เงินเดือน 13,300-15,000, ท้อแท้เลื่อนขั้น-เกณฑ์


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  2  เรื่อง ดังนี้

         1.วันที่ 28 ธ.ค.55 คุณนันทิตา ทองโสภา จนท.หสม.อ.พนา ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  เห็นมีคนโพสในเว็บบอร์ด สพร.กศน. ว่าครู ศรช. จะได้เงินเดือนขึ้นอีกเป็นเดือนละ 13,000 บาทนั้นจริงหรือเปล่าแล้วบรรณารักษ์ห้องสมุดที่เป็นอัตราจ้างจะได้ขึ้นเงินเดือนกับเขาบ้างไหม เห็นมีการสำรวจลูกจ้างเหมาต่าง ๆ ของหน่วยงานว่าจะปรับค่าครองชีพให้คนที่จบปริญญาตรีให้ครอบคลุมนั้น มีแนวโน้มจะได้ไหม เรื่องถึงไหนแล้ว   แล้วเรื่องเปิดสอบก็เห็นเงียบไปเลย

 

            ผมตอบว่า 
            1)  เป็นแผนการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือนของรัฐบาล โดย  เฉพาะเงินเดือนไม่รวมค่าครองชีพ เป็นดังนี้

                 - 1 ม.ค.55 = 11,680 บาท
                 - 1 ม.ค.56 = 13,300 บาท
                 - 1 ม.ค.57 = 15,000 บาท
                 แต่ครู ศรช. ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือน ถึงแม้จะอิงเงินเดือนข้าราชการพลเรือนก็คงจะไม่ได้ปรับเป็น 13,000 บาท ในเดือน ม.ค.56 นี้หรอก เพราะเบิกจากเงินอุดหนุนรายหัวนักศึกษาถ้าขึ้นเงินเดือนอาจมีปัญหาเงินไม่พอ ตอนที่ขึ้นเป็น 11,680 บาทก็ยังต้องให้หานักศึกษาเพิ่มเป็น 70 คน  บางแห่งต้องบีบให้ครู ศรช.ลาออกแล้ว เพราะนักศึกษาน้อยเงินไม่พอ  งบประมาณเงินอุดหนุนปี 2556 ไม่ได้มาเพิ่มอีก  ( ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือน เมื่อปรับเพิ่มเงินเดือน ก็ปรับลดค่าครองชีพ ข้าราชการพลเรือนได้ 15,000 บาทเท่าเดิม รัฐบาลไม่ต้องเพิ่มเงิน )

 

             2)  เรื่องการสำรวจลูกจ้างเหมาของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มค่าครองชีพนั้นคงต้องรอการพิจารณาของ ครม. ผมไม่ทราบแนวโน้มว่าจะได้หรือไม่อย่างไร

 

             3)  เรื่องเปิดสอบ หมายถึงสอบบรรจุข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ใช่ไหม อาจจะเปิดสอบประมาณ ธ.ค.56

         2. คืนวันเสาร์ที่ 29 ธ.ค.55 คุณ Chaniga Kaewsameota ครู กศน.ตำบล จ.เพชรบูรณ์ ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  พนักงานราชการที่ลาคลอด มีสิทธิได้รับการประเมินและได้รับการปรับเงินเดือนเต็มหรือเกิน 5 เปอร์เซ็นหรือไม่อย่างไร และมีมาตรฐานการวัดและประเมินพนักงานราชการของ กศน.อย่างไรบ้าง เพราะคนทำงานเค้าท้อแท้กันหมดแล้ว

 

            ผมร่วมตอบ ว่า  การประเมินมีหลักเกณฑ์และแบบประเมิน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการประเมินแบบใดก็ย่อมจะมีทั้งข้อดีข้อเสีย ( เช่นเดียวกับการสอบบรรจุที่ไม่ให้มีสอบสัมภาษณ์ บางคนก็บอกว่ามีทั้งข้อดีข้อเสีย เมื่อ รมว.สุชาติออกไป ก็มีความพยายามจะนำการสอบสัมภาษณ์กลับมาอีก แต่ละคนคิดต่างกัน ไม่มีวิธีใดที่ถูกใจทุกคน ) และ ผลการประเมินก็ย่อมจะมีทั้งคนที่ผิดหวังและสมหวังมากน้อยแตกต่างกันนะครับ
           ( ผู้ที่จะได้รับการเพิ่มค่าตอบแทนต้องผ่านเกณฑ์ โดยเพิ่มค่าตอบแทนได้ไม่เกิน 6 % )

           เกณฑ์ที่จะได้รับการเพิ่มค่าตอบแทนของพนักงานราชการ
          1)  มีระยะเวลาปฏิบัติงานในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 8 เดือน นับถึง วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555
          2)  มีคะแนนเฉลี่ยของผลการประเมินผลการปฏิบัติงาน 2 ครั้งในปี 2555 ตั้งแต่ระดับดีขึ้นไป
          3)  ได้รับการต่อสัญญาจ้างแล้ว
          4)  ไม่ถูกลงโทษทางวินัยที่หนักกว่าโทษภาคทัณฑ์
          5)  ไม่ถูกศาลพิพากษาในคดีอาญาให้ลงโทษในความผิดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการหรือความผิดที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน ซึ่งมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
          6)  รอบปีที่แล้วมาไม่ถูกสั่งพักราชการเกินกว่า 4 เดือน
          7)  รอบปีที่แล้วมาไม่ขาดราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร แม้แต่ครั้งเดียว
          8)  รอบปีที่แล้วมาได้รับการจ้างงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 เดือน ( บรรจุในตำแหน่งปัจจุบัน ไม่หลัง 1 ก.พ.55 )
          9)  รอบปีที่แล้วมาต้องไม่ลาป่วยและลากิจส่วนตัวเกินกว่า 16 ครั้ง
        10)  รอบปีที่แล้วมาต้องไม่ลาป่วยและลากิจส่วนตัว เกิน 40 วันทำการ
        11)  รอบปีที่แล้วมาต้องไม่มาทำงานสายเกินกว่า 18 ครั้ง

 

          เกณฑ์มี 11 ข้อแค่นี้ ลาคลอดก็รวมอยู่ในเกณฑ์ข้อ 1 ถ้าลาคลอดแล้วรวมทั้งปีมีระยะเวลาปฏิบัติงานไม่ครบ 8 เดือนก็ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้เพิ่มค่าตอบแทน ( ไม่ได้เพิ่มเลยไม่ใช่แค่เพิ่มไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ )  ส่วนที่จะได้กี่เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ผลการประเมินฯ ซึ่งการลาคลอดนานอาจจะทำให้มีผลการปฏิบัติงานน้อยลง ส่งผลให้คะแนนประเมินฯลดลง และเปอร์เซ็นต์การเพิ่มค่าตอบแทนน้อยลงก็เป็นได้
          อย่างไรก็ตาม ถ้าตำแหน่งเดียวกันอำเภอเดียวกัน คะแนนผลการประเมินเท่ากันต้องได้เปอร์เซ็นต์เพิ่มค่าตอบแทนเท่ากัน คนที่คะแนนสูงกว่าจะได้เปอร์เซ็นต์เพิ่มค่าตอบแทนต่ำกว่าไม่ได้ถ้าตำแหน่งเดียวกันอำเภอเดียวกันนะ จะนำคะแนนไปเปรียบเทียบกับอำเภออื่นไม่ได้

 

          ( ไม่ทราบว่ามีอำเภอ/จังหวัดใด เพิ่มค่าตอบแทนโดยไม่ดูเกณฑ์นี้หรือไม่ )

 

หมายเลขบันทึก: 514905เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2013 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2013 06:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 .... ต้อง "ทำใจ" ... นะคะ ท่านอาจารย์ 

ดีจังเลยค่ะ ชัดเจนมาก เรื่องแบบนี้นับเป็นขวัญกำลังใจที่แท้จริงของคนวัยทำงาน

ปัญหาต่างๆจะหมดไปถ้าหัวใจบอกว่า "ให้"ขอบคุณมากค่ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท