rotiboy(รอตตี้บอย) ชื่อนี้มาจากความหอมอร่อยจากต่างแดน


เราสามารถนำข้อเท็จจริงในเรื่อง rotiboy มาเป็นกรณีตัวอย่างในการศีกษากฎหมายในเรื่องต่าง ๆ เช่นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

ปรากฎการณ์ของการเข้าแถวอันยาวเหยียดเพื่อรอซื้อของใน สยามสแควร์ซอย 4ในช่วงเวลาเกีอบปีที่ผ่านมา    เป็นเหตุการณ์ที่ดึงดูดสายตาของผู้ที่ผ่านไปผ่านมาเป็นอย่างมากว่า  พวกเขาเหล่านั้นยืนต่อแถวเพื่อซื้ออะไร     มีการลดแลกแจกแถมสินค้าใดหรือ?

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น   ทำให้ผู้เขียนได้เข้าไปสอบถามผู้ที่กำลังเข้าแถวรอและได้ความว่า  พวกเขากำลังรอซื้อขนมปังอบก้อนที่มีกลิ่นกาแฟหอมกรุ่นจากร้านrotiboy ซึ่งเป็นร้านที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านของเรา  และทำให้ผู้เขียนต้องต่อแถวเพื่อขอลองรสชาติของขนมปังอบดังกล่าว   และเมื่อได้ลองลิ้มชิมรส  ก็ต้องยอมรับว่าของเขาอร่อยจริง ๆ

ด้วยความสนใจ  ทำให้ผู้เขียนได้ลองเข้าไปค้นหาประวัติของrotiboy ทำให้ทราบว่าเป็นของนักธุรกิจชาวมาเลเซียที่ชื่อ    ฮิโร  ตัน ( HIRO  TAN) ซึ่งเริ่มทำธุรกิจขายขนมชนิดนี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ 2541  แต่ได้เริ่มมาใช้ชื่อว่า rotiboy นี้ในปี พ.ศ 2545  และด้วยความอร่อยของขนมปังอบก้อนที่มีรสชาติกลมกล่อมที่หอมกรุ่นไปด้วยกลิ่นของกาแฟ   จึงส่งผลให้ขนมชนิดนี้ภายใต้เครื่องหมายการค้า rotiboy  มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายของประชาชนในเวลาอันรวดเร็ว  และทำให้ชาวต่างชาติซึ่งรวมทั้งนักธุรกิจชาวไทยได้พากันมาสมัครเป็นสมาชิกในระบบแฟรนไชส์จากนักธุรกิจผู้นี้  และมีการเปิดร้านrotiboy  ในประเทศไทยในเวลาต่อมาและก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากจากคนไทย  จนทำให้ HIRO  TAN ได้เข้าจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยเพื่อควบคุมดูแลและจัดหาวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย

ผู้เขียนเห็นว่า  เราสามารถนำข้อเท็จจริงในเรื่องของ rotiboy นี้มาเป็นตัวอย่างในการศึกษากฎหมาย  ซึ่งเราจะพบว่ามีกฎหมายต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องมากมายเช่น กฏหมายที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว  กฎหมายที่เกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว  กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและรวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลด้วย  ดังที่จะได้นำเสนอแง่มุมดังต่อไปนี้คือ

  การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

จากการนำเสนอข่าว ผ่านทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 ทำให้ทราบว่าHIRO  TAN  ชาวมาเลเซียได้เข้าจัดตั้งบริษัท รอตตี้บอย  เบคช้อปป์ จำกัด  ในประเทศไทย เพื่อดูแลการผลิตวัตถุดิบที่จะใช้ทำขนมและเพื่อดูแลการขยายการผลิต  และเพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศมาเลเซีย  รวมทั้งเข้ามาจัดตั้งโรงงานในย่านรามอินทรา  อีกทั้งเพื่อควบคุมคุณภาพของสินค้า   แต่เนื่องจากบริษัทที่จัดตั้งขึ้นนั้นเป็นบริษัทที่ร่วมทุนกับคนสัญชาติไทย ทำให้บริษัทนี้เป็นบริษัทไทยและไม่ตกอยู่ภายใต้  พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ 2542

    การทำงานของคนต่างด้าว

HIRO  TAN  ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ  ของบริษัทดังกล่าว  ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย  ซึ่งหากเขาประสงค์จะเข้ามาบริหารงานด้วยตนเอง  ย่อมหมายความว่าเขาประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย และต้องไดร้บใบอนุญาตให้ทำงาน(work  permit) จากกระทรวงแรงงานฯ  อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ 2521

  ทรัพย์สินทางปัญญา

1 เครื่องหมายการค้า

ชื่อ rotiboy ที่ใช้เป็นที่หมายในการสังเกตุจดจำถึงสินค้าขนมปังอบก้อนกลมที่มีรสอร่อยนี้ มีลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้า  ซึ่งHIRO  TAN  แห่งบริษัท  เอนด์เลสส์  อินสไปเรชั่น  เอสอีเอ็น  บีเอชดี  จากประเทศมาเลเซีย    ก็ได้นำเครื่องหมายการค้า rotiboy   นี้เข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ตามคำขอ/ทะเบียนเลขที่ 539458/ค219661 ทำให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า  พ.ศ 2534 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ 2543

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  ทำให้เห็นได้ว่ากฎหมายเครื่องหมายการค้าของไทย  ไม่ได้มีข้อห้ามบุคคลหรือนิติบุคคลต่างด้าวเข้ามาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย หรือกล่าวได้ว่าความเป็นต่างด้าวไม่ได้เป็นอุปสรรคในการขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ในประเทศไทย  เพียงแต่มีเงื่อนไขบางประการที่จะต้องปฎิบัติตาม  ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 10  ที่กำหนดว่า เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้นั้น  ผู้ขอจดทะเบียนหรือตัวแทน  ต้องมีสำนักงานหรือสถานที่ที่นายทะเบียนสามารถติดต่อได้ตั้งอยู่ในประเทศไทย   หรือเราอาจเรียกโดยย่อว่าต้องมีสถานที่ส่งบัตรหมายในประเทศไทย  ซึ่งในกรณีนี้สามารถทำได้โดยแต่งตั้งคนหรือนิติบุคคลในประเทศไทยให้เป็นตัวแทนในการดำเนินการและเป็นที่ในการติดต่อ  ก็สามารถแก้ไขข้อจำกัดอันนี้แล้ว

นอกจากนี้  หากประเทศไทยได้บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา  ซึ่งมีเรื่องของการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าเสียงและกลิ่น  ในแบบที่สหรัฐฯได้ทำก้บประเทศสิงคโปร์และชิลี   อันทำให้ประเทศไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ายุคใหม่นี้  และหากกลิ่นอันหอมกรุ่นของ rotiboy   สามารถผ่านเงื่อนไขที่จะออกมาเหล่านั้น  ไม่แน่ว่าเราอาจจะมีเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่นของrotiboy ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ก็อาจที่จะเป็นไปได้

2 ระบบธุรกิจแฟรนไชส์

จากให้สัมภาษณ์ของคุณพรเพ็ญ  อังควานิช ผ่านทางนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17  มีนาคม  2549   ทำให้ทราบว่าเธอเป็นคนไทยรายแรก ๆ ที่ได้เข้าไปติดต่อขอแฟรนไชส์ rotiboy เพื่อเข้ามาเปิดร้านในประเทศไทยในบริเวณสยามสแควร์  ซอย 4

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้ทราบว่ามีการนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ประโยชน์อีกวิธีหนึ่งด้วยและเป็นสัญญาแฟรนไชส์ที่ทำขึ้นระหว่างคนสัญชาติมาเลกับคนสัญชาติไทย  ทำให้นิติสัมพันธ์ของเอกชนนี้มีลักษณะระหว่างประเทศ กล่าวคือนิติสัมพันธ์นี้ไม่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐใดรัฐหนึ่งที่เกี่ยวข้อง  แต่จะตกอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐทุกรัฐที่เกี่ยวข้องและทำให้ลักษณะดังกล่าวตกอยู่ภายใต้กฎหมายขัดกันหรือกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

จากตัวอย่างกรณีศึกษาดังกล่าว  ทำให้เห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้มีการติดต่อทำการค้าในลักษณะระหว่างประเทศกันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นกรณีของคนต่างด้าวที่เข้าประกอบธุรกิจหรือลงทุนหรือเข้ามาทำงานในประเทศไทย   หรือในกรณีที่คนไทยได้ออกไปลงทุนหรือทำงานในต่างประเทศ   ทำให้บทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล   มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น  และจำเป็นอย่างยิ่งที่นักกฎหมายในยุคปัจจุบันต้องเรียนรู้หรือศึกษากฎหมายนี้อย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะสามารถนำมาใช้แก้ไปปั้ญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับสังคมและธุรกิจระหว่างประเทศ

หมายเลขบันทึก: 51513เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2006 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
หลังจากอ่านงานชิ้นนี้จบก็รู้สึกหิวขึ้นมาทันที ใครรู้สึกแบบนี้บ้างคะยกมือหน่อย

ใจตรงกันค่ะอัมรินทร์ อ.ว่าจะวิเคราะห์เรื่องของ Roti Boy ในครั้งหน้า

ฮิฮิ ต้องหาใหม่ แต่ก็ดีค่ะ วิเคราะห์ดีมากค่ะ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่ได้กรุณาติชมผลงาน  และขอขอบคุณน้องไหมที่ได้เข้ามาเยี่ยมเยียนและทักทายครับ
เคยมีประสบการณ์ไปต่อแถวมาเหมือนกันค่ะ ตอนนั้นก็งงตัวเองเหมือนกันว่าอดทนได้อย่างไรชั่วโมงกว่า คงเป็นเหตุผลที่ขนมย่อมอร่อยกว่าปกติแน่ๆ เพราะรอนานจนหิว ^_^ น่าเสียดายที่เป็นต้นคิดจากต่างประเทศ ถ้ามีการต่อคิวซื้ขนมลูกชุบหรือทองหยิบทองหยอดบ้าง ก็คงจะดีนะคะ
มันเลี้ยนไปหน่อย ก็อร่อยดี แต่กินมากอ้วนแน่นอน

สิ่งที่วัชรชัยเสนอ ก็เป็นประเด็นที่นักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคสนใจมากค่ะ ถือเป็น "ความรับผิดชอบของผู้ผลิตสินค้าต่อผู้บริโภค"

แต่ประเด็นที่น่าสนใจนะคะ ถ้ามีการฟ้องนะ จะฟ้องใครบ้างเนี่ย ? ฟ้องผู้ผลิตภายใต้ Franchise เท่านั้นหรือฟ้องถึงเจ้าของ Franchise อีกด้วย ?

นอกจากนั้น ถ้า สสส.มาผลักดันการห้ามขานขนมปังที่ให้ไขมันสูง เหมือนห้ามขายขนมหวานให้แก่เด็กในโรงเรียนนะคะ มันจะเป็นอย่างไร ? ในแง่กฎหมายไทย ทำได้ไหม ? ในแง่กฎหมายระหว่างประเทศ ทำได้ไหม ?

ผมมีประเด็นที่จะอยากนำเสนอในเรื่องนี้ คือ

การพุ่งเป้าในการพิจารณาเฉพาะสินค้าอาหารบางอย่างเท่านั้น  เป็นการเลือกปฎิบัติหรือไม่? เพราะเท่าที่ทราบอาหารที่เรารับประทานกันอยู่บ่อย ๆ  เช่น  ข้าวขาหมู   พิซซ่า  โรตียุคโบราณ ฯลฯ  ก็มีปริมาณไขมันสูงไม่ใช่น้อย

อีกทั้งการยินยอมเข้าแถวกันเป็นชั่วโมง  เพื่อซื้นขนมปังชนิดนี้   ก็เป็นการสมัครใจของผู้ซื้อ จึงจะไปเข้าหลักการที่ว่า  ความยินยอมไม่เป็นละเมิดหรือไม่?

มาทักทายนะค่ะ วิเคราะห์ดีมากค่ะ

  (แต่ก็ชอบทานมากค่ะ เนื่องกลิ่นชวนทานมากค่ะ

ที่แถวFuture Park ไม่รุ่งเลยค่ะ  ใครว่าอร่อย ทานแล้วอ้วน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท