ธนาคารหลักสูตร


ทางลัดช่วยครูจัดสอน

ดร.อำรุง จันทวานิช เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สกศ.ได้ทำโครงการวิจัยนำร่องพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษมาตั้งแต่ปี 2543 เพื่อค้นหารูปแบบและพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษในสาขาวิชาต่าง ๆ ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษานั้น ขณะนี้มีโรงเรียนเครือข่ายที่สามารถจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 34 แห่ง ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศ มีนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯกว่า 5,000 คน

การวิจัยดังกล่าวจะจัดในลักษณะเรียนร่วมในโรงเรียนปกติ เริ่มตั้งแต่การเสาะหาและคัดเลือก มีการพัฒนาหลักสูตรที่ใช้วิธีการลดระยะเวลาเรียน ซึ่งเป็นการย่นระยะเวลาเรียนให้น้อยลง แต่ยังคงเนื้อหาเดิมครบถ้วนตามหลักสูตรแกน และมีการจัดทำหลักสูตรเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่เด็กกลุ่มนี้ เป็นการขยายกิจกรรมในหลักสูตรให้กว้างและลึกซึ้งกว่าที่มีในหลักสูตรปกติ เพื่อช่วยกระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา หรือการใช้สติปัญญาในการให้เหตุผล และผู้เรียนสามารถจบหลักสูตรในแต่ละช่วงชั้นก่อนกำหนดเช่น ด้านภาษา ใช้เวลา 3 ภาคเรียน จาก 6 ภาคเรียน หรือด้านคณิตศาสตร์ ใช้เวลา 5 ภาคเรียน จาก 6 ภาคเรียน เป็นต้น

“จากการทำวิจัยดังกล่าวก็ทำให้ได้หลักสูตรและแผนการสอน รวมทั้งการสืบค้นข้อมูลแผนการสอนและบทเรียนจากต่างประเทศมากกว่า 600 บทเรียน ทาง สกศ.จึงนำมารวบรวมจัดทำเป็นธนาคารหลักสูตร เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.onec.go.th หรือ www.thaigifted.org ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถเข้าไปเลือกบทเรียนได้ตรงกับความต้องการและเหมาะกับศักยภาพของนักเรียน อีกทั้งเมื่อครูนำไปใช้และสามารถสร้างแผนการสอนหรือบทเรียนดี ๆ ที่มีความท้าทายและทดลองใช้ได้คุณภาพดีแล้วก็สามารถส่งมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ได้เช่นกัน” ดร.อำรุง กล่าว.

ที่มา www.eduzones.com

คำสำคัญ (Tags): #ธนาคารหลักสูตร
หมายเลขบันทึก: 51368เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2006 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท