โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๑๑)_๑


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๑๑)_๑

           ตอนนี้จะเป็นเรื่องของผู้ผลิตปุ๋ยและฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตให้แก่พืช    คือจุลินทรีย์ในดินและซากปรักหักพังของสิ่งมีชีวิตต่างๆ    เป็นแหล่งปุ๋ยที่ได้มาโดยแทบไม่ต้องลงทุน    ในตอนนี้เราจะได้เห็นความสามารถในการสร้างความรู้สำหรับใช้งานบำรุงดินของชาวนา     คือการเก็บ      จุลินทรีย์จากป่าเอามาขยายพันธุ์และเก็บไว้ใช้ได้ต่อเนื่อง 

ตอนที่  10  เรียนรู้เรื่องจุลินทรีย์
 
 ท่ามกลางป่าเขาลำไพร  ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่  พืชนานาชนิด  พืชอาศัยสัตว์  สัตว์อาศัยพืช  เป็นห่วงโซ่อาหารที่พึ่งพิงกันและกันไปตามกฎของธรรมชาติ  สิ่งมีชีวิตเล็กๆ  อาศัยอยู่ตามได้โดยอาศัยสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่  เฉกเช่นจุลินทรีย์  ผู้ทำหน้าที่ย่อยสลาย  สามารถย่อยไม้ใหญ่ให้กลายเป็นผงธุลีได้  แต่ก็ต้องอาศัยเวลาอันยาวนาน  จึงจะย่อยสลายได้สำเร็จ 
 ด้วยความสามารถในการย่อยสลายวัสดุของจุลินทรีย์นี่เอง  จึงเป็นสิ่งที่นักเรียนสนใจจะนำเอาเชื้อจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ต่อการทำนา  เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิข้าวขวัญจึงพานักเรียนชาวนาไปเดินสำรวจธรรมชาติ  เรียนรู้ระบบนิเวศ  และเก็บตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์มาทดลอง
 การเดินทางของนักเรียนชาวนาจึงเริ่มขึ้นเพื่อไปเก็บเชื้อจุลินทรีย์บริเวณน้ำตกไซเบอร์  ในอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง  อำเภอลานสัก  จังหวัดอุทัยธานี  สถานที่ที่เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศไทย  และอยู่ใกล้บ้านในจังหวัดสุพรรณบุรี  และหลังจากที่เดินทางกลับมาถึงบ้านกันแล้ว  จึงได้นำเอาเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้มาแพร่ขยายต่อเชื้อ
 วัสดุที่จะกลายมาเป็นอาหารของจุลินทรีย์มีหลากหลายอย่าง  อย่างหลักๆก็คงหนีไม่พ้น  กากน้ำตาล  ซึ่งตัวเอกของการต่อขยายเชื้อจุลินทรีย์  และนอกจากนี้ก็จะใช้วัสดุธรรมชาติมาเป็นอาหาร  ซึ่งสามารถใช้เศษวัสดุธรรมชาติที่พบเห็นทั่วไป  นำมาใช้เป็นอาหารให้กับเชื้อจุลินทรีย์ได้  อย่างเช่น  รำอ่อน  เศษใบไม้  ฟางข้าว  ทั้งนี้ก็แล้วต่อว่าในท้องถิ่นใดจะมีอะไรเป็นอย่างไร  การต่อขยายเชื้อจุลินทรีย์จึงมีมากมายหลายสูตร  ตัวอย่างที่จะนำมาเสนอจะเป็นการใช้รำอ่อน


 ในกรณีใช้รำอ่อนเป็นอาหาร  มีส่วนผสม  ดังนี้ 
             -   เศษใบไม้ที่มีเชื้อจุลินทรีย์   จำนวน  1   กิโลกรัม 
              -  กากน้ำตาล   จำนวน  2   ช้อน  ผสมน้ำ  2  ลิตร
             -   รำอ่อน   จำนวน  5   กิโลกรัม

 วิธีการผสมอย่างง่ายๆ  คือ  นำเอารำอ่อน  เศษใบไม้ที่มีเชื้อจุลินทรีย์  และกากน้ำตาลที่ผสมน้ำแล้ว  มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน  แล้วจึงเอากระสอบป่าน  (หรือถุงปุ๋ย)  ห่อไว้ใต้ร่มไม้  ทิ้งระยะไว้ประมาณ  7  วัน

       
ภาพที่  80  คุณประทิน  ห้อยมาลา
แสดงผลการต่อขยายเชื้อจุลินทรีย์   


 
 เมื่อระยะเวลาผ่านไปได้ประมาณ  7  วันแล้ว  ลองเปิดห่อดูจึงจะพบว่า  มีเชื้อจุลินทรีย์สีขาวแพร่กระจายไปทั่ว  นักเรียนชาวนาบอกว่าอย่างนี้แหละที่เรียกกันว่า  “เชื้อเดิน”  นี่จึงเป็นการต่อขยายเชื้อหรือเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ให้ได้มีปริมาณมากขึ้น  โดยหาวัสดุมาเป็นอาหารให้จุลินทรีย์เกาะกินขยายตัวต่อไปเรื่อยๆ

               
ภาพที่  81  การต่อขยายเชื้อจุลินทรีย์โดยใช้รำอ่อนและกากน้ำตาล  ภาพที่  82  เชื้อจุลินทรีย์ที่เกาะตามก้อนรำอ่อนผสมกากน้ำตาล  

  

 นักเรียนชาวนาได้เชื้อจุลินทรีย์มาแล้ว  ซึ่งอุตส่าห์เดินทางขึ้นไปเก็บมาจากแหล่งน้ำตก       ไซเบอร์  แล้วก็ทำการขยายต่อเชื้อแล้ว  นักเรียนชาวนาจึงแบ่งเชื้อจุลินทรีย์ออกเป็น  2  ส่วน  ส่วนหนึ่งก็แบ่งส่วนเอาไว้ขยายเชื้อไปอีกเรื่อยๆ  และอีกส่วนหนึ่งก็นำไปใช้ประโยชน์  อาทิเช่น  นำไปทำน้ำหมักและฮอร์โมน  เป็นต้น

         
ภาพที่  84  เชื้อจุลินทรีย์ที่ต่อขยายเชื้อ
ด้วยฟางข้าวผสมกากน้ำตาล 
ภาพที่  83  คุณนิพนธ์  คล้ายพุก
แสดงผลการต่อขยายเชื้อจุลินทรีย์ 

 
 ในกรณีที่ใช้ฟางข้าวผสมกากน้ำตาลเป็นอาหารสำหรับต่อขยายเชื้อจุลินทรีย์  โดยที่เป็นการทดลองของคุณนิพนธ์  คล้ายพุก  นักเรียนชาวนาโรงเรียนชาวนาบ้านดอน  (ตำบลบ้านดอน  อำเภออู่ทอง  จังหวัดสุพรรณบุรี)  คุณนิพนธ์บอกว่า  อย่างไรสุดท้ายนักเรียนชาวนาก็จะนำเชื้อ        จุลินทรีย์ไปย่อยฟางในนาข้าว  ก็เลยคิดเอาฟางข้าวมาผสมกากน้ำตาลให้กลายเป็นอาหารสำหรับต่อเชื้อไปเลย  ซึ่งการทดลองในเบื้องต้นของคุณนิพนธ์ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ  เอาใจรอดูในระยะยาวว่าจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด  เป็นกำลังใจให้แก่ชาวนานักวิจัย
 และในกรณีที่ใช้ใบไผ่ผสมกากน้ำตาลเป็นอาหารในการต่อเชื้อจุลินทรีย์  เพราะตามบ้านและสวนทั่วไปในจังหวัดสุพรรณบุรีมักจะมีกอไผ่เป็นจำนวนมาก  ก็สามารถนำใบไผ่มาใช้ประโยชน์ได้
    
ภาพที่  85 – 86  ใช้ใบไผ่ผสมกากน้ำตาลเป็นอาหารในการต่อขยายเชื้อจุลินทรีย์  

  กล่าวถึงใบไผ่แล้ว  ก็ต้องมาเรียนรู้กับเรื่องของไม้ไผ่ด้วย  นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงไปแล้ว  เป็นการเพาะเชื้อจุลินทรีย์ท้องถิ่นจากปล้องไม้ไผ่  นักเรียนชาวนาจะต้องเลือก  ต้นไผ่ที่อยู่บริเวณตรงกลางป่าไผ่  เลือกแล้วตัดต้นไผ่ให้สูงจากพื้นประมาณ  10  เซนติเมตร  แต่งปากขอบกระบอกด้วยการตัดเฉียง  จากนั้นนำข้าวเหนียวนึ่งใส่ลงในกระบอก  ใส่ให้พูนขึ้นมาเหนือรอยตัด  ทั้งก็เพื่อให้ข้าวดูดซับน้ำเลี้ยงที่บริเวณรอยตัดปล้องไผ่  แล้วนำกล่องไม้บนครอบปากปล้องเป็นชั้นแรก  และนำใบไม้มาคลุมไว้ด้านบนเป็นชั้นที่  2  ตามมาด้วยการคลุมชั้นที่  3  ด้วยผ้าพลาสติก  เพื่อกันน้ำฝนซึมลงไป  อาจจะหาวัตถุที่มีน้ำหนักมาวางทับผ้าพลาสติกไม่ให้ลมพัดปลิวไป  รอเวลานานประมาณ  3 – 5  วัน  กลับมาเปิดดู  ก็จะพบว่า  ทั่วบริเวณจะเกิดมีจุดสีต่างๆ  อย่างเช่น  สีเหลือง  ขาว  ดำ  ซึ่งก็เป็นเชื้อราต่างๆเกิดขึ้น  จากนั้นจึงตัดปล้องไม้ไผ่ออกจากกอ  เทข้าวที่มีอยู่ในปล้องไม้ไผ่ใส่ในโอ่งดิน  เราๆท่านๆก็จะได้จุลินทรีย์ธรรมชาติที่มีอยู่ตามท้องถิ่น  เรียกว่า  ไอเอ็มโอ  1    ซึ่งสามารถนำมาผสมลงในกากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดง  ในอัตราส่วน  1  :  1  ก็จะได้จุลินทรีย์ธรรมชาติอีก  เรียกว่า  ไอเอ็มโอ  2  ให้ปิดโอ่งดินด้วยผ้าขาวบาง  มัดด้วยเชือก
 เรื่องจุลินทรีย์ในธรรมชาติยังมีอีกวิธีการเพาะเชื้ออีกอย่างหนึ่ง  ได้มาจากตอซังข้าว  โดยนำเอาข้าวกึ่งสุกกึ่งดิบมาใส่ในภาชนะขนาด  1  กิโลกรัม  แล้วใช้กระดาษขาวๆบางๆปิดปากภาชนะนั้นไว้  จากนั้นจึงนำไปวางคว่ำหน้าลงไปในตอซังข้าวที่ผ่านการเก็บเกี่ยวมาแล้ว  มีข้อระวังเล็กน้อยคือ  ไม่ควรวางลงในบริเวณพื้นนาที่แฉะจนเกินไป  ควรจะวางไว้ในบริเวณที่แห้งๆ  แล้วใช้ตอซังคลุมภาชนะใส่ข้าวนั้น  รอระยะเวลาสัก  3  วัน  ก็สามารถเก็บจุลินทรีย์มาเพาะขยาย  เพื่อนำไปใช้ในแปลงนา

           
ภาพที่  87  สาธิตการเพาะขยายเชื้อจุลินทรีย์จากตอซังข้าว    ภาพที่  88  เชื้อจุลินทรีย์ที่มาจากตอซังข้าว  

  เรื่องราวของจุลินทรีย์ยังไม่จบเพียงเท่านี้  เมื่อมีการนำเชื้อจุลินทรีย์ที่นักเรียนชาวนาเพาะเลี้ยงไปทำการศึกษาวิจัยในเบื้องต้น  โดยได้รับการช่วยเหลือทางวิชาการจากรองศาสตาจารย์  ดร.ก้าน  จันทร์พรหมมา  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  ได้เก็บตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์ที่เพาะเลี้ยงกับใบไม้จากโรงเรียนชาวนาวัดดาว  (อำเภอบางปลาม้า  จังหวัดสุพรรณบุรี) 
 ผลจากการศึกษาวิจัยในเบื้องต้นนั้น  พบว่า  มีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อการเกษตรชีวภาพ  ได้แก่  เชื้อราไตรโครเดอร์มา  ซึ่งสามารถปลดปล่อยสารที่เพิ่มการเจริญเติบโตของพืชและสร้างเชื้อจุลินทรีย์จากใบไผ่สามารถแยกจุลินทรีย์ได้หลายกลุ่ม โดยแยกเป็นเชื้อราและยีสต์  หลังจากความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง และความสามารถในการสร้างเอนไซม์ต่างๆอีกจำนวนมาก แบคทีเรียบาซีลัสและยีสต์ที่แยกได้ยังสามารถสร้างสารยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรียโรคพืชได้อีกด้วย  และหากนำใบไผ่ไปใช้ในแปลงปลูกพืชจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการปลูกพืชของเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นลดปัญหาด้านโรคพืช  และยังช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตได้อีกด้วย

               
 ภาพที่  89  นักเรียนชาวนาแลกเปลี่ยน
ความรู้กับ  รศ.ดร.ก้าน  จันทร์พรหมมา  เรื่องการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์   
ภาพที่  90  เรียนรู้จุลินทรีย์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของนักเรียนชาวนา  

               
ภาพที่  91 – 92  นำใบไผ่ที่ได้จากการเพาะขยายเชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5162เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2005 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท