ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน


พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน
เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ปีพุทธศักราช
2550

  “งานของแผ่นดิน
เป็นงานส่วนรวม
มีผลเกี่ยวเนื่องถึงความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของบ้านเมืองและทุกข์สุขของประชาชนทุกคน
ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน
จึงต้องสำนึกตระหนักในความรับผิดชอบที่มีอยู่และตั้งใจพยายามปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถ
ด้วยความเข้มแข็ง สุจริต และด้วยปัญญารู้คิดพิจารณา
ว่าสิ่งใดเป็นความเจริญ สิ่งใดเป็นความเสื่อมอะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ อะไรเป็นสิ่งที่ต้องละเว้นและกำจัด อย่างชัดเจน ถูก
ตรง”

                 ภาวะวิกฤตการณ์ในการบริหารประเทศไทยได้สะท้อนถึงข้อจำกัดบางประการหรือลักษณะพื้นฐานทางสังคมประชาธิปไตยที่วางตั้งอยู่บนความไม่พร้อมทางความรู้วิชาการและการเข้าใจในเนื้อหาการปฏิบัติรวมทั้งความเชื่อที่แตกต่างในระดับประชาชน  ซึ่งทำให้กลุ่มนักการเมือง ข้าราชการกลุ่มผู้มีอำนาจ อิทธิพล หรือกลุ่มทุนที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินเศรษฐกิจของประเทศไทยเข้าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนหรือเอื้อเฟื้อประโยชน์ต่อกันในการทำหน้าที่ใช้อำนาจบริหารประเทศ ผลกระทบติดตามมาคือการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อกลุ่มหรือคนใกล้ชิดและการปฏิบัติต่างตอบแทนที่โยงใยเป็นเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งลึกอยู่ในสังคมไทยผู้มีอำนาจหน้าที่ทั้งในระบบการเมือง และข้าราชการ ใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นส่วนใหญ่แทนที่จะปกป้องประโยชน์ส่วนรวม  เป็นเช่นนี้มานานจนกระทั่งความคิดเห็นของคนในสังคมไทยส่วนหนึ่งเริ่มยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นคำกล่าวว่า “โกงบ้างไม่เป็นไรขอให้มีผลงาน” ซึ่งต่อไปหากสังคมไทยยังเป็นอยู่ในภาวะเช่นปัจจุบันนี้อาจกลายเป็นค่านิยมในด้านลบนำความเสื่อมสู่สังคม

                 ย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดสะสมตลอดระยะเวลาที่ยาวนานเริ่มเด่นชัดเนื่องด้วยทั้งระดับความรู้ความเข้าใจของประชาชนการใส่ใจต่อนโยบายการบริหารทุกระดับ และการตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่อาจจะส่งผลต่อระบบความคิดความเชื่อรวมไปถึงวิถีการดำรงอยู่ของสังคมไทยในอนาคต ทำให้กลุ่มประชาชน องค์กรเอกชนภาครัฐทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการ เริ่มตั้งคำถามในเชิงนามธรรม ถึง คุณธรรมและจริยธรรม และเนื่องจากสังคมเห็นร่วมกันว่า คุณธรรมและจริยธรรมในสังคมไทยกำลังถูกมองข้ามละเลยขาดการใส่ใจทั้งในระดับบุคคล องค์กร และสังคมไทยทั้งประเทศ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาการอบรมสั่งสอนเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมของผู้คนในสังคมไทยนั้นวางรากฐานจากระบบจารีตประเพณีและพุทธศาสนาและปรากฏในทางรูปธรรมผ่านวิถีการปฏิบัติเช่น ฮีตสิบสอง ครองสิบสี่ พิธีกรรมทางศาสนา และหลักสูตรการศึกษาวิชาจริยธรรมและศาสนาในโรงเรียน แต่เมื่อสังคมปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยประชากรที่เพิ่มขึ้น การแสวงหาความร่ำรวยสะดวกสบาย การแย่งชิงขัดขวางทำร้ายเพื่อให้ตนและพวกพ้องบรรลุเป้าหมาย จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  การปลูกฝังถ่ายทอดคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อเป้าหมายการอยู่ร่วมกันของผู้คนแบบเดิมไม่อาจเพียงพอ  อีกทั้งค่านิยมเรื่องจริยธรรมและความเชื่อในทางศาสนาของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไปไม่มีลักษณะที่เชื่อถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดด้วยความเกรงกลัวละอายต่อการกระทำดังแต่ก่อนซ้ำร้ายยังเห็นว่าการปฏิบัติตามคุณธรรมและจริยธรรมนั้นไม่มีความหมายในเชิงคุณค่าใดและไม่ตอบสนองต่อความต้องการในทางเศรษฐกิจของตนด้วย   แม้กระทั่งการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากคุณธรรมและจริยธรรมที่มีอยู่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบในทางร้ายแก่ตนแต่อย่างใดตรงกันข้ามกลับทำให้ตนได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าวนั้นด้วย  เมื่อสถานการณ์เป็นดังนี้การกระตุ้นส่งเสริมให้สังคมไทยโดยเฉพาะในภาคการเมืองและข้าราชการกลับมาให้ความสำคัญต่อหลักการคุณธรรมและจริยธรรมโดยการก่อร่างสร้างความเข้มแข็งทางความคิดรวมไปถึงการช่วยสร้างกลไกการปกป้องคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมให้คงอยู่ในสังคมไทยต่อไปอย่างเป็นรูปธรรมจึงเริ่มวางแนวทางปฏิบัติในรูปแบบการบังคับใช้กฎหมาย

1.  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา77รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง จัดทำมาตรฐาน ทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ข้าราชการ และพนักงานหรือลูกจ้างอื่นของรัฐเพื่อป้องกันการทุจริต และประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่

2.  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๗๙ บัญญัติว่า“มาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมที่กำหนดขึ้น”

3.  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา ๒๘๐ บัญญัติว่า“ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมตามมาตรา๒๗๙ และส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีจิตสำนึกในด้านจริยธรรมรวมทั้งมีหน้าที่รายงานการกระทำที่มีการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมเพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบในการบังคับการให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมมาตรา๒๗๙”

4.  พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551มาตรา 78 บัญญัติว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องรักษาจรรยาข้าราชการตามที่ส่วนราชการกำหนดไว้โดยมุ่งประสงค์ให้เป็นข้าราชการที่ดี มีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการ....”

5.  พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551มาตรา 79 บัญญัติว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่ปฏิบัติตามจรรยาข้าราชการอันมิใช่เป็นความผิดวินัยให้ผู้บังคับบัญชาตักเตือนนำไปประกอบการพิจารณาแต่งตั้งเลื่อนเงินเดือนหรือสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นได้รับการพัฒนา"

                    ปัจจุบันแม้ว่าแทบทุกองค์กรและหน่วยงานล้วนมีข้อกำหนดทางคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อควบคุมกำกับความประพฤติของสมาชิกในรูปแบบของข้อบังคับจรรยาข้าราชการที่ออกตามพรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 78 และ 79 ดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ปรากฏผลในทางการควบคุมกำกับพฤติกรรมทางจรรยาข้าราชการนอกจากบางองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพนั้น
ๆ ควบคุมกำกับและมีบทบังคับหรือลงโทษหากมีกรณีฝ่าฝืนจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เช่นวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล ทนายความ วิศวกร เหล่านี้เป็นต้น ที่ล้วนมีสภาวิชาชีพทำหน้าที่ดูแลควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในเรื่องจริยธรรมวิชาชีพจึงเห็นผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( ก.พ. )ได้ประกาศใช้ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ปี 2553โดยในเนื้อหาของประมวลจริยธรรมฯ ดังกล่าวมีบทบังคับในกรณีหากมีการฝ่าฝืนจริยธรรมข้าราชการในรูปแบบวิธีการเดียวกันกับการกระทำผิดวินัย ดังนั้นต่อไปนี้หากปรากฏว่าข้าราชการพลเรือนกระทำการฝ่าฝืนจริยธรรมตามที่กำหนดไว้ในประมวลจริยธรรมฯจะถือเสมือนกระทำผิดวินัยข้าราชการและอาจถูกสั่งลงโทษทางวินัยได้  รายละเอียดในส่วนนี้นับว่ามีความสำคัญต่อข้าราชการทุกคนรวมถึงพนักงานราชการและลูกจ้างประจำในส่วนราชการด้วยนะครับ  ฉบับต่อไปจะนำเสนอถึงรายละเอียดสำคัญที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าว

เอกสารอ้างอิง

1. พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ปีพุทธศักราช 2550

2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

4. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.2551

5. ประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน




หมายเลขบันทึก: 514334เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2012 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท