ่อนที่พบบ่อยที่สุดในการตั้งโจทย์วิจัยคือมันไม่พุ่งเป้า (โฟกัส)  ไม่ชัดว่าจะทำอะไรแน่  หรือหลายครั้งหลงเป้า ไปติดอยู่กับคำไพเราะ ไม่พุ่งไปที่ประเด็นสำคัญ 

          ประเด็นสำคัญในเรื่องการศึกษาไม่มีอะไรสำคัญหรือยิ่งใหญ่ไปกว่าผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ (Learning Outcome) ของศิษย์ 

          ในที่สุดผมก็ได้พบกับท่านที่จะทำวิทยานิพนธ์  และทราบว่าท่านเป็นผู้บริหารของโรงเรียนแห่งหนึ่ง  และท่านมีข้อจำกัดด้านเวลาเพราะลงทะเบียนเรียนมาหลายปีแล้ว  ทำวิทยานิพนธ์ในสถานการณ์จริงเวลาไม่พอแน่  จึงต้องทำบนกระดาษ  แต่ผมก็ชื่นใจที่ท่านบอกว่า อยากให้วิทยานิพนธ์ได้เสนอแนะการทำหน้าที่ ผอ. โรงเรียนที่เป็นที่พึ่งของครู ให้คำแนะนำในด้านการจัดการเรียนรู้ของศิษย์ได้

          ผมชี้ให้เห็นว่า ความรู้เรื่องวิธีพัฒนาครูที่ท่านรวบรวมมา  และจะนำเสนอในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เป็น “ความรู้มือสอง” หรือความรู้ทุติยภูมิ (secondary knowledge) ทั้งสิ้น  ไม่มี “ความรู้มือหนึ่ง” หรือความรู้ปฐมภูมิ (primary knowledge) เลย  รวมทั้งที่ท่านลอกมาจากข้อเขียนของผมด้วย  ผมชี้ให้ท่านตระหนักว่า ข้อเขียนของผมทั้งหมดเป็น “ความรู้มือสอง”ทั้งสิ้น  เป็นความรู้ที่ต้องระมัดระวังอย่าเชื่อไปเสียทั้งหมด

          ท่านพูดเองว่าเวลานี้ ผอ. มีหน้าที่เพียงไปประชุมหรือติดต่อกับผู้ใหญ่หรือหน่วยเหนือ  ไม่ได้ทำหน้าที่ด้านการเรียนรู้ของนักเรียนเลย  เป็นที่ปรึกษาของครูด้านการเรียนรู้ก็ไม่ได้  ท่านต้องการให้วิทยานิพนธ์ของท่านได้เสนอแนะ ให้มีการเปลี่ยนวัฒนธรรมนี้ 

          ผมได้แนะนำว่า นั่นคือ ผอ. โรงเรียนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ PLC ในโรงเรียน  เข้าไปทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ของ PLC  ที่มีความเชื่อมโยงสู่ผู้ปกครองเด็ก, เขตพื้นที่, อปท., ผู้นำชุมชน, วัด, และอื่นๆ


 วิจารณ์ พานิช

๑๑ ธ.ค. ๕๕



หมายเลขบันทึก: 516318เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2013 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2013 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผมพบงานวิจัยในทำนองนี้บ่อยๆ แต่ด้วยเวลาหรืออะไรไม่ทราบได้  ทำให้งานแบบนี้มีผ่านตามาเรื่อยๆ อยากเห็นงานวิจัยทางการศึกษาที่ผู้ทำวิจัยลงพื้นที่คลุกอยู่กับสถานที่จริงๆ ได้ได้ประโยชน์มากเลยครับ

 .....  การทำวิจัยที่ดี+มีคุณค่าต่อการแก้ปัญหา/งาน ..... เป้าหมายต้องชัด (Target) ... วัดผลได้ (Measurement) .... สำคัญที่สุด คือ ให้คุณค่า (Value)  และเกิดผลกระทบต่อสังคม (Impact) ... นำไปแก้ปัญหาได้จริงๆๆ  .... ของ ดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation)  ขอบคุณ ท่านอาจารย์หมอ มากค่ะ 

อาจารย์หมอกล่าวตรงไปตรงมา ชอบมาก ๆ ครับ ;)...

ชัดเจน ได้ประโยชน์จากความเห็นของท่านมากเลยค่ะ

จริงด้วยค่ะอาจารย์ เจอแบบนี้ตลอด "เอกสารหนากว่า ๒๐๐ หน้า ที่ส่งมาให้  รวมทั้งเมื่อพลิกดูผ่านๆ ก็เป็นการ “เขียนให้หนา”  ไม่ได้วิเคราะห์สังเคราะห์อย่างจริงจัง  มีแต่บอกว่าคนนั้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้ เต็มไปหมด  คือมีแต่ความรู้หรือความเห็นเป็นท่อนๆ ไม่มีการสังเคราะห์เป็นหลักการตามความเข้าใจของตนเอง" 

ถ้าเป็นลูกศิษย์ จะไม่ให้ผ่านเลยจริงๆ จึงไม่รู้เดี๋ยวนี้เขาเรียนกันไปทำไม เพียงเพื่อปริญญาบัตรประดับชื่อ แต่ไม่ตกผลึกทางปัญญาเลย แล้วเวลาไปสอนลูกศิษย์ ก้อ สอนให้รู้จักเอกสารความรู้ ไม่ใช่สอนวิธีการเรียนรู้ จะช่วยกันแก้ไขอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท