ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

เปลี่ยนยุคให้นักเรียนนั่งสมาธิบังคับหลับตา มาฝึกสมาธิด้วยกิจกรรมประดิษฐ์ของเหลือใช้


การสร้างสมาธิไม่จำเป็นต้องนั่งทำสมาธิ การทำสมาธิ คือ ทำอะไรก็ได้ที่มีจิตมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง หรือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่


ครูชัยภูมิฝึกนักเรียนแนวใหม่

ประดิษฐ์ของเหลือใช้ได้สมาธิ

ครูเมืองดอกกระเจียวค้นพบวิธีสร้างเด็กให้มีสมาธิในการเรียน ให้ลูกศิษย์ใช้เวลาสั้นๆก่อนเคารพธงชาติ ประดิษฐ์สิ่งของเหลือใช้ ส่งผลให้เด็กไม่เบื่อหน่าย สานสัมพันธ์สร้างสามัคคีในหมู่คณะ เกิดทักษะนำไปประกอบวิชาชีพในภายหน้าได้

    ทุกวันนี้สิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเรียนขาดสมาธิในการเรียน แต่การที่ครูบังคับให้เด็กนั่งหลับตาทำสมาธิกลับกลายเป็นการสร้างความเบื่อหน่ายให้แก่นักเรียนยิ่งขึ้นไปอีก แต่ที่โรงเรียนวังใหม่พัฒนา ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะคุณครูได้นำเอางานประดิษฐ์ของเหลือใช้ให้นักเรียนได้ฝึกทำแทนการทำสมาธิแบบเดิม


ครูประภาภรณ์ สงคราม แห่งโรงเรียนวังใหม่พัฒนา เปิดเผยว่าว่าการสร้างสมาธิไม่จำเป็นต้องนั่งทำสมาธิ การทำสมาธิ คือ ทำอะไรก็ได้ที่มีจิตมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่อง หรือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ ไม่ว่าจะเป็น สมาธิในการพูด การหายใจ การนั่ง การยืน การทำกิจกรรมทุกอย่าง ทุกอย่างทำสมาธิได้หมด อยู่ที่ว่าจะนำมาใช้อย่างไร และการมีสมาธิถือเป็นเกราะป้องกันของชีวิตอีกด้วย จึงได้คิดโครงงาน“ประดิษฐ์จิตสร้างสมาธิ”ขึ้นซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมทักษะชีวิต ระดับมัธยมศึกษา ประจำปี 2554 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)

  คุณครูประภาภรณ์เปิดเผยอีกว่า โครงการงานประดิษฐ์จิตสร้างสมาธิที่ให้นักเรียนทำนั้น ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ได้แก่ การประดิษฐ์ดอกไม้โปรยทาน โคมไฟ ดอกไม้ใยบัว ถักโครเชต์ และดอกไม้จากเศษวัสดุ สำหรับเด็กมัธยมต้น ทั้งหมดจำนวน 93 คน โดยใช้เวลาทุกเช้า 15 นาที ก่อนเคารพธงชาติ ในการนั่งทำงานประดิษฐ์ของตัวเอง

“ตอนเช้าเราบอกให้เด็กสงบนิ่งหลังเคารพธงชาติ เด็กก็รู้สึกน่าเบื่อ แต่งานประดิษฐ์จิตสร้างสมาธินี้ขึ้นมา เกิดการสร้างสมาธิโดยที่เขาไม่รู้ตัวแล้วรู้สึกชอบ ดีกว่านั่งหลับตา ความน่าสนใจก็เยอะกว่าการนั่งสมาธิ สิ่งไหนขึ้นตอนไหนทำไม่ได้ก็จะถามเพื่อน พี่ น้อง เกิดกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันกัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี” ครูประภาภรณ์กล่าว


  คุณครูเจ้าของความคิดเล่าว่า นักเรียนทุกคนต้องมีงานประดิษฐ์เป็นของตัวเอง โดยแต่ละเดือนจะให้เด็กทำงานประดิษฐ์ที่เราตั้งเลือกไว้ให้แบบเดียวกันหมด เช่นเดือนนี้ทำโคมไฟ ก็จะให้เด็กทำโคมไฟทั้งหมด ส่วนรูปแบบและลวดลายนั้นเด็กสามารถออกแบบได้เอง งานประดิษฐ์บางชิ้นที่ทำร่วมกันเด็กก็จะแบ่งหน้าที่กันทำก่อนจะนำมาประกอบด้วยกัน

  “การทำสมาธิไม่ใช่ว่าเราจะได้ผลปุ๊บปั๊บ คนทำเท่านั้นจะรู้เอง  ต้องใช้เวลา เริ่มจากนิดๆ หน่อย จนเกิดความเป็นสมาธิ ตั้งใจทำงาน และอย่างน้อยก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กให้ดีขึ้น เพราะเด็กรู้จักระบบระเบียบการทำงาน เด็กเกเรบางคนคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ พอลองมาทำก็ทำได้ เด็กผู้ชายบางคนถักโครเชต์งานประณีตกว่าเด็กผู้หญิงเสียอีก บางครั้งก็ต้องลงมือทำก่อน ชอบไม่ชอบค่อยว่ากันอีก”คุณครูประภาภรณ์ กล่าว


ครูประภาภรณ์ยังเห็นว่างานประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มวิชาการงานอาชีพ เป็นการหยิบการงานอาชีพเรื่องหนึ่งขึ้นมาให้เด็กทำ ให้เด็กทำทุกวัน ไม่ใช่จะต้องทำในชั่วโมงเรียนการงานอาชีพเท่านั้น และงานประดิษฐ์สามารถทำเป็นอาชีพ และสอนให้คิดว่าทำอย่างไรถึงจะได้กำไร ถึงจะขายได้ เพราะโรงเรียนอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว เด็กสมารถประดิษฐ์ผลงานแล้วนำไปขายให้กับนักท่องเที่ยว เป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และยังเกิดรายได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังแนะนำการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน



ด้วยผลการสอบโอเน็ตโดยเฉลี่ยของโรงเรียนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะยังไม่เห็นผลสำเร็จทางวิชาการ เนื่องจากการทำสมาธิค่อนข้างจะชี้วัดยาก เช่นเดียวกับงานศิลปะที่ไม่สามรถชี้วัดออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่ผลทางนามธรรมที่จับต้องไม่ได้หรือไม่อาจชี้วัดได้ย่อมเกิดขึ้น ทั้งทักษะด้านอาชีพ ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความตั้งใจมากขึ้น ไม่เพียงแค่การทำงานประดิษฐ์เท่านั้น ยังรวมไปถึงการตั้งใจเรียน การตั้งใจสอบ  เหล่านี้เป็นผลพลอยได้ทั้งสิ้น

 “การเรียนการสอนที่ครูแต่ละท่านจะนำกิจกรรมงานประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้ เช่น สุขศึกษาก็จะยกตัวอย่างการทำงานร่วมกัน การอยู่กับคนหมู่มาก ส่วนภาษาอังกฤษ เด็กก็จะมีการค้นหาคำเขียน คำอ่าน หรือคำแปล จากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานประดิษฐ์  ส่วนวิชาคณิต ก็อ้างอิงเรื่องของอัตราส่วนการทำงานประดิษฐ์ได้เช่นกัน” ครูประภาภรณ์ กล่าว  


งานประดิษฐ์จิตสร้างสมาธิ สามารถช่วยให้เด็กเกิดสมาธิในการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น รู้จักการทำงานอย่างเป็นระบบ เกิดความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นภูมิปัญญา และที่สำคัญช่วยปลูกฝังให้เด็กรู้จักนำสิ่งของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์สร้างรายได้บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง


หมายเลขบันทึก: 514433เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีนะคะ ...ทำกิจกรรมแนวจิตใจเด็ก .... เกิดสมาธิ 


ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท