Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาสำหรับห้องเรียน : เครือชินคอร์ป


กรณีศึกษานี้ อ.แหววเลือกขึ้นมาเพื่อชวนนักศึกษาคิดและวิเคราะห์ถึงสถานการณ์เด่นของประเทศไทย อ.พบว่า เรื่องนี้ เป็นสถานการณ์ที่ชี้ให้คนในแวดวงธุรกิจเห็นตัวอย่างของการประกอบธุรกิจที่อิงอำนาจทางการเมืองว่า อันตรายอย่างไร ดังนั้น ธุรกิจที่มีความเกี่ยวกับชินคอร์ปในวันนี้ จะเห็นว่า เรื่องเกี่ยวกับการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องรู้อย่างละเอียด เด่นมาก มองข้ามไม่ได้ แต่ถ้าเรามีแนวคิดแบบแค่จมูกนิยม มาตั้งแต่ต้น การอยู่รอดในวันที่พันธมิตรทางการเมืองตกต่ำนั้น เป็นไปได้ยาก แต่หากแม้เรามีความเกี่ยวข้องกับชินคอร์ป แต่เรามีแนวคิดแบบยั่งยืนนิยม เราก็จะไม่โดนกระทบมาก เอาตัวรอดได้

ตรวจแถวหุ้นบริวาร "ระบบทักษิณ" "ไทยรักไทย" สิ้นอำนาจ-หุ้นสะเทือน

หุ้นในเครือชินคอร์ปทั้งกระบิ อยู่ในกลุ่มเป้าหมายต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการลากเรื่องเก่าที่ยังไม่สะเด็ดน้ำขึ้นมา "เชือดซ้ำ..ย้ำแผลเก่า" ในประเด็นเรื่องสัญชาติไทย หรือต่างด้าว ของ "บริษัท กุหลาบแก้ว" ที่ใครๆ ก็รู้ว่าบริษัทนี้ชื่อไทยหัวใจสิงคโปร์

ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์เคยชี้มูลมาแล้วว่า ผลสอบ "บริษัท กุหลาบแก้ว" ไม่กระทบฐานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนของ SHIN เนื่องจากไม่มีเกณฑ์ควบคุมเรื่องสัญญาชาติ แต่ขอให้ดูแลเฉพาะเกณฑ์ "ฟรีโฟลท" โดย SHIN ต้องกระจายหุ้นเพิ่มให้ครบ 15% ภายใน 2 ปี

สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อ ADVANC หากกระทรวงพาณิชย์ตัดสินว่า SHIN เป็นบริษัทต่างด้าว จะมีผลกระทบใน 2 กรณี

ประเด็นที่หนึ่ง..ถ้ากฎหมายใหม่มีผลเฉพาะดีลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น ถ้าหวยออกมารูปนี้สัมปทานซึ่ง ADVANC ได้รับก่อนหน้านี้ก็จะไม่ถูกกระทบจากประเด็นดังกล่าว

ประเด็นที่สอง..ถ้ากฎหมายมีผลย้อนหลัง กฎหมายก็จะให้เวลาในการแก้ไขเงื่อนไขที่ขัดต่อกฎหมายก่อนที่จะมีการบังคับตามกฎหมาย โดยอาจจะเป็นการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่

แม้จะมีช่อง "ซิกแซ็ก" แต่นั่นต้องอยู่ในสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่สถานการณ์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นในเบื้องต้น หุ้น SHIN และหุ้น ADVANC จะหลีกเลี่ยงความใกล้ชิดกับ "ระบอบทักษิณ" ได้ยาก

ถัดมากรณี SATTEL หากเกิดกรณี SHIN ถูกตัดสินว่าเป็นบริษัทนอมินีต่างชาติ จริงๆ ในประเด็นนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อหุ้นตัวนี้ เพราะในข้อเท็จจริง SATTEL มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติเพียง 4.52% ขณะที่ SHIN ถือหุ้น SATTEL เพียง 41.34% บวกกันยังไงก็ไม่ถึง 49% จึงไม่ขัดต่อกฎหมายโทรคมนาคมแห่งชาติ

แต่เพราะ SATTEL เป็นบริวารของระบอบทักษิณ จึงกลายเป็นสินค้า "ด้อยคุณภาพ" ในช่วงเวลานี้ เหตุว่าเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากอำนาจแต่การเจรจา "ดาวเทียมไอพีสตาร์" ในเชิงพาณิชย์กับจีนอาจไม่สำเร็จ และการรอสัญญาให้บริการกับอินเดีย ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง หากพลาดงานนี้หมายถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่น้อย

ส่วน ITV เป็นยิ่งกว่า "หนังชีวิต" เพราะเจอ 2 เด้ง ถูกกล่าวหาว่ารับใช้ระบอบทักษิณ และยังมีคดีความเรื่องค่าสัมปทานกับสำนักปลัดสำนักนายก (สปน.) ที่ยังจบไม่ลง ในยกแรกถูกตัดสินแพ้ไปแล้ว โดย ไอทีวี ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2549 แต่สถานการณ์ที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ทิ้งบ้าน สู้อีกกี่ศาลก็เหนื่อย!! เพราะฉะนั้นหุ้นตัวนี้ต้นทุนความน่าเชื่อถือ "ต่ำกว่าพาร์" เรียบร้อย

จะว่าไปแล้วหุ้นในเครือข่ายระบอบทักษิณ ทำจุด "พีค" ไปหมดแล้วตั้งแต่ปี 2548 ถึง ทักษิณ ไม่ลงจากอำนาจก็แค่ประคองไม่ให้ลงเหวเท่านั้นเอง

หุ้นในกลุ่มวงแหวนชั้นในยังรวมถึง "เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น" (SC) "เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น" (MLINK) และ "วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค" (WIN) โดยเฉพาะ 2 ตัวหลังที่เป็นของ "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อาการน่าเป็นห่วงมากๆ เพราะพื้นฐานธุรกิจจัดว่า "แย่"

MLINK ในวันนี้มีสิทธิถูกตัดสิทธิเป็นตัวแทนจำหน่าย 1 ใน 3 รายในประเทศไทย ของ "โนเกีย" ขณะที่ WIN อนาคตผูกติดกับนโยบายรัฐมากเกินไป

หุ้นที่หมดอภิสิทธิ์ทางการเมืองก็มีสิทธิหมดอนาคต ยังรวมถึง อาณาจักรธุรกิจของ "เสี่ยหนู" อนุทิน ชาญวีรกูล นั่นคือ หุ้น "ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น" (STEC) ถัดมาก็หุ้น 3 ตัวของ "อดิศัย โพธารามิก" รับรองว่าเหนื่อยแน่!!! ได้แก่ "จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล" (JAS) "จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์" (JTS) และ "ทีทีแอนด์ที" (TT&T)

จากนั้นให้จับตา "หุ้นปั้น" ของ "เสี่ย พ." พายัพ ชินวัตร ที่ร่วมกับพันธมิตร มี 4-5 บริษัท ดังๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ASL BNT IEC PLE และ D1 หุ้นพวกนี้มีโอกาส "ดับ" มากกว่า "ดัง"

การโค่นทักษิณยังสะเทือนไปถึงหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่ใกล้ชิด "พรรคไทยรักไทย" อีกหลายค่าย ที่ผ่านงานมาทาง "เจ๊แดง" สาย "เฮียเพ้ง" และสาย "สุริยะ" ให้จับตาประเภท "งานล้นมือ" แต่ "มาร์จิน" เรี่ยติดดิน

ส่วนอาณาจักรปตท. ไม่ว่าจะเป็นตัวแม่ ปตท. (PTT) ปตท.สผ. (PTTEP) ปตท.เคมิคอล (PTTCH) อะโรเมติกส์ (ATC) ไทยออยล์ (TOP) ทีพีไอ (TPI) น่าจะถูกหางเลขแค่ช่วงสั้น เพราะหุ้นพวกนี้แข็งแกร่ง และโตได้ด้วยตัวเอง ลงลึกๆ ให้เก็บ

รวมถึงหุ้นรัฐวิสาหกิจตัวอื่นๆ อาทิเช่น TMB KTB AOT THAI หรือ MCOT แม้ใครๆ ก็รู้ว่า "นายใหญ่" ขององค์กรเหล่านี้ มาได้เพราะฝีมือบวกความแนบแน่นกับบิ๊กทางการเมือง แต่โครงสร้างธุรกิจถ้าการเมืองไม่อยู่เผลอๆ จะดีกว่าเก่าด้วยซ้ำไป

แต่ที่จะละสายตาไปไม่ได้อีกกลุ่ม ก็คือ พวก "นักธุรกิจอิงการเมือง" กลุ่มนี้พึ่งพาอำนาจรัฐ แต่ไม่พึ่งพิงงานรัฐ ยืนบนขาตัวเอง เช่นกรณี "อากู๋" ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม หุ้น GRAMMY กับ GMMM ไม่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง

หรือแม้แต่หุ้น INOX และ TFI ของ "เสี่ยเนสกาแฟ" ประยุทธ มหากิจศิริ ที่ผ่านมาธุรกิจมีผลประโยชน์เกี่ยวโยงกับการเมืองไม่มาก ตรงข้ามกับสายสัมพันธ์ส่วนตัวที่แน่นปึ้ก!! กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชนิดที่ต้องส่งลูก 3 คนไปผูกสัมพันธ์

ขณะที่ "ประชา มาลีนนท์" มีหุ้นในอาณาจักร 2 ตัว คือ CVD กับ BEC ธุรกิจถูกแยกออกจากผลประโยชน์ทางการเมืองค่อนข้างชัดเจน แต่ภาพของการเป็น "สื่อ(เชียร์)รัฐบาล" คงจะลบออกยาก

นับจากนี้การเปิดเรื่องฉาวในอดีตของ "ครอบครัวชินวัตร" น่าจะเกิดขึ้นตามมาเป็นชอตๆ "อู่ข้าวอู่น้ำ" ที่เกี่ยวข้องกับงานประมูลภาครัฐจะเหือดแห้งลงไป ขณะที่การจัดฉากลากหุ้นล่อรายย่อยจะเกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมืองมากขึ้น...นาทีแห่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วในตลาดหุ้น!!!
  -------------------------

จากกรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549
http://www.bangkokbizweek.com/20060904/localbiz/index.php?news=column_21623244.html

หมายเลขบันทึก: 51402เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2006 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

               มีข้อสังเกตในประเด็นนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ว่า

การดำเนินธุรกิจย่อมต้องสร้างหลักปักฐานของตนให้ยั่งยืนและพึ่งพิงตนเองได้เป็นหลัก คือ ให้ตนมีรากแก้วที่แข็งแกร่ง ซึ่งตามแต่ยุคสมัยจะอาศัยอิทธิพลทางการเมืองเป็นดั่งปุ๋ยรดเพิ่มพูนให้งอกงามยิ่งขึ้นนั่นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าเมื่อเครือข่ายทางการเมืองเปลี่ยนแปลงทำให้ขาดแคลนไปซึ่งปุ๋ยที่เร่งการเจริญเติบโตแล้ว ธุรกิจที่มั่นคงด้วยตนเองย่อมยังยืนอยู่ได้ด้วยรากของตนเอง เพียงอาจชะลอการเติบโตและงดงามน้อยลง แต่คงไม่ร้ายแรงถึงขึ้นล้มลงไป

ลิลองตรึกตรองนะคะ จึงมีการถือปฏิบัติจนเป็นหลักกฎหมายว่า ผู้ประกอบการจะต้องโปร่งใส หลักที่สำคัญอันหนึ่งของ good governance

กลับไปทำการบ้านกับตัวเองมานิดหน่อยค่ะ เคยศึกษาเรื่อง good governance ตอนจบใหม่ ๆ กลับไปปัดฝุ่นความคิด ลองเขียนบันทึกดู แต่จะดำเนินการให้สมบูรณ์มากขึ้น ใน http://gotoknow.org/blog/deal/52074 แวะไปเยี่ยมได้นะคะ ^_^

http://gotoknow.org/blog/deal/52074

ขอบคุณค่ะ นศ.มหานคร อย่าลืมไปอ่านนะคะ

 ผู้จัดการรายวัน 6 ตุลาคม 2549
 
ศาลรับฟ้องถอนสัมปทานชินฯเป็นภัยความมั่นคง
 
ศาลปค.สูงสุดสั่งศาลปค.กลาง รับคำฟ้องคดีอาจารย์นิติศาสตร์ ม.รังสิต ขอให้สั่ง 3 หน่วยงานรัฐยกเลิกสัญญาสัมปทานกลุ่มชินคอร์ป หลังขายหุ้นให้เทมาเส็ก ระบุหากสัมปทานที่กลุ่มบ.ชินคอร์ปได้ไป ตกอยู่ในอำนาจบริหารจัดการของต่างชาติ อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อน เสียหาย เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ พร้อมสั่งให้เริ่มไต่สวนตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวให้เทมาเส็กงดเว้นการดำเนินการหรือรับผลประโยชน์ใดๆ จากสัมปทานดาวเทียมชินแซท – เอไอเอส – ไอทีวี อย่างเด็ดขาด โบรกเกอร์แนะเลี่ยงหุ้นกลุ่มชิน

วานนี้ (5 ต.ค.) ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองกลาง ให้รับคำฟ้องที่นายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ยื่นฟ้องกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงคมนาคม และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีปล่อยให้มีการโอนหุ้นกลุ่มบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับกลุ่มทุนข้ามชาติเทมาเส็ก จากสิงค์โปร์ ไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไปตามรูปคดี

ทั้งนี้ คำฟ้องดังกล่าวศาลปกครองกลางเคยมีคำสั่งไม่รับไว้พิจารณาด้วยเหตุผลว่า คำฟ้องของนายศาสตรา ที่ขอให้ศาลพิพากษาให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ กระทรวงคมนาคม และสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ยกเลิกสัญญาสัมปทานของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอวิส จำกัด (มหาชน ) บริษัทชินแซทเทิลไลท์ จกัด (มหาชน) และบริษัทไอทีวี จำกัด ( มหาชน) นั้น เป็นสัญญาที่รัฐมอบหมายสิทธิให้กับบริษัทที่ได้รับสัมปทานในการจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจการใด ๆ ที่การดำเนินการต้องได้รับอนุญาตจากทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งตามข้อตกลงและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจะต้องมีข้อความที่ระบุไปถึงว่า หากคู่สัญญาฝ่ายเอกชนกระทำการผิดไปจากเงื่อนไขที่ระบุไว้ ทั้ง 3 หน่วยงานย่อมสามารถบอกเลิกสัญญาได้

ดังนั้น การที่จะบอกเลิกสัญญาย่อมเป็นสิทธิของคู่สัญญาที่จะมีสิทธิยื่นคำฟ้องต่อศาลหามีผลกระทบต่อนายศาสตรา ที่เป็นบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่พิพาทหรือคู่สัญญากับหน่วยงานทั้ง 3 ไม่ นายศาสตราจึงมิได้เป็นคู่สัญญา ไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายจนมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และมิได้เป็นผู้มีสิทธิโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานดังกล่าวที่จะมาฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ทั้ง 3 หน่วยงานยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ทำกับบริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอวิส จำกัด บริษัทชินแซทเทิลไลท์ จำกัด และบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน )

แต่ต่อมา นายศาสตรา ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยระบุว่า ตนเองไม่ได้นำคดีขึ้นฟ้องในฐานะเป็นคู่สัญญาที่จะมีสิทธิในการยกเลิกสัญญาได้ด้วยตนเอง ที่เป็นประเด็นในเรื่องของการมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองแต่อย่างใด แต่นำคดีขึ้นฟ้องในประเด็นที่หน่วยงานทั้ง 3 งดเว้นการกระทำการคือการยกเลิกสัญญาสัมปทาน ซึ่งยังมีประเด็นความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งความไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 40 และมาตรา 39 วรรคห้า ประเด็นการละเลยในการใช้เอกสิทธิ์ และอำนาจมหาชนเพื่อยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ขัดแย้งต่อหลักการทางกฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรได้รับการพิจารณาวินิจฉัยจากศาลปกครองในเนื้อหาของสัญญาสัมปทานว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ดังนั้น คดีจึงมีเพียงประเด็นเกี่ยวกับการมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือเป็นประเด็นเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐงดเว้นการกระทำการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลปกครองกลางได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาวินิจฉัย อันมีลักษณะเป็นประเด็นที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลตามข้อ 101 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2543 จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางพิจารณาคำร้องขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวที่ขอไว้คือให้สั่งให้ทุนข้ามชาติเทมาเส็ก งดเว้นการดำเนินการหรือรับผลประโยชน์ใด ที่เกี่ยวข้องกับกิจการตามสัญญาสัมปทานทั้ง 3 ฉบับโดยเด็ดขาด

ศาลปกครองสูงสุด ได้พิเคราะห์คำอุทธรณ์ของนายศาสตราแล้วเห็นว่า นายศาสตรา อ้างในคำฟ้องว่าเป็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นเจ้าของอธิปไตยและเป็นผู้ใช้บริการจากการดำเนินการของบริษัทแอดวานซ์อินโฟร์ เซอวิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานจากหน่วยงานทั้ง 3 เพื่อดำเนินกิจการสื่อสาร แม้จะไม่ปรากฏว่า นายศาสตราได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายในขณะหรือก่อนฟ้องคดีนี้ แต่สัมปทานที่บริษัททั้ง 3 ได้รับไปเพื่อดำเนินกิจการสื่อสารนั้น มีโอกาสล่วงรู้ความลับเกี่ยวกับการสื่อสารของผู้ใช้บริการ หากกิจการดังกล่าวตกไปอยู่ในอำนาจบริหารจัดการของบุคคลต่างด้าว อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อน เสียหาย หรือาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายได้ในอนาคต และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ นายศาสตรา จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้อาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทั้ง 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับ ดูแลเกี่ยวกับการให้ หรือบอกเลิกสัมปทานที่บริษัททั้ง 3 ได้รับไปดำเนินการ ประกอบกับคำฟ้องบรรยายไว้ชัดแจ้งว่า บริษัทผู้รับสัมปทานทั้ง 3 ได้ขายหุ้นส่อไปในทางให้บุคคลต่างด้าวเข้ามามีบทบาทและมีอำนาจในการบริหารกิจการที่ได้รับสัมปทาน หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่นายศาสตรา กล่าวอ้างไว้ และหน่วยงานทั้ง 3 มิได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นกับนายศาสตราในฐานะผู้ใช้บริการในกิจการที่บริษัททั้ง 3 ได้รับสัมปทาน อาจถือได้ว่าหน่วยงานทั้ง 3 ที่เป็นหน่วยงานทางปกครองละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

ดังนั้น จึงเป็นคดีที่ศาลปกครองมีอำนาจรับไว้พิจารณาหรือมีคำสั่งตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 และนายศาสตราเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพรบ.เดียวกัน กรณีไม่ใช่เรื่องโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คำร้องอุทธรณ์ของนายศาสตราฟังขึ้น จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองกลางเป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไปตามรูปคดี

ทั้งนี้ หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาศาลปกครองกลางก็ต้องเริ่มกระบวนแรกคือการพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราวที่นายศาสตรา ขอให้ศาลสั่งให้ทุนข้ามชาติเทมาเส็กงดเว้นการดำเนินการหรือรับผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการตามสัญญาสัมปทานทั้ง 3 ฉบับโดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม ก่อนอ่านคำสั่ง นายสมภพ ผ่องสว่าง ตุลาการศาลปกครองกลาง ที่อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ได้เตือนนายศาสตรา ที่เคยให้สัมภาษณ์ถึงผลของคดีและแนวโน้มการพิจารณาคดีของศาลว่า คดีดังกล่าวถือเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน รวมทั้งตัวนายศาสตราเองก็เป็นบุคคลที่ให้ความเห็นต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ระมัดระวังการให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่จะเข้าข่ายการละเมิดอำนาจศาลได้

ด้านนายศาสตรา กล่าวว่า จากนี้ไปจะขอยื่นข้อมูลเพิ่มเติมต่อศาลปกครองกลาง ในกรณีที่เกี่ยวกับการทำสัมปทานที่ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การทำสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดตาม พรบ. คลื่นความถี่ฯ ซึ่งจะขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกเอกสารข้อมูลทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาต่อไป

ยื่นผลสอบกรณีขายหุ้นชินฯ

สำหรับเอกสารหลักฐานที่นายศาสตรา จะยื่นต่อศาลปกครองกลางเพื่อประกอบการพิจารณาคดีนั้น มีรายงานว่า เอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งคือ ผลสอบของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา ซึ่งสรุปผลสอบสวนและศึกษากรณีการขายหุ้นชินคอร์ป เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา พบว่า มีการกระทำผิดตามมาตรา 36 พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวฯ พร้อมกับส่งเรื่องให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ขณะนั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมธุรกิจการค้าดำเนินการเอาผิดกับบริษัทแอสเปน โฮลดิ้งส์ จำกัด, บริษัท ซีด้า โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัทไซเปรส โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทกุหลาบแก้ว จำกัด ฐานกระทำการเลี่ยงมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทย ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจอันมิได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจนั้น

คณะกรรมาธิการฯ ยังขอให้ดำเนินการเอาผิดกับนายพงส์ สารสิน และนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ กรรมการคนไทยในบริษัทกุหลาบแก้ว จำกัด ฐานตัวแทนเชิดหรือนอมินี ที่ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยมิได้รับอนุญาต และดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งเลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้นนั้นเสีย แล้วแต่กรณี มิฉะนั้น จะถือว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันทำให้รัฐได้รับความเสียหาย

โบรกแนะเลี่ยงหุ้นกลุ่มชิน

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นกรณีนายศาสตรา โตอ่อน ยื่นฟ้องกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที), กระทรวงคมนาคม และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่าละเลยหน้าที่ไม่ดำเนินการยกเลิกสัญญาสัมปทานบริษัทในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) หลังผู้ถือหุ้นขายหุ้นให้นักลงทุนต่างชาติว่า ในเรื่องดังกล่าวคงต้องให้เป็นตามกระบวนการและขั้นตอนของศาล ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะไม่ดำเนินการในเรื่องการขึ้นเครื่องหมายเตือนนักลงทุน โดยนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงและต้องติดตามข้อมูลของบริษัทที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง

"การพิจารณาลงทุนเป็นเรื่องของนักลงทุนต้องตัดสินใจกันเอง ตลท.คงไม่ต้องขึ้นเครื่องหมายหรือเตือนนักลงทุนเนื่องจากต้องให้เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนของศาล" นางภัทรียากล่าว

นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าภายหลังศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องกรณีบริษัทในเครือชินคอร์ป ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN แต่อาจจะปรับลดลงในส่วนของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANCE เนื่องจากสงครามค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือที่รุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ กรณีการรับฟ้องคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของศาล ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารบริษัทก็ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องดังกล่าว ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ดูแลในเรื่องการซื้อขายยังไม่มีท่าทีต่อเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การจะเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มชินคอร์ปส่วนตัวยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงซื้อหุ้นบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL แม้ว่าตามพื้นฐานจะน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ส่วนหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) หรือ ITV แนะนำให้หลีกเลี่ยงเหมือนกันเนื่องจากกระบวนการพิจารณาในเรื่องสัมปทานยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะต้องจ่ายค่าผิดนัดจำนวนเท่าไหร่ ดังนั้นจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงเช่นกันเนื่องจากราคาใกล้ถึงราคาพื้นฐานแล้ว ซึ่งหากนักลงทุนจะเข้ามาลงทุนคงต้องรอให้ราคาอ่อนตัวลงมาก่อน

ขณะที่หุ้นบริษัท ซีเอส ล็อกซ์อินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL ไม่แนะนำให้ลงทุน โดยแนะนำขายเพราะพื้นฐานธุรกิจไม่ถือว่าน่าสนใจที่จะลงทุน

"เรายังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกลุ่มชินคอร์ปเนื่องจากยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก และความเสี่ยงยังเพิ่มขึ้นภายหลังศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้องดังกล่าว หากนักลงทุนจะเข้ามาลงทุนคงต้องรอให้เรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนก่อน"นายชัยกล่าว

ชินแจงตลท.ไม่เกี่ยวข้อพิพาท

บริษัทในกลุ่ม ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (กลุ่มบริษัทฯ) ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SHIN) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANCE) บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) (SATTEL) และบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ITV) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดข้างต้นว่า เป็นเรื่องของบุคคลภายนอกฟ้องคดีในการปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ บริษัทในกลุ่มไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และ ข้อพิพาทดังกล่าวก็ไม่ใช่ข้อพิพาทระหว่างบริษัท กับ ผู้ให้สัมปทาน บริษัทฯ ยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ และในขณะนี้บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมยังคงดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทานที่มีกับคู่สัญญา และหากมีความคืบหน้าหรือข้อสรุปอย่างเป็นทางการ บริษัทฯ จะรีบดำเนินการแจ้งรายละเอียดให้ผู้ถือหุ้นทราบต่อไป

สะท้อนหลักนิติธรรมฟื้นคืน

นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะคณะอนุกรรมการในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา เปิดเผยว่า การรับฟ้องคดีข้างต้นของศาลปกครอง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าหลักนิติธรรมกำลังถูกรื้อฟื้นให้เกิดขึ้นมามีชีวิตอีกครั้งหลังจากระบอบทักษิณโค่นล้มไป ประชาชนคนไทยทั้งมวลควรให้ความสำคัญ เพราะถ้าประเทศมีหลักนิติธรรมในตัวเองจะทำให้กลไกต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญสร้างไว้สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปเช่นนั้นเพราะหลักนิติธรรมถูกระบอบทักษิณครอบงำจนทำให้หมดสภาพ

“ศาลรับฟ้องคำอุทธรณ์คดีข้างต้น นับเป็นสิ่งมีค่ามาก ทำให้สิ่งที่พันธมิตรประชาชนฯ ที่เรียกร้องหาหลักนิติธรรมฟื้นคืนมาเป็นหลักประกันให้ประชาชนในระยะยาว หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ประชาชนจะเผชิญกับอันตรายดังที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณ” นายเจริญ กล่าว

นายเจริญ ยังกล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญในการปฏิรูปการเมืองที่จะต้องคิดค้นหากลไก มาตรการที่เหมาะสมที่จะป้องกันหลักนิติธรรมไม่ให้ถูกปล้นชิงไปจากมายาคติทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง

กุหลาบแก้วถึงมือ "โกวิท"

สำหรับคดีกุหลาบแก้ว ที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเรื่องไปยังตำรวจนั้น ล่าสุด พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และโฆษก ตร. เปิดเผยถึงสำนวนคดีกุหลาบแก้ว ว่าขณะนี้มาถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.เป็นคนตัดสินใจว่าจะให้หน่วยไหนทำคดี แต่จากที่มองดู เป็นคดีทางเศรษฐกิจซึ่งทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง น่าจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สรุปผลตรวจสอบกรณีการถือหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ของบริษัทกุหลาบแก้ว และเห็นว่ามีมูลน่าเชื่อว่ามีความผิดตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยบริษัท กุหลาบแก้ว เข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด และซีดาร์ ได้เข้าไปซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ร่วมกับบริษัท แอสเพน โฮลดิ้ง จำกัด

ผลสอบฯ ยังพบว่า เส้นทางเงินของผู้ถือหุ้นในบริษัท กุหลาบแก้ว อาจจะเป็นเงินของบริษัทต่างด้าว และผู้ถือหุ้นบางคนน่าเชื่อว่าจะเป็นนอมินีของต่างด้าว โดยเฉพาะกองทุนเทมาเส็ก จากสิงคโปร์ อีกทั้งยังพบว่า 4 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการซื้อหุ้นชินคอร์ป คือ บริษัท กุหลาบแก้ว บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ มีสำนักงานตั้งอยู่ในที่เดียวกันคือเลขที่ 21/125-128 อาคารไทยวาทาวเวอร์ 2 ชั้น 17 ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ   

หุ้นกลุ่ม SHIN ร่วงต่อ ถูกกดดันจากศาลรับฟ้องถอนสัมปทาน หุ้นกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น(SHIN)ปรับลงต่อจากวานนี้ มองราคาถูกดดดันจากกรณีศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้องกรณีหน่วยงานรัฐละเลยหน้าที่ไม่ยกเลิกสัมปทานบริษัทในเครือ SHIN หลังเทมาเส็กเข้ามาซื้อหุ้น SHIN

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 11.09 น.

หุ้น ADVANC อยู่ที่ 85.00 บาท ลดลง 2.50 บาท (-2.86%)

หุ้น SHIN อยู่ที่ 28.75 บาท ลดลง 0.50 บาท (-1.71%)

หุ้น SATTEL อยู่ที่ 7.05 บาท ลดลง 0.15 บาท (-2.08%)

หุ้น ITV อยู่ที่ 2.78 บาท ลดลง 0.06 บาท (-2.11%)

บทวิเคราะห์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะ"หลีกเลี่ยง"หุ้น SHIN ศาลปกครองสูงสุด สั่งกลับคำวินิจฉัยศาลชั้นต้น รับฟ้องคดีนักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต ฟ้อง 3 หน่วยงานรัฐ (กระทรวงไอซีที บริษัททีโอที และสำนักงานปลัดสำนักนายก) กรณีไม่ยกเลิกสัมปทาน 3 บริษัทเครือ SHIN

เชื่อว่าราคาหุ้นกลุ่ม SHIN จะถูกกดดันในระยะนี้ นอกจากจากข่าวนี้แล้วราคาหุ้น ADVANC ยังอาจถูกกดดันด้วยแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/49 ที่อาจไม่ฟื้นตัวมากนัก ส่วน SATTEL ก็จะมีการบันทึกค่าตัดจำหน่ายดาวเทียมไทยคม 3

ด้วย อย่างไรก็ดี หลังจากราคาหุ้นอ่อนตัว มองว่าจะเป็นโอกาสให้เข้าสะสมหุ้น ADVANC และ SATTEL บทวิเคราะห์ระบุ

ตามความเห็นของฝ่ายวิจัยแล้ว เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายให้นับสัญชาติผู้ถือหุ้นโดยพิจารณาเฉพาะสัญชาติของผู้ถือหุ้นทางตรง (ดูแค่ระดับเดียว) ทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติในบริษัทในเครือ SHIN ยังไม่เกินเกณฑ์จนกว่าจะมี

ข้อสรุปว่าบริษัทกุหลาบแก้ว มีความผิดกรณีถือหุ้นแทนต่างชาติ (นอมีนี) ทั้งนี้ หากกุหลาบแก้วเป็นต่างชาติ จะมีเฉพาะ ADVANC และ ITV ที่จะกลายเป็นบริษัทต่างชาติ

หากกรณีนอมีนีผิดจริง ยังคงเชื่อว่าจะมีการให้ระยะเวลา ADVANC และITV ในการปรับปรุงให้ถูกต้อง รวมถึงการที่กลุ่มเทมาเส็กขายหุ้น SHIN ออกมาซึ่งจะต้องทำเพื่อเพิ่มสัดส่วน free float อยู่แล้ว ซึ่งก็จะและยังคงสัมปทานไว้ในที่สุด

แต่กรณี ITV เชื่อว่าความเสี่ยงจากกรณีผิดสัญญาสัมปทานกับ สปน.กรณีที่บริษัทมีการลดค่าสัมปทานและปรับผังรายการ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดนั้นเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากกว่า เนื่องจากบริษัท

อาจถูกยกเลิกสัมปทานหรืออาจไม่สามารถดำเนินการต่อได้หากต้องเสียค่าปรับจำนวนมากยังคงหลีกเลี่ยง


6 ตุลาคม 2549 เวลา 11:18:30
http://www.komchadluek.net/scripts/hotnewskcl.php?newsid=217687

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท