Curiosita' : หัวใจใฝ่รู้


ช่วงนี้ทีมงาน สคส. ได้แบ่งสรรหนังสือที่เราจะต้องช่วยกันอ่านและเอามาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเวทีประจำสัปดาห์ของเรา    ครั้งนี้เราอ่านหนังสือที่ชื่อว่า "How to think like Leonardo Davinci"   และผมก็ได้รับมาบทหนึ่ง  เป็นบทเริ่มต้น  ของหลักปฏิบัติ 7 อย่างของ Leonardo Davinci 

หลักปฏิบัติแรกที่ผมได้รับชื่อว่า  Curiosita'  ซึ่งเป็นภาษาอิตาลี  เพราะ Davinci เป็นคนอิตาลีนั่นเอง    ตรงกับภาษาอังกฤษที่ว่า Curiosity     หลังจากที่อ่านจบผมเลยแปลและให้ชื่อว่า  "หัวใจใฝ่รู้"

ความอยากรู้ อยากเห็น ถือว่าเป็นทุนเดิมที่ทุกคนมีติดตัวมาแต่เกิด  ไม่เฉพาะแต่ Davinci     แต่ว่า Davinci  รู้วิธีที่จะรักษามันเอาไว้กับตัวตลอดชั่วอายุของเขา   ด้วยวิธีที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง  นั่นก็คือ "การตั้งคำถาม"

Davinci  จะมีสมุดบันทึกติดตัวตลอดเวลา   เขาจะบันทึกสิ่งที่เขาพบเห็น  เหตุการณ์ประจำวัน  รวมไปถึงวาดภาพสิ่งที่เขาสนใจ  เช่น  ท่าเดิน  หลายๆอริยบทของคน  ท่าทางต่างๆของสัตว์  เช่น นกบิน   ปลาในน้ำ  เป็นต้น      และที่สำคัญ  เขาจะเขียน  "คำถาม"  จำนวนมากลงในบันทึก   เป็นคำถามง่ายๆ   ซื่อๆ   โดยที่ยังไม่สนใจว่าคำตอบในตอนนั้น     และคำถามจำนวนมากเหล่านี้นี่เองที่ทำให้  Davinci   มองเห็นและเลือกพุ่งความสนใจของเขาไปในเรื่องนั้น  ซึ่งมีจำนวนมาก ตั้งแต่บนท้องฟ้า (คิดเรื่องเครื่องร่อน  เครื่องบิน  ใบพัดเฮลิคอป์เตอร์)  ในน้ำ (คิดอุปกรณ์ดำน้ำ)  เหล่านี้เป็นต้น

มีคำแนะนำในหนังสือบทนี้ให้ผู้อ่านเพื่อฝึกปฏิบัติ  คือ  การสร้างนิสัยการบันทึก  โดยมีสมุดบันทึกประจำตัว   บันทึกสิ่งรอบตัวที่เราสนใจ  และที่สำคัญฝึก  "ตั้งคำถาม"   โดยไม่ต้องมัวกังวลกับคำตอบ   หรือต้องห่วงเรื่องทีจะหาคำตอบให้มัน      เพียงเขียนคำถามลงไปให้ได้มากที่สุด     ฝึกทักษะการตั้งคำถาม  ที่ทำให้มีมิติการมองภาพที่ต่างออกไป      ทำอย่างนี้ให้เป็นนิสัย   และนำคำถามเหล่านั้นมาดูอย่างพินิจ พิเคราะห์ 

ทักษะการตั้งคำถาม ถือว่า  เป็นทักษะทีสำคัญที่จะทำให้คนเราค้นพบ "ความรู้" ใหม่

แต่น่าเสียดายที่วิธีการเรียน-การสอนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น  เน้นไปที่  "คำตอบที่ถูก"   อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ   ครูจะยกเอา "คำตอบที่ถูก" ในแต่ละวิชามาสอน   แล้วให้นักเรียนท่องจำคำตอบเหล่านั้นไว้    ใครจำได้ก็จะสอบผ่านในวิชานั้น   

แต่ Leonardo จะเน้นที่ทักษะการตั้งคำถาม   โดยใช้ "การสังเกต"  เป็นเครื่องมือที่ทำให้การตั้งคำถามของเขาดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้  การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  เช่น ภาษาใหม่  วัฒนธรรมใหม่  กีฬาหรืองานอดิเรกที่เรายังไม่เคยทำ  ไม่เคยเล่น   สิ่งเหล่านี้  ช่วยเติมเต็มความมีสีสันของชีวิตการเรียนรู้ให้แก่ Leonardo ได้มากทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 51356เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2006 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ประทับใจมากเลยค่ะ ทั้งชื่อเรื่องและเนื้อหา อีก6หลักปฏิบัติที่เหลือขอรบกวนช่วยแนะนำต่อด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

บทต่อไป  มีแน่นอนครับ  แต่จะเป็นท่านอื่นที่ไปอ่านมา  หลักข้อที่ 2 Dimostrazione  คุณหญิง (นภินทร)  เป็นคน review

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท