คุ่มือวิทยากรกลุ่ม KM:Healthy Thais,Healthy Border,Healthy Thailand


KM:Healthy Thais,Healthy Border,Healthy Thailand

                    ในการจัดมหกรรมการจัดการความรู้ของ สสจ.ตากฯในครั้งนี้ ผมในฐานะคุณเอื้อ (CKO) และเป็นหัวหน้าทีมวิทยากร ได้จัดทำเอกสารเพื่อเป็นคู่มือให้แก่วิทยากรกลุ่มทุกคน  ดังต่อไปนี้

คู่มือวิทยากรกลุ่ม มหกรรมการจัดการความรู้สู่คนไทยแข็งแรง เมืองไทยแข็งแรงและสุขภาพชายแดนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก

ณ โรงแรมเวียงตากริเวอร์ไซต์

วันที่ 20-22 กันยายน 2549

บทบาทหน้าที่ของวิทยากรกลุ่ม

1.        สร้างความเข้าใจให้สมาชิกกลุ่มในกิจกรรมที่จะทำร่วมกัน

2.        สร้างความรู้สึกเป็นกันเอง ผ่อนคลายให้กับสมาชิกกลุ่ม

3.        ทำให้สมาชิกกลุ่มได้รู้จักกัน สนิทสนม ไว้ใจกัน รักกัน เข้าใจกัน

4.        กระตุ้นให้สมาชิกกลุ่ม ขุดเอาสิ่งดีๆที่ซ่อนอยู่ในตัวออกมาเล่า

5.        มีความอดทนและความมุ่งมั่นสูง ไม่ขี้บ่น

6.        จับประเด็น วิเคราะห์บรรยากาศทีมและองค์กร

กิจกรรมที่ดำเนินการในกลุ่ม

  1. ทำกิจกรรมทบทวนก่อนปฏิบัติ (Before Action Review: BAR) : ตอบคำถามที่ว่า ที่มาร่วมกลุ่มในครั้งนี้คาดหวังว่าจะได้อะไรหรืออยากจะได้อะไร
  2. กิจกรรมด้วยการค้นหาสิ่งดีรอบๆตัว (Appreciative Inquiry)
  3. ชี้แจงกิจกรรมต่างๆที่กลุ่มจะต้องปฏิบัติ กำหนดกติกาของกลุ่มในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แจ้งวิสัยทัศน์ความรู้ (Knowledge Vision) ที่กำหนดให้สมาชิกกลุ่มรับทราบ ซึ่งการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จะกำหนดประเด็นที่กว้างๆตามคุณสมบัติของสมาชิกกลุ่ม ใช้โมเดลปลาทูเป็นตัวแบบในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  4. ทำกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ให้สมาชิกกลุ่มได้รู้จัก รู้ใจ สนิทสนม คุ้นเคยกัน ไว้วางใจกัน เปิดใจเข้าหากัน
  5. ให้กลุ่มเลือกหัวหน้ากลุ่ม เลขานุการและคุณลิขิต (Note taker) ของกลุ่มตามสมัครใจและวิทยากรกลุ่มก็บันทึกขุมความรู้ที่ได้ไว้ด้วย
  6. กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมสุนทรียสนทนา (Dialogue) และเรื่องเล่าเร้าพลัง (Springboard story telling) ในการถอดความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ของสมาชิกในกลุ่ม เน้นให้ทุกคนได้พูดได้เล่าเรื่องในงานที่เขาภาคภูมิใจ  ชื่นชมหรือประสบความสำเร็จ หากมีใครคนใดคนหนึ่งผูกขาดการพูดมากเกินไป ควรหาวิธีหยุดอย่างเหมาะสมโดยการโยนคำถามให้คนอื่นได้ตอบ อย่าทำให้ผู้พูดรู้สึกถูกขัดจังหวะหรือถูกเบรกหรือเสียหน้า หากกลุ่มไม่ค่อยพูด วิทยากรกลุ่มต้องช่วยกระตุ้น ตั้งคำถามอย่างเหมาะสม  ไม่ทำให้สมาชิกกลุ่มรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ตอบ
  7. สรุปบทเรียนที่ได้จากการแลกเปลี่ยนของกลุ่มให้เป็นความรู้ชัดแจ้ง (Explicit knowledge) เป็นคลังความรู้
  8. ให้กลุ่มจัดทำแนวทางเพื่อเปรียบเทียบมาตรฐานปฏิบัติ (Benchmarking) กัน โดยใช้เครื่องมือชุดธารปัญญาด้วยการช่วยกันสร้างตารางอิสรภาพเพื่อจะได้ใช้ประเมินตนเอง (Self Assessment) เปรียบเทียบกัน ก่อนที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge sharing) ในครั้งต่อไป
  9. สรุปตารางอิสรภาพและเตรียมนำเสนอขุมทรัพย์ความรู้ (Knowledge Assets) ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนและตารางอิสรภาพที่ได้จากกลุ่ม รวมทั้งแผนที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในครั้งต่อๆไป รวบรวมเป็นเอกสารให้วิทยากรกลุ่มจัดส่งให้ทีมผู้จัด
  10. ทำกิจกรรมทบทวนหลังปฏิบัติ (After action review: AAR) ของแต่ละกลุ่ม
  11. นำเสนอขุมทรัพย์ความรู้และตารางอิสรภาพกลุ่มละ 8 นาที  ข้อเสนอแนะจากวิทยากรกลุ่มๆละ 2 นาที  

 ระยะเวลาในการทำกิจกรรม                กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เริ่มตั้งแต่ 9.00 น. ในวันแรกจนถึง 14.00 น.ของวันที่สอง รวมทั้งสิ้น 8 ชั่วโมง โดยทุกกลุ่มพร้อมกันในห้องประชุมรวม 14.00 น. เพื่อนำเสนอผลงานกลุ่ม วิทยากรกลุ่มต้องบริหารเวลาให้สามารถดำเนินกิจกรรมกลุ่มได้ครบทั้ง 11 กิจกรรมข้างต้น

กิจกรรมทบทวนหลังปฏิบัติ                ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนได้เขียนตอบคำถาม 4 ข้อ และหากมีเวลาควรให้พูดด้วย ดังนี้

1.        ได้ตามความคาดหวังหรือไม่ เพราะอะไร

2.        ยังไม่ได้ตามความคาดหวังคืออะไร

3.        เทคนิค เคล็ดลับดีๆ ของเพื่อนที่เราจะเอาไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของเราได้

4.        การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งต่อไป  ควรจะมีรูปแบบอย่างไร ผู้เข้าร่วมควรเป็นใคร เรื่องอะไร ตั้งCoPได้ไหม

กิจกรรมเรื่องเล่าเร้าพลัง               

สมาชิกกลุ่ม

1.        แบ่งกลุ่มคละ เพื่อความหลากหลาย

2.        เล่าความภาคภูมิใจ/เทคนิค/เคล็ดลับในการทำงานของตนเองที่เคยทำมาแล้ว  ความภาคภูมิใจ/เคล็ดลับอะไร วิธีการ

3.        กลุ่มช่วยกันสรุปว่าจากที่แต่ละคนเล่ามามีส่วน   ที่เหมือนกัน ต่างกัน อะไรบ้าง               

ผู้เล่า

1.        เล่าให้น่าสนใจ น่าจดจำ

2.        เล่าตามความเป็นจริง

3.        เล่าความสำเร็จ ความภูมิใจ ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายของกิจกรรม 

4.        เล่าให้เห็นตัวละคร เห็นพฤติกรรม การกระทำ บริบท

5.        ไม่ตีความ

6.        แสดงออกมาในหน้าตา แววตา ท่าทาง น้ำเสียง อุปมาอุปไมย               

ผู้ฟัง

  1. เส้นทางสู่ความภาคภูมิใจ ทำอย่างไร
  2. ฟังอย่างตั้งใจ
  3. อย่าด่วนสรุป
  4. พยายามจับเนื้อหาสาระที่ผู้เล่าต้องการสื่อสาร
  5. ถามอย่างชื่นชม เพื่อเข้าใจมากขึ้น

กิจกรรมสุนทรียสนทนา               

               เป็นการเลื่อนไหลของความหมาย... ไปสู่อะไรบางอย่าง  เราเองก็ยังไม่รู้... ว่ามันคืออะไร ถ้ารู้... ก็ไม่ใช่ dialogue  สิ่งที่ทำได้... ก็คืออย่าไป “block” มันทั้งภายนอก (block คนอื่น) และภายใน (block ความคิดตนเอง)เพราะมันเป็นการสนทนาที่ต้องระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา  เป็นการฝึกฟังอย่างตั้งใจ (attentive listening)ฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) ได้ยินเสียงที่พูดออกไป ได้ยินเสียงที่อยู่ภายใน

                  หลักง่ายๆที่ใช้ในการทำ Dialogue

  1. พูด ออกมาจากใจ ไม่ใช่จากการจำ ทำให้เป็นธรรมชาติ เป็นปัจจุบัน ไม่ต้องเสแสร้ง แกล้งทำให้ดูดี
  2. ฟัง อย่างตั้งใจ ไม่คิดหาคำตอบ ไม่ต้องตอบโต้ ไม่ตัดสินประเด็นความ ไม่ตัดสินผู้อื่น
  3. เคารพ ความแตกต่าง ให้ความเท่าเทียม ไม่เอาเรื่องคุณวุฒิวัยวุฒิ หรือตำแหน่งมาขวางกั้น

คุณลิขิต : จดอะไรบ้าง

         เรื่องเล่าย่อๆ ไม่ต้องจดทุกคำพูด แต่ก็ไม่ย่อจนสั้นเกินไป

         ชื่อ เบอร์โทร เจ้าของเรื่องเล่า

         ชื่อคน ที่มีการกล่าวถึงในเรื่องเล่า

         เคล็ดลับ/เทคนิค/ประเด็นสำคัญจากเรื่องเล่า

เครื่องมือชุดธารปัญญา

1. ตารางแห่งอิสรภาพ  เป็นตารางที่แสดงขีดความสามารถหลักในด้านต่างๆและช่องคะแนนประเมินในระดับตั้งแต่ 1(พื้นฐาน)ถึง5(ดีเยี่ยม)

2.  แผนภูมิแม่น้ำ(River diagram) นำตารางอิสรภาพของแต่ละองค์การที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ประเมินขีดความสามารถไว้โดยนำค่าระดับจุดเป็นเส้นกราฟเพื่อสร้างเป็นแผนภูมิแม่น้ำ โดยให้แกนนอน(x)เป็นแกนที่ระบุขีดความสามารถหลัก  แกนตั้ง(Y)เป็นแกนที่แสดงค่าระดับจาก 1-5

3. แผนภูมิขั้นบันได(Stair diagram)มีบทบาทต่อการจัดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้มาก โดยแกนตั้งเป็นค่าระดับ 1-5 ส่วนแกนนอนเป็นตัวแสดงค่าช่องว่าง จะมีกลุ่มพร้อมให้และกลุ่มใฝ่รู้

4. ขุมความรู้(Knowledge assets) เก็บรวบรวมสิ่งที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3 ส่วนสำคัญคือประเด็นหลักๆ,เรื่องเล่า,ส่วนที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

5. พื้นที่ประเทืองปัญญา เปิดเวทีให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้นไม่ติดขัดทางด้านเวลาและระยะทาง

การกำหนดปัจจัยแห่งความสำเร็จในตารางอิสรภาพ

1.        กำหนดจากขั้นตอนหรือกระบวนการในการทำงานหรือกิจกรรม(Process/Activities) 

2.        กำหนดจากปัจจัยนำเข้าที่ใช้ในการทำงาน(Input)

3.        กำหนดจากผลลัพธ์ของความสำเร็จ(Results)

4.        กำหนดจากขีดความสามารถที่จะปฏิบัติงานนั้นๆให้สำเร็จ(Competency)

ตัวอย่างเช่น

การให้บริการห้องสมุดอย่างมีคุณภาพ: Input

1.        จำนวนบรรณารักษ์

2.        คุณลักษณะของบรรณารักษ์

3.        บริเวณหรือห้องให้บริการ

4.        ประเภทและจำนวนของหนังสือและสื่อต่างๆ

5.        งบประมาณที่ใช้ในการทำงาน

6.        อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานหรือเครื่องมือต่างๆ

การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน: Process

 

1.        การจัดทำบัตรและรับเข้าสู่บริการ

2.        การตรวจประเมินเบื้องต้นก่อนพบแพทย์

3.        การตรวจค่าน้ำตาลในเลือด

4.        การรักษาและการจ่ายยา

5.        การแนะนำเรื่องการรับประทานยาและการปฏิบัติตัว

6.        การตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง

การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน: Result

 1.        การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระดับปกติ

2.        การเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน

3.        ความพึงพอใจของผู้ป่วยที่มาระบบริการ

4.        ความร่วมมือในการรักษา

5.        การปฏิบัติตัวหรือพฤติกรรมสุขภาพเหมาะสม

การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน: Competency

 1.        การให้การวินิจฉัยโรค

2.        การให้สุขศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

3.        การรักษาอย่างเหมาะสมกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น

4.        การสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ

5.        พฤติกรรมบริการที่ดี

การกำหนดระดับคะแนนในการประเมินตามตารางอิสรภาพ

                กำหนดได้ทั้งตัววัดเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เช่น

  1. อัตราความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ใช้Resultและตัวชี้วัดเชิงปริมาณ

1 = อัตราความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ร้อยละ 50หรือน้อยกว่า

2 = อัตราความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ร้อยละ 60

3 = อัตราความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ร้อยละ70

4 = อัตราความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ร้อยละ 80

5 = อัตราความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ร้อยละ 90หรือมากกว่า

           2.   การป้องกันและเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล ใช้Activities และตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ

1 = มีแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล มีระบบการเก็บข้อมูลการติดเชื้อในหน่วยงาน

2 = มีกรรมการIC, มีICN, ระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสมและเป็นไปในทางเดียวกัน มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลเดียวกัน

3 = มีการนำเอาข้อมูลที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์หาสาเหตุและวางแผนแก้ไข และมีการปฏิบัติตามาตรการที่กำหนด

4 = มีการประเมินผลของประสิทธิภาพของการป้องกัน

5 = มีการเชื่อมโยงการป้องกันการติดเชื้อกับระบบอื่นๆในโรงพยาบาล

                แนวทางการกำหนดระดับคะแนนอาจเริ่มที่สูงสุด(5)ก่อนแล้วลดลงมาเรื่อยๆจนถึง 1 หรือเริ่มจากต่ำสุด(1)ก่อนแล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึง 5 หรืออาจเริ่มจากที่ระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับที่ยอมรับได้เบื้องต้นหรือเป็นค่าเฉลี่ยหรือเป็นค่าปกติหรือเป็นค่ามาตรฐานที่ยอมรับกันหรือเป็นค่าเป้าหมายขั้นต่ำที่ผ่านเกณฑ์ แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเป็น4-5และลดลงเป็น 2-1

ชุมชนแนวปฏิบัติหรือก๊วนคุณกิจหรือCommunity of practice (CoP)
  1. Domain มีหัวเรื่องที่ร่วมกันกำหนดขึ้น เป็นวิสัยทัศน์ความรู้หรือประเด็นร่วมกัน
  2. Community มีการรวมกลุ่มมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างสม่ำเสมอ
  3. Practice  มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อยกระดับการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นในเรื่องนั้นๆ
หมายเลขบันทึก: 51616เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2006 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • มาทักทายคุณหมอ
  • ทำไมหายไปนานมาก
  • คิดถึง
  • อยากอ่านอีก
  • ตามมาดูบล็อกของคุณหมอนักพัฒนาะครับ
  • ดีมากเลยพี่

คุณหมอเก่งจังเลย

มีโอกาสจะเชิญมาเป็นวิทยากรนะคะ

เพราะว่าตอนนี้กำลังเขียนโครงการอยู่

ขอโทษค่ะ ลืมแนะนำตัว

พอดีทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน HA ของโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศษสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ค่ะ

ก็เลยต้องหาข้อมูล อ่านแล้วได้แนวคืดดีค่ะ

แล้วจะตามมาอ่านเรื่อยๆนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท