ลปรร. เรื่องการจัดการความรู้ ของกองทันตฯ (17) ... KM กลุ่มคุ้มครองฯ ถกกัน เรื่อง ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟัน


ลปรร. กันเรื่อง ยาสีฟันที่มีปริมาณฟลูออไรด์ 1,500 ppm จะเหมาะสมกับประเทศไทยหรือยัง เพราะปัจจุบัน ยาสีฟันในท้องตลาดของคนไทย อย. ยอมรับกันที่ 1,000 ppm +/- 10%

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องของวิชาการ ที่มาเกี่ยวข้องกับการที่ต้องมา ลปรร. กันเรื่อง ยาสีฟันที่มีปริมาณฟลูออไรด์ 1,500 ppm จะเหมาะสมกับประเทศไทยหรือยัง เพราะปัจจุบัน ยาสีฟันในท้องตลาดของคนไทย อย. ยอมรับกันที่ 1,000 ppm +/- 10%

ในกองทันตฯ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็จะเป็นกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะต้องเป็นหลักในการศึกษาอย่างจริงจัง เรื่องนี้ก็มีการดำเนินการมายาวนานนะคะ สรุปได้ขั้นหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ถึงจุดสรุปสุดท้าย ….

เรื่องนี้หมอหวี่ (ทพญ.นนทินี ตั้งเจริญดี) นำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง

รู้เรื่อง ฟลูออไรด์ในยาสีฟัน กันก่อนนะคะ
ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ทั่วโลก จะมีตั้งแต่ 0, 250, 400, 500, 600, 800, 900 ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึง 5,000 ppm แต่ใน Fluoride toothpaste เขาเลือก 1,000 ppm เป็น standard เพราะสามารถลดการเกิดฟันผุได้ประมาณ 30% และความเสี่ยงน้อย ในประเทศไทยก็ใช้ 1,000 ppm ... กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า ยาสีฟันฟลูออไรด์เป็นเครื่องสำอางที่ต้องควบคุมพิเศษ หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมคือ สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ของ อย. เป็นประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 3/2535 ว่า ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันในประเทศไทย ต้องมีค่าไม่เกิน 1,000 ppm โดยอนุมัติให้ +/- ได้ไม่เกิน 10% ดังนั้น ปริมาณฟลูออไรด์สูงสุดในยาสีฟันของไทยต้องไม่เกิน 1,100 ppm

ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ที่ขายในประเทศไทยมี 2 ตัว กลุ่มหนึ่งมีปริมาณฟลูออไรด์ 1,000 ppm มีทั้งยาสีฟันของผู้ใหญ่ และเด็ก อีกกลุ่มหนึ่งเป็นของเด็กโดยเฉพาะมีปริมาณฟลูออไรด์ 500 ppm

เมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกของอาเซียน ก็จะมีภาคีของความตกลง ว่าด้วยการปรับระบบการกำกับดูแลเครื่องสำอางให้เป็นหนึ่งเดียวแห่งอาเซี่ยน หมายความว่า สมาชิกจะใช้บทบัญญัติร่วมกัน ... ข้อกำหนดทางวิชาการที่เราควบคุมเครื่องสำอางก็ต้องเหมือนกัน คือ เขาจะสามารถผลิตในประเทศหนึ่ง และสามารถส่งออกไปขายทุกประเทศในเขตอาเซียนได้ โดยที่ไปติด อย. ของประเทศอื่นๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการค้า
จึงมีปัญหาเรื่องฟลูออไรด์ในยาสีฟัน เพราะปรากฏว่า ข้อมูลทางวิชาการนี้ อ้างอิงตามมาตรฐานตารางธาตุยุโรป ซึ่งกำหนดไว้ว่ายาสีฟันฟลูออไรด์จะมีปริมาณสูงสุดได้ถึง 1,500 ppm แต่ของประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 1,100 ppm

ความคิดเห็นจากหน่วยงานวิชาการทางด้านทันตสุขภาพ ทั้งกองทันตฯ กรมการแพทย์ ทันตแพทยสมาคม มีความเห็นตรงกันว่า เราคงปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันที่ 1,100 ppm ด้วยเหตุผลที่ว่า ในประเทศไทยมีภาวะเรื่อง ปริมาณในแหล่งน้ำสูง และมีภาวะฟันตกกระในประเทศ ดังนั้น ยาสีฟัน 1,500 ppm อาจไม่เหมาะกับเรา และเพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อความชัดเจน กองทันตฯ ร่วมกับ อย. ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคไทยในการใช้ยาสีฟัน และการแปรงฟันของเด็ก ใน พ.ศ.2544 ให้สวนดุสิตโพลเป็นผู้สำรวจ ความรู้ที่ได้จากตรงนี้เอามาประกอบการตัดสินใจในเรื่องนี้

การสำรวจพบว่า พฤติกรรมการใช้ยาสีฟันของคนไทยที่น่าสนใจมี 3 อย่าง คือ

  1. พฤติกรรมการใช้ยาสีฟันหลอดเดียวทั้งบ้าน เพื่อการประหยัดก็ใช้กันหลอดเดียว
  2. ส่วนใหญ่ก็จะเป็นยาสีฟันผู้ใหญ่ ใช้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ก็คือ ยาสีฟัน 1,000 ppm
  3. เด็กส่วนใหญ่จะบีบยาสีฟันใช้เยอะ ผู้ปกครองเด็กร้อยละ 30 เท่านั้นที่จะอ่านฉลากยาสีฟัน พฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงได้ต่อการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป

อย. และกองทันตฯ จึงจัดประชุมวิชาการใน พ.ศ.2546 โดยเชิญกองทันตฯ ทันตแพทยสมาคม คณะทันตแพทย์ฯ สถาบันทันตกรรม สนป. ชมรมทันตกรรมสำหรับเด็ก และสำนักที่ควบคุมยาสีฟัน ก็คือ สำนักควบคุมเครื่องสำอาง และวัตถุอันตรายของ อย. มาคุยกันว่า ประเทศไทยจะมีทิศทางอย่างไรที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้ ว่าเราจะเอา 1,100 หรือ 1,500 ในการประชุมครั้งนั้นสรุปว่า

  1. ในประเทศไทย ปริมาณฟลูออไรด์ในยาสีฟันขอให้คงไว้ที่ 1,000 ppm
  2. อายุที่ควรเริ่มใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ขอให้เริ่มใช้ตั้งแต่ฟันน้ำนมเริ่มขึ้นในปาก คำเตือนในฉลากยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ปัจจุบันนั้นเขียนไว้ว่า “เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่ควรกินหรือกลืน” จะขอให้เปลี่ยนเป็น “การใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี อาจทำให้เกิดฟันตกกระ ผู้ปกครองควรต้องเป็นผู้บีบยาสีฟันให้เด็ก ในขนาดไม่เกินเมล็ดถั่วเขียว”

นี่คือ ข้อสรุปของนักวิชาการ ก็ขอให้ อย. ไปคุยกับอาเซียนว่า ทางประเทศไทยได้ตกลงกันแล้ว ขอให้เป็นไปตามแนวทางข้อตกลงนี้

นี่เป็นขั้นต้นๆ ... ติดตามตอนต่อไปนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 51419เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2006 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 13:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท